ThaiPBS Logo

ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

รัฐบาลมีความพยายามในการเปลี่ยนระบบการบังคับเกณฑ์ทหาร โดยการรณรงค์และกระตุ้นให้คนมาสมัครผ่าน "ระบบสมัครใจ" มากขึ้น แต่หากมีผู้สมัครใจไม่เพียงพอ ก็จะมีการเกณฑ์ทหารดังเดิม โดยคาดว่าจะไม่มีการเกณฑ์ทหารภายใน 2-3 ปี

อ่านเพิ่มเติม

  • เริ่มนโยบาย
  • วางแผน
  • ตัดสินใจ
  • ดำเนินงาน
  • ประเมินผล

เริ่มนโยบาย

ขั้นตอนเริ่มต้นนโยบาย ประกาศนโยบายต่อสาธารณะ

วางแผน

ขั้นตอนวางแผน เสนอแผนงานต่างๆ

ตัดสินใจ

ขั้นตอนดำเนินงานตามนโยบายที่ประกาศไว้

ดำเนินงาน

ขั้นตอนการตรวจสอบการทำงาน

ประเมินผล

ขั้นตอนการประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย

อ่านเพิ่มเติม

ความเคลื่อนไหวล่าสุด 21 ม.ค. 68

21 ม.ค. 68  คณะรัฐมนตรี (ครม.) มติเห็นร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ที่กระทรวงกลาโหมเสนอ มีสาระสําคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจําการเพื่อกําหนดเพิ่มลักษณะอาการของโรคจํานวน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ 1) กลุ่มโรคตุ่มน้ำพอง 2) โรคลําไส้โป่งพองแต่กําเนิด และ 3) โรคของเอนไซม์บนเม็ดเลือดแดง ผิดปกติชนิด G-6-PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) ที่ทําให้เกิดความไม่สมบูรณ์ในร่างกายของทหารกองเกินที่จะเข้ารับการตรวจเลือกทหารเข้ากองประจําการ โดยกําหนดให้เป็นคนจําพวกที่ 2 เพื่อให้คณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองเกินประจําสามารถตรวจวินิจฉัย และกําหนดคนเป็นจําพวกได้ถูกต้องตามที่หลักเกณฑ์กําหนด

ปัจจุบัน 3 กลุ่มโรคนี้ ยังไม่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 แต่พบว่าปรากฏตามร่างกายหรือภายในร่างกายของบุคคลที่เป็นโรค และยังคงแสดงอาการของโรคทางร่างกาย เห็นได้ชัดว่า ไม่สมบูรณ์ดีเหมือน คนจําพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ ซึ่งเป็นลักษณะอาการโรคของคนจําพวกที่ 2 แต่ปัจจุบันกำหนดให้เป็นคนจําพวกที่ 1 ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจําการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบหลักการของร่างกฎกระทรวงนี้แล้ว

เกณฑ์ทหาร

กฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการรับราชการทหาร คือ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2479 โดยกำหนดให้ชายสัญชาติไทยที่มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์และไม่ได้เข้ารับการศึกษาเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) จะต้องถูกเรียกไปเกณฑ์ทหาร และบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร… ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” หน้าที่การรับราชการทหารจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทย

อย่างไรก็ตาม การบังคับเกณฑ์ทหารในปัจจุบันถูกตั้งคำถามและเป็นที่ถกเถียงว่าสมควรที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือไม่ จากปัญหาต่าง ๆ เช่น ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม การรับใช้ทหารชั้นผู้ใหญ่แทนการรับใช้ชาติ โดนวัฒนธรรมอำนาจนิยมกดทับ ขาดสารอาหารจากอาหารการกินที่ไม่ได้มาตรฐาน หลายครอบครัวขาดเสาหลักในการหารายได้ สูญเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย จนไปถึงการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ในค่าย

นโยบายหาเสียงยกเลิกเกณฑ์ทหาร

ในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลายพรรคการเมืองชูนโยบายแก้ไข-ปรับปรุงการเกณฑ์ทหาร

  • • ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย
  • • ปรับปรุงการเกณฑ์ทหาร เช่น พรรคชาติพัฒนากล้า
  • • แบ่งสัดส่วนการเกณฑ์ทหาร แต่ยังคงระบบการเกณฑ์ทหารไว้ เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม มีหลายพรรคการเมืองที่ไม่มีการพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

 

8 พรรคลงนาม MOU ตั้งรัฐบาล

วันที่ 22 พ.ค. 2566 พรรคการเมืองรวม 8 พรรค ประกอบไปด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคสังคมใหม่ ลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ผลักดันเนื้อหา 23 ข้อและ 5 ประเด็นแนวทางบริหารประเทศที่ทุกพรรคเห็นพ้องร่วมกัน โดยมีการพูดถึงการเปลี่ยนการเกณฑ์ทหาร ในข้อที่ 4 ดังนี้

4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารในยามศึกสงคราม

แม้ในท้ายที่สุด พรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และพรรคเพื่อไทยแถลงขอถอนตัวออกจาก MOU ดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566 โดยพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่โดยไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ในการแถลงดังกล่าวมีการพูดถึงการสานต่อนโยบายการเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ ดังนี้

นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้นำเสนอต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน อาทิ … เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ … ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะผลักดันร่วมกับพรรคร่วมเพื่อให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ

 

แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 โดยระบุเรื่องการเกณฑ์ทหารและการเรียน รด. ว่า

รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน โดย

1. จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ

2. ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์

 

สถานการณ์ปัจจุบัน

สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ในรายการคุยนอกกรอบกับสุทธิชัยหยุ่น เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 ว่า ไม่สามารถออกกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารเลยได้ โดยมองว่าจะเป็นการปิดโอกาสในกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วนหรือสงคราม โดยรัฐบาลจะใช้วิธีการสมัครใจแทน เพื่อลดสัดส่วนจำนวนผู้ถูกบังคับเกณฑ์ทหาร และกระตุ้นให้คนมาสมัครผ่าน ระบบสมัครใจ มากขึ้น แต่หากมีผู้สมัครใจแล้วกำลังพลยังขาด ก็จะมีการเกณฑ์ทหารเพื่อให้ได้ถึงตามเป้าที่กำหนดไว้

รมว.กลาโหม กล่าวต่อว่า การรณรงค์ที่ผ่านมาได้รับความสนใจ โดยมีผู้เข้ามาสมัครจำนวนมากเมื่อเทียบกับช่วงปีที่แล้ว และคาดอีก 2-3 ปี จะไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่จะมาจากระบบสมัครใจเพียงอย่างเดียว ด้วยสวัสดิการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และเงินเดือนที่ได้เต็มไม่มีการหัก

อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ได้มีการผลักดันนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารอย่างจริงจังเท่าที่ควรตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ และทำให้ประชาชนต้องอยู่กับระบบการเกณฑ์ทหารเหมือนเดิม

 

อีกหนึ่งในความเคลื่อนไหวคือ โครงการพลทหารปลอดภัย จากคณะกรรมาธิการการทหาร (กมธ.การทหาร) โดยเกิดจากการที่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่สามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ จึงจำเป็นต้องมีการคุ้มครองสิทธิ ศักดิ์ศรี และความปลอดภัยของพลทหาร โดยธนเดช เพ็งสุข สส.พรรคก้าวไกล และในฐานะรองปธ.กมธ.การทหาร ได้แถลงความคืบหน้าโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567

