ธนาคารโลก ได้จัดทำรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) มาตั้งแต่ปี 2004 โดยล่าสุดมีการออกรายงานเมื่อปี 2019 ก่อนจะเปลี่ยนการรายงานใหม่ โดยในรายงาน Doing Business ประเทศไทยได้อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศ
การประเมิน B-READY ธนาคารโลกได้ประกาศกรอบการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลกทดแทนรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยมีการประเมิน 10 ด้านที่ครอบคลุมวงจรการประกอบธุรกิจ
ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อจากBusiness Enabling Environment: BEE เป็น Business Ready (B-READY)
ความแตกต่างระหว่างรายงาน B-READY และ Doing Business รายงาน B-READY มีด้านใหม่ในการประเมิน 2 ด้าน ได้แก่ด้านแรงงาน (Labor) และด้านการแข่งขันทางการตลาด (Market competition) และรายงาน B-READY จะเพิ่มประเด็นสำคัญ (Critical themes) 3 เรื่องที่เป็นทิศทางการประกอบธุรกิจในอนาคตได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digital adoption) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental sustainability) และความเสมอภาคทางเพศ (Gender equality)
ในรายงาน B-READY จะประเมินผ่านประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น
- การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digital adoption) ซึ่งจะครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการได้แก่ การมีระบบการให้บริการ Online การเข้าถึงเข้ามูล การเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล และการทำงานระหว่างหน่วยงาน เช่น ระบบ e-Service ภาครัฐ e-Payment
- ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental sustainability) ตามกรอบการประเมิน B-READY เรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจะครอบคลุม 9 ด้านในการประเมิน ยกเว้นด้านแรงงาน (Labor) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความสำคัญสูงมากในการทำธุรกิจ และการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เช่น Green license Green tax Green finance และ
- ความเสมอภาคทางเพศ (Gender equality) ที่จะประเมินบทบาทของเพศหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจ ลดข้อจำกัดทางเพศ (Gender gap) และคุ้มครองเพศหญิงจากความรุนแรงและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ดังนั้นควรศึกษาความเป็นไปได้ในการให้แต้มต่อกับเพศหญิง และการกำหนดอัตราส่วนของเพศหญิงเพื่อเพิ่มโอกาสและบทบาทของเพศหญิงในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้
ด้านการแข่งขันทางการตลาด (Market competition) รายละเอียดการประเมินด้านการแข่งขันทางการตลาดประกอบไปด้วย 3 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่
- กฎเกณฑ์ด้านคุณภาพของการแข่งขัน คุณภาพของกฎเกณฑ์ในการประมูลสำหรับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
- การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการ การบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีความโปร่งใส รวมถึงคุณสมบัติและการอำนวยความสะดวกในระบบ e-Procurement และ
- ประสิทธิภาพขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงประสิทธิภาพของการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการตลาด
ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนด้านการแข่งขันทางการตลาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น
- แผนการยกเลิกการจำหน่ายเอกสารประกวดราคา ผู้สนใจทั่วไปสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่หน้าเว็บไซต์ ww.gprocurement.go.th และไม่ต้องชำระเงินค่าเอกสาร ทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ดาวน์โหลด/ผู้ซื้อเอกสารได้ ลดความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลรายชื่อผู้รับ/ซื้อเอกสาร และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมแข่งขันการยื่นข้อเสนอมากรายขึ้น
- แผนการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการเสนอราคา e–bidding เพื่อป้องกันการรั่วไหลข้อมูล และการสมยอมราคา เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
- แผนการปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลการเสนอราคา เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอราคา กรมบัญชีกลางจะเปิดเผยข้อมูลการเสนอราคาของทุกโครงการผ่านเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ซึ่งประกอบด้วยรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอและราคาที่เสนอของทุกราย
แหล่งอ้างอิง