การอยู่ลำพังในช่วงบั้นปลายชีวิต และการตายอย่างโดดเดียวเพิ่มสูงขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ขณะที่ประเทศไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์และคาดว่าในปี 2578 จะมีผู้สูงอายุสูงถึง 28 % ในจำนวนผู้สูงอายุดังกล่าว มีของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในพื้นที่ภาคเหนือพบว่าในปี 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 393,733 คน เป็นมีผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง 43,550 คน
คนไทยให้ความหมายการอยู่ลำพังในช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด
“สุนทรีย์ สิริอินต๊ะวงศ์” อาจารย์ประจําภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา,คณะสังคมศาสตร์,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัย “การอยู่ลำพังในช่วงบั้นปลายของชีวิต การสร้างความหมายในช่วงบั้นปลายของชีวิตและวิธีคิดที่ว่าด้วยความตาย ( Living Alone in Later Life: Meanings of Life and Death)” โดยใช้แนวคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามาเป็นกรอบวิเคราะห์ ผ่านการวิจัยเชิงชาติพันธ์วรรณา ซึ่ง Policy Watch เห็นว่ามีประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจในสังคม และ งานวิจัยอาจช่วยเสนอแนวทางเพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
การวิจัยดังกล่าวเก็บข้อมูลเชิงลึก และการสังเกตการณ์ ในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังจำนวน 15 คน ทั้งในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่รอบนอกตัวเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ อ.แม่ริม อ.ดอยสเก็ด โดยผู้ให้ข้อมูลวิจัยมีความแตกต่างหลากหลาย เรื่อง เพศภาวะ ชนชั้น (ชนขั้นกลาง ข้าราชการเกษียณ และคนจนเมือง ) ความพิการพื้นที่ที่อยู่อาศัย (เมือง ชุมชนคนจนเมืองและชนบท ) และสถานภาพทางสังคม (โสด หย่าร้าง หรือ คูาชีวิตหรือ สมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตไปแล้วทั้งหมด)
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชีวิตของผู้สูงอายุที่อยู่พัง ทั้งในฐานะ ของการเลือกของปัจเจก การเผชิญกับการสูญเสียคู่ชีวิตและสมาชิกในครอบครัวในช่วงบั้นนปลายของชีวิต หรือ จากการหย่าร้าง โดยเน้นการทำความเข้าใจความหมายที่ผู้สูงอายุที่สร้างขึ้นเกี่ยวกับบั้นปลายชีวิต หรือ จากการหย่าร้าง โดยเน้นการทำความเข้าใจความหมายที่ผู้สูงอายุสร้างขึ้นเกี่ยวกับการอยู่ลำพังในบั้นปลายชีวิต การวางแผน จัดการและดูแลชีวิตของตัวเอง ตลอดจนมุมมองต่อความตาย
แนวคิดการอยู่ลำพังและความตาย
ผู้วิจัยได้สำรวจแนวคิดเรื่อง การอยู่ลำพัง การอยู่ลำพังและการเชื่อมต่อในทางสังคม และการอยู่ลำพัง และความตาย ซึ่งพบว่า
แนวคิดการอยู่ลำพัง (Living alone) ถูกมองว่าเป็นปรากฎการณ์ของสังคมสมัยใหม่ที่มีมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งปรากฎการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือเกิดขึ้นน้อยในช่วงสังคมก่อนอุตสาหกรรม เช่น ศตวรรษที่ 19 การอยู่ลำพังจะเกิดขึ้นกับคนที่เป็นหม้าย และอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 60-80 ปี หรือ การอยู่ลำพัง จากการถูกแปลกแยกออกจากสังคมซึ่งจะใช้กับการลงโทษนักโทษเท่านั้น
นอกจากนี้จากการสำรวจคนอเมริกันในปี 1957 พบว่าเกินกครึ่งของคนตอบแบบสอบถาม มองว่า การอยู่ลำพัง หรือการอยู่เป็นโสด การไม่แต่งงาน ถูกมองว่า เป็น คนเจ็บป่วย ” (“sick” “immoral” “neurotic”) แต่ในช่วงหลังทัศนคติเชิงลบน้อยลง เพราะผู้คนให้ความสำคัญกับอิสระเสรีภาพ freedom) ความยืดหยุ่น น (flexibility) และทางเลือกของปัจเจก (personal choice)มากขึ้น
เช่น การให้ความสำคัญ กับการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตัวเองมากกว่าการสร้างครอบครัว หรือ การคำนึงถึงความต้องการของปัจเจกเป็นหลักมากขึ้น