ทาง กมธ.การทหารมีข้อมุ่งหวังต่อโครงการ ดังนี้

  • 1. รับข้อร้องเรียนผ่านช่องทาง Line OA ของกมธ.การทหาร โดยจะมีการเข้าช่วยเหลือแก้ไขวิกฤตในทันที กรณีที่พบว่าพลทหารถูกทำร้ายซ้อมทรมาน ถูกธำรงวินัยอย่างผิดระเบียบ หรือถูกกระทำที่ไม่เป็นธรรม โดยจะประสานงานโดยตรงกับกระทรวงกลาโหม หรือตัวแทนเหล่าทัพที่ประจำ กมธ. เพื่อระงับเหตุที่เกิดขึ้น
  • 2. หากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นและไม่สามารถยับยั้งได้ หรือเป็นเหตุให้เกิดการจำหน่าย หรือเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของพลทหาร จะมีการประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีกับนายทหารผู้กระทำและผู้บังคับบัญชา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
  • 3. นำพลทหารที่หนีทหารกลับสู่กรมกองด้วยความปลอดภัย เพื่อคืนสิทธิ์คืนศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิต โดยกำลังพลที่หนีทหารสามารถประสานงานที่ กมธ.การทหาร ได้
  • 4. นโยบายนำจิตแพทย์เข้าพบพลทหาร จากเหตุการณ์พลทหารกระทำอัตวินิบาตกรรมระหว่างอยู่ในค่ายทหารเนื่องจากความเครียดและวิตกกังวล เพื่อให้กระทรวงกลาโหมได้ดูเป็นแบบอย่างในการนำไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของกำลังพล

ธนเดช กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลมีการยื่นร่างกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยฉบับแรกเป็นร่างการเงิน ซึ่งนายกฯ ยังไม่เซ็นรับรอง (ณ วันที่ 1 เม.ย. 2567) และอีกฉบับซึ่งไม่เป็นร่างการเงิน ซึ่งจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ตัดสิทธิกองทัพในการบังคับคนไปเป็นทหารในห้วงเวลาที่ไม่ใช่สถานการณ์รบ-สงคราม เพื่อให้กองทัพประกอบด้วยคนที่สมัครใจเท่านั้น

ธนเดช อธิบายว่า ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยความต้องการกำลังพลประมาณ 90,000 คนต่อปี มีคนสมัครประมาณ 30,000 คน และมีคนต้องเสี่ยงจับใบดำใบแดงประมาณ 60,000 คนต่อปี โดยเสนอให้กองทัพทำ 2 เงื่อนไขหลัก คือ

  • 1. ลดยอดกำลังพล เช่น จากการไปอยู่บ้านนาย โดยคาดว่าจะลดยอดกำลังพลเหลือ 50,000 – 60,000 คน
  • 2. เพิ่มสวัสดิการให้กับคนที่สมัครใจ เช่น การยกระดับคุณภาพชีวิต การประกันรายได้ หรือการคุ้มครองความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

 

ในวันเดียวกัน (1 เม.ย. 2567) พล.ร.ต.ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ในปี 2567 ดังนี้

โดยยอดที่เรียกเกณฑ์ฯ จำนวนประมาณ 70,000 คน แบ่งเป็น

  • • ทหารประจำการที่แจ้งความประสงค์ขอเลื่อนกำหนดเวลาปลด (หรือสมัครอยู่ต่อ) ประมาณ 5,000 คน
  • • คาดว่ามีผู้สมัครในระหว่างการตรวจเลือก ณ หน่วยสัสดี ประมาณ 25,000 คน (จากสถิติปี 2566 มีจำนวน 25,461 คน)
  • • ดังนั้น คาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่ตรวจเลือกด้วยวิธีการจับใบดำใบแดง ประมาณ 40,000 คน

 

แหล่งที่มา

 

ภาพรวม

ลำดับเหตุการณ์

  • ครม.เห็นชอบ 3 กลุ่มโรค กลุ่มโรคตุ่มน้ำพอง โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด และ โรคของเอนไซม์บนเม็ดเลือดแดงผิดปกติชนิด G-6-PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

    21 ม.ค. 2568

  • ธนเดช เพ็งสุข สส.พรรคก้าวไกล และรองปธ.กมธ.การทหาร แถลง Policy Watch ของพรรคก