ผลสำรวจสภาพอากาศกรุงเทพมหานครในปี 2566 ที่ผ่านมา ของ Rocket Media Lab พบว่า มีวันที่สภาพอากาศดีอยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วันเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วน 8.52% ของทั้งปี น้อยกว่าปี 2565 ที่มีอากาศดี 49 วัน และยังน้อยกว่าในปี 2564 ที่มีอากาศดีถึง 90 วัน โดยส่วนใหญ่เป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลางเกณฑ์สีเหลือง 241 วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 66.21% ของทั้งปี ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีอากาศในเกณฑ์สีเหลือง 261 วัน
ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่สัมผัสไวต่อมลพิษในเกณฑ์สีส้ม มี 78 วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.43% ของทั้งปี มากกว่าปีก่อนหน้าที่มี 52 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมี 14 วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.85% ของทั้งปี สูงกว่าปีก่อนหน้าที่มีเพียง 3 วัน
เดือน เม.ย.66 อากาศเลวร้ายสุดของ กทม.
โดยเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2566 ของกรุงเทพมหานคร คือ เดือน เม.ย. (เช่นเดียวกับปี 2565) มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ทั้งเดือนอยู่ที่ 115.47 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวอากาศดี โดยมีวันที่คุณภาพอากาศปานกลางในเกณฑ์สีเหลือง 12 วัน ส่วนวันที่คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษในเกณฑ์สีส้มมี 14 วัน และวันที่มีผลต่อสุขภาพในเกณฑ์สีแดงมี 4 วัน
รองลงมาคือเดือน มี.ค. ไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเช่นเดียวกัน โดยมีวันที่อากาศคุณภาพอากาศปานกลางอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง 13 วัน และคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษอยู่ในเกณฑ์สีส้ม 12 วัน และวันที่มีผลต่อสุขภาพในเกณฑ์สีแดง 6 วัน
ถัดมาเดือน ก.พ. ก็ไม่มีวันอากาศดีที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวเช่นเดียวกัน โดยมีวันที่อากาศคุณภาพอากาศปานกลางอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง 12 วัน และมีวันที่คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษในเกณฑ์สีส้ม 13 วัน ส่วนวันที่มีผลต่อสุขภาพในเกณฑ์สีแดง 3 วัน
สำหรับวันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี คือ วันที่ 8 มี.ค. มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 179 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นมา 6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากวันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปีก่อนหน้า คือ วันที่ 9 เม.ย. 2565 ที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
หน้าแล้งมีฝุ่นละอองลอยในอากาศนาน
จากข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า 3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2566 เป็นเดือนที่อยู่ในช่วงต้นปี และเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดมักเกิดซ้ำในช่วงเวลาเดียวกันทุกปี ซึ่งจะเป็นช่วงหน้าแล้ง โดยตั้งแต่เดือน ธ.ค.-เม.ย. เป็นช่วงที่มีสภาวะอากาศแห้งทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้น เช่นเดียวกับในปี 2565 ที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในเดือน ธ.ค.-เม.ย. ส่วนปี 2564 และ 2563 พบว่ามีอากาศเลวร้ายที่สุดในเดือนธ.ค.-ก.พ. แต่ข้อสังเกตที่พบเพิ่มเติมคือในปี 2566 เดือนที่อากาศเลวร้ายเพิ่มจำนวนเดือนมากขึ้น และมีระยะเวลาติดต่อกันนานขึ้น
ก.ย.ครองแชมป์อากาศดีสุดปี 66
สำหรับเดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2566 คือเดือน ก.ย. เป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ซึ่งทั้งเดือนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่น โดยมีวันที่อากาศดีอยู่ในเกณฑ์สีเขียว 13 วัน (สูงกว่าปี 65) มีวันที่อากาศคุณภาพอากาศปานกลางอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง 27 วัน รองลงมาคือ ก.ค. มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียว 6 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง 25 วัน ตามมาด้วย มิ.ย. มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียว 7 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง 23 วัน ทั้งนี้เดือนก.ย. ก.ค. และมิ.ย. เป็น 3 เดือนที่ไม่พบวันที่มีอากาศในเกณฑ์สีส้มและแดง
วันที่อากาศดีสุดในปี 2566 คือ วันที่ 16 ก.ย. มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สูงกว่าปี 2565 คือวันที่ 30 ก.ย. ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ข้อสังเกตที่พบในปี 2566 คือ เดือนมีอากาศดีที่สุดเปลี่ยนมาเป็นเดือน ก.ย. ตามมาด้วย ก.ค. และมิ.ย. ขณะที่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2565 คือ ก.ค. ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในปี 2566 พบวันที่มีอากาศในเกณฑ์สีเขียว มีจำนวนวันเพิ่มขึ้น 2 วันจากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อาจเป็นไปได้ว่าในหนึ่งวันอาจมีบางเขตของกรุงเทพมหานคร มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต
คนกรุงฯสูดดม PM2.5 เทียบเท่าสูบบุหรี่ 1,370 มวน/วัน
เมื่อคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่น PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ (จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์) พบว่า ฝุ่น PM2.5 ที่ค่าเฉลี่ย 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน
ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2566 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ดังกล่าว จะพบว่า คนกรุงเทพมหานคร สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,370.09 มวน เพิ่มมากขึ้นถึง 154.32 มวน หรือเฉลี่ยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 7.7 ซองจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1,224.77 มวน และปี 2564 ที่มีจำนวน 1,261.05 มวน อาจถือว่าอากาศในปี 2566 มีสภาพที่เลวร้ายมากกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนผ่านเดือนที่มีอากาศในเกณฑ์สีส้มและสีแดงที่เพิ่มจำนวนเดือนขึ้น
สำหรับเดือน เม.ย. ที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2566 คนกรุงเทพมหานคร สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 157.45 มวน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 5.24 มวน ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2565 ที่มีจำนวน 127.77 มวน หรือเฉลี่ยวันละ 4.26 มวน
สุดท้ายเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2566 คือ ก.ย. คนกรุงเทพมหานคร ยังคงสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 70.14 มวน เฉลี่ยวันละ 2.33 มวน ถือว่าสูบบุหรี่น้อยลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2565 ที่มีจำนวน 74.36 มวน เฉลี่ยวันละ 2.4 มวน