“อยู่ลำพัง” กับการแสวงหาคุณค่า – เสรีภาพ
อย่างไรก็ตามแนวคิดปัจเจกนิยมเติบโตมากขึ้นในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงยุคหลังศตวรรษที่ 20 เพราะมีการส่งเสริมสถานะของผู้หญิง การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักสตรีนิยม การเติบโตของเมือง (Urbanization) ที่ทำให้ปัจเจกนิยมสามารถทำงานได้มากขึ้น และทำให้เกิดวัฒนธรรมย่อย ที่ตอบโจทย์รสนิยมการใช้ชีวิตของคนแต่ละกลุ่มมากขึ้น
การปฏิวัติด้านการติดต่อสื่อสารทำให้คนสามารถสื่อสารกันได้ข้ามข้อจำกัดของพื้นที่และระยะทางมากขึ้น ขณะที่การปฏิวัติด้านการแพทย์ที่ส่งผลทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้นกว่าศตวรรษที่ผ่าน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้แนวคิดปัจเจกนิยมสามารถเติบโตมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน และทำให้การอยู่ลำพังเป็นปรากฎการณ์ของคนในหลายช่วงอายุตั้งแต่ 20-60 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงเป็นกลุ่มทีอยู่ลำพังมากที่สุด
ด้วยเหตุนี้ การอยู่ลำพัง (living alone) ของผู้คนในสังคมปัจจุบันถูกนำไปเชื่อมโยงกับการแสวงหาคุณค่าที่ว่าด้วยอิสระเสรีภาพของปัจเจก (individual Freedom) การมีอำนาจควบคุมและตัดสินใจด้วยตัวเอง (Personal Control) และ การตระหนักรู้ในตนเอง (self-realization) ซึ่งกลายเป็นคุณค่าสำคัญในโลกสมัยใหม่มากขึ้น เพราะมีการมองว่าปัจเจกต้องการค้นหาตัวตนในโลกสมัยใหม่ที่ปราศจากข้อจำกัดและการถูกควบคุมและให้ความสำคัญกับความต้องการของตนเองมากขึ้นการให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวจึงมีความสำคัญน้อยลงตามไปด้วย
การอยู่ลำพังจึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดมากขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก และกลายเป็นรูปแบบของการดำรงชีวิตที่มนุษย์ปัจจุบันจะต้องเรียนรู้และปรับตัวที่จะอยู่ลำพังให้ได้ด้วยตัวเอง (“We are adapting. We are learning to go solo, and crafting new ways of living in the process” : Klinenberg 2012)
“เลือกอยู่ลำพัง”ในบั้นปลายมากขึ้น
ขณะที่ข้อมูลงานวิจัยของ David Reher และ Miguel Requena (2018 ) พบว่าการครองตัวเป็นโสดมากขึ้นหรือการเลือกที่จะอยู่ลำพังในช่วงบั้นปลายของชีวิตนั้นมีความเชื่อมโยงอยู่กับปัจจัยทางสังคมและปัจจัยส่วนบุคคลในหลายด้านด้วยเช่นกัน
- การศึกษาที่สูงมากขึ้น
- การมีทรัพย์สินที่เพียงพอในการดูแลตัวเองในช่วงบั้นปลายของชีวิต
- การมีระบบสวัสดิการการสังคม (social welfare institutions)
- การหย่าร้างหรือการปรับเปลี่ยนรู้แบบครอบครัวในช่วงบั้นปลายของชีวิต เช่นการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว
- ความต้องการที่จะรักษาอำนาจในการตัดสินใจที่จะกำหนดชีวิตได้ด้วยตัวเองแลัการคงไว้ซึ่งความเป็นปัจเจกของตนเอง (individual choice/ individual autonomy and privacy ) และมองว่าการอยู่ลำพังในช่วงบั้นปลายของชีวิตนั้น เป็นน ทางเลือกของปัจเจกในรูปแบบหนึ่ง (individual choice and preference – the choices people make for themselves) โดยเฉพาะหากโครงสร้างครอบครัวไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในสังคมนั้นด้วยแล้ว
ขณะที่วิธีคิดที่ว่าด้วย ความเป็นปัจเจกนิยม (individualis )จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างรูปแบบและกลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อที่จะดำรงชีวิตลำพังตามช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น ในบางสังคมและบางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาหรือในประเทศตะวันตกแล้ว การอยู่ลำพังและการพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุจึงได้รับการยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม (cultural norms)
