ในวันเดียวกันกับที่นายกฯโรดโชว์ การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งปกติแล้ว หากนายกฯไม่อยู่ก็มักจะไม่มีเรื่องอะไรที่สำคัญนักในการพิจารณา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป แต่ในวันนั้น กระทรวงคมนาคมได้รายงาน “เพื่อทราบ” ศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ภายใต้การศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.)
นับจากวันที่เปิดตัวโครงการในจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้โรดโชว์หลายครั้งในการเดินทางไปประชุมต่างประเทศหลายเวลา รวมทั้งการสัมภาษณ์กับบรรดาสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน เพราะเป็นเป้าหมายสำคัญในการใช้แลนด์บริดจ์ แต่ปัญหาของการขายโครงการในซีกฝั่งรัฐบาล คือ พยายามจะขายตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
หากพิจารณาดูข้อเสนอของสนข.ในครั้งที่รายงานเพื่อทราบต่อครม.เมื่อวันที่ 13 ต.ค. และเป็นข้อมูลที่มีการนำมาใช้ในรายงานผลการศึกษาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผลสรุปแทบไม่ต่างกัน
ข้อมูลของสนข.เน้นไปที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเทียบเรือ ถนน ทางรถไฟและโครงสร้างพื้นฐานอื่น โดยมีงบลงทุนสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งสนข.มีการประเมินอย่างละเอียดว่าจะใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน และจะช่วยให้เศรษฐกิจไทย คาดว่าจีดีพีจะโตขึ้นจาก 4.0% เป็น 5.5% นั่นหมายความว่าโครงการนี้จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% รวมถึงการจ้างงานเกือบ 3 แสนตำแหน่ง
จากรายงานของสนข.ล้วนแต่เต็มไปด้วยตัวเลขการประเมินเม็ดเงินลงทุน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประเมินได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนั้นก็เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เป็นเพียงตัวเลขที่ประกอบการเสนอโครงการเท่านั้น แต่สิ่งที่ขาด “อย่างสำคัญ”ในการประเมินของหน่วยงานของสนข. คือ ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ
หากเปรียบเทียบกับการศึกษาของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ว่าจ้าให้ศึกษา ปรากฏว่ามีการนำเอารายงานศึกษาของสนข.มาเปรียบเทียบด้วย และได้ข้อสรุปมีความคุ้มค่าเป็นอันดับ 3 เมื่อเทียบกับแนวทางอื่นคือการพัฒนาจากโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว และแนวทางการพัฒนาเส้นทางทวายเชื่อมกาญจนบุรี
แต่ผลกระทบที่สำคัญคือผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบกทางทะเล ซึ่งผลการศึกษาของสศช.ระบุว่า “ไม่อาจประเมินค่าได้” เพราะโครงการแลนด์บริดจ์ มีพื้นที่ครอบคลุมแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันที่เป็นรอยต่อทางชีวภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งของโลก และเตรียมเสนอเป็นมรดกโลก 6 แห่งโดยการบริหารจัดการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คือ
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ
- อุทยานแห่งชาติแหลมสน เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
- อุทยานแห่งชาติเขาล าปี – หาดท้ายเหมือง
- อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (บางส่วน)
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการพื้นที่ชุ่มน้ำอีก 15 แห่ง
ขณะนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้นของกระบวนเดินหน้าโครงการนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องสนใจและเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงแค่คนในพื้นที่ เพราะทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งหมดที่ไม่อาจประเมินค่าได้นั้น เป็นคนคนทั้งประเทศและชาวโลกด้วย รัฐบาลจะต้องมีการประเมินอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจจากการค้าการลงทุนเท่านั้น แต่ต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกมาด้วย
หากจำกันได้เมื่อราวปี 2552 เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกหรืออิสเทิร์นซีบอร์ด จนศาลปกครองต้องมีคำสั่งให้หยุดโครงการเกือบ 100 แห่งในมาบตาพุต แต่รัฐบาลก็พยายามหาทางแก้ไขเพื่อเดินหน้าอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงนั้นมีความพยายามจะห้ามการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม เพราะเห็นว่าพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้อีกแล้ว และรัฐบาลก็ยอมรับว่าไม่เหมาะสำหรับการดำรงชีวิต
อย่างไรก็ตามด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม ผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งสภาพแวดล้อมในพื้นที่ภาคตะวันออกขณะนี้ไม่อาจประเมินได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ความหนาแน่นของเขตอุตสาหกรรมได้ขยายตัวออกไปกว่าเดิมหลายเท่าตัว
ดังนั้น หากต้องการจะพัฒนาโครงการแบนด์บริดจ์ ก็อาจต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบอย่างมาก เพราะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเราไม่อาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และหากโครงการขนาดใหญ่ที่โถมลงไปก็จะส่งผลกระทบทั้งทางบกทางทะเลไปพร้อมกัน หากเราเดินหน้าต่อต่อ ทั้งๆที่ยังำม่มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง “เป็นกลางจริง ๆ” เรากำลังจะสูญเสียมรดกทางธรรมชาติไปตลอดกาล