และถูกมองว่าเป็นทางเลือกของปัจเจกที่ต้องการกำหนดการดำรงบั้นปลายชีวิตตามแบบที่ตนเองต้องการ individual choice and preference) โดยรัฐยังคงมีหน้าทีกำหนดนโยบายหรือการสร้างทางเลือกให้กับกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของปัจเจก
การอยู่ลำพังในปัจจุบันจึงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุและอาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการใช้ชีวิตคู่ การแต่งงานและการหย่าร้าง และการกลับมาอยู่ลำพังอีกครั้งด้วยเช่นกัน ดังนั้นการอยู่ลำพัง จึงเป็นสถานะที่เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา แต่หากพิจารณาในช่วงอายุของผู้สูงอายุ สถานะของการอยู่ลำพังอาจจะดำรงอยู่จนถึงบั้นปลายของชีวิต แต่กลุ่มคนเหล่านี้จะสร้างความสัมพันธ์หรือมิตรภาพรูปแบบใหม่ขึ้นมา สร้างกลุ่มทางสังคมรูปแบบใหม่และกิจกรรมทางสังคมใหม่ๆขึ้นมาให้กับตัวเอง และสร้างคุณค่าในการอยู่ลำพังของตนเองที่มีลักษณะเฉพาะด้วยเช่นกัน
แม้การอยู่ลำพังจะเชื่อมโยงอยู่กับการให้คุณค่ากับการพึ่งพาตนเอง และความเป็นอิสระมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลทำให้ผู้คนหวาดกลัวที่จะสูญเสียอำนาจในการควบคุมตัวเองและการต้องการพึ่งพิงคนอื่น เพราะการสูญเสียอำนาจในตนเองจะทำให้คนรู้สึกไม่มั่นคงและรู้สึกขายหน้า เมื่อต้องการเผชิญหน้ากับการรับรู้ว่าตนเองไม่สามารถรับผิดชอบการดำรงอยู่ของตนเองได้อีกต่อไป หรือต้องกลายเป็น “ภาระ” หรือ อยู่ในสภาวะพึ่งพิงคนอื่น ส่งผลทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ปฏิเสธการร้องขอความช่วยเหลือ หรือ พึ่งพากลุ่มคนที่แวดล้อมไปในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความน่าสนใจว่าการอยู่ลำพังที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุในสังคมสัมพันธ์กับเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจในสังคมไทยอย่างไร และการสร้างความหมายของการดำรงชีวิตบั้นปลายอย่างลำพังอย่างไรด้วยเช่นกัน
วิจัยชี้ผู้สูงอายุ ปรับตัวใช้ชีวิตในบั้นปลาย
สำหรับผลการศึกษา ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังจำนวน 15 คน พบว่า การอยู่ลำพังของผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจในสังคมไทย
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลทำให้โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไป สมาชิกในครอบครัวต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อทำงานหรืออยู่อาศัยในพื้นที่อื่น ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องเรียนรู้ทีจะปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตตามลำพังและมีแนวคิดเรื่องการพี่งตนเอง การไม่เป็นภาระของครอบครัว การมีอิสระ เสรีภาพในการเลือกที่จะมีชีวิตตามที่ตนเองต้องการ การเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะดูแลตัวเองจนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย ซึ่งเกี่ยวพันกับการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความตาย และการจัดการความตายของตัวเอง
ดังนั้น การอยู่ลำพัง การเตรียมตัวตาย และการจัดการความตายจึงกลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ปัจเจกพยายามแสดงให้เห็น “ความรับผิดชอบต่อตนเอง” (self-responsibility) ที่เชื่อมโยงกับวิธีคิดทางสังคม และเศรษฐกิจที่เข้ามากำหนดจริยธรรม ของการดำรงชีวิตในสังคมไทยปัจจุบัน
ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังหลายชิ้น มีกลุ่มที่น่าเป็นห่วง และมีความเปราะบางที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า สิ้นหวัง หรือ อาศัยอยู่กับบุตรหลาน
บริบท”ครอบครัว”เปลี่ยนรัฐตามไม่ทัน
ส่วนข้อสมมติฐานที่ว่า การอยู่ร่วมกันในครอบครัวจะนำมาซึ่งความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย และความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจของผู้สูงอายุมากกว่าจะดำรงชีวิตตามลำพัง และการยึดโยงความชราไว้กับการได้รับการดูแลในครอบครัว เครือญาติ (Familialism) ซึ่งแนวคิดนี้ได้ละเลยบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ว่าส่งผลต่อการดูแลในแต่ละครอบครัว อย่างไร และส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผุ้สูงอายุในปัจจุบันอย่างไร
ผู้วิจัยมองว่าแนวคิดนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในเชิงนโยบายรัฐไทย เพราะนโยบายของรัฐบาลไทยปัจจุบันยังคงเน้นให้ครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าจะทำความเข้าใจว่าผู้สูงอายุจะปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่มองผู้สูงอายุในฐานะ ผู้พึ่งพิง (dependents) และเป็นภาระทางสังคม ทั้งในเชงเศรษฐกิจ อารมณ์ และร่างกาย ที่ถูกนำมาใช้ทำความเข้าใจผู้สูงอายุมาเป็นเวลานาน อีกทั้งแนวคิดนี้ ยังมองว่าผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังมีภาวะเสี่ยงหรีอ เป็นกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องได้รับการดูแล
งานวิจัยชิ้นนี้พยายามแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง มีสถานทางสังคมที่แตกต่างกันใน เพศสภาวะ ชนชั้น สถานภาพทางสังคม และบริบทพื้นที่ที่อยู่อาศัย เงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญ คือกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นการเป็นผู้กระทำการทางสังคม (agency) และแสดงให้เห็นความต้องการพึ่งพาตนเอง การไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน การต้องการมีอำนาจในการดูแลตัวเอง การจัดการชีวิตและความตายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถือได้ว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ได้พยายามสร้างรูปแบบชีวิตทีตอบสนองต่อบริบทสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
ผู้สูงอายุ ปรับตัวอยู่ลำพังในบั้นปลาย
กล่าวโดยสรุป ผู้วิจัยพบว่า การดำรงชีวิตลำพัง (living alone) ของผู้ให้ข้อมูลแต่ละคนเป็นผลมาจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ในสังคมไทย ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในครอบครัวและส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตลำพัง และปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ภายในครอบครัวตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ แม้ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังในงานวิจัยชิ้นนี้ แม้จะมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันทั้ง เรื่องเพศภาวะ ชนชั้น ความพิการ พื้นที่ที่อยู่อาศัย แต่กลุ่มคนเหล่านี้ยึดวิธีคิดแบบเดียวกันและต้องการที่จะดูแลตนเองไปจนกว่าจะทำไม่ได้ เพื่อที่จะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นภาระของคนอื่น และยังคงต้องการคงคุณค่าในตัวเองเอาไว้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
วิธีคิดนี้แม้จะสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง ปัจเจกนิยม (individualis ) ตามแนวคิดของสังคมตะวันตก และผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่ได้รับวิธีคิดเหล่านี้เข้ามาโดยตรงมาตั้งแต่แรก แต่เป็นผลมาจากการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
กลุ่มผู้สูงอายุต้องยอมรับมากขึ้นว่าการได้รับการดูแลจากสมาชิกภายในครอบครัว หรือ ความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบเดิมเปลี่ยนไปมากกว่าในช่วงบั้นปลายของชีวิตของตนเอง ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้จึงต้องปรับตัวกับการต้องใช้ชีวิตลำพัง หรือแม้กระทั่งการเตรียมตัวตายลำพังของตนเองตามไปด้วย
ที่มา: สุนทรีย์ สิริอินต๊ะวงศ์,การอยู่ลำพังในช่วงบั้นปลายของชีวิต การสร้างความหมายในช่วงบั้นปลายของชีวิตและวิธีคิดที่ว่าด้วยความตาย ( Living Alone in Later Life: Meanings of Life and Death),2525
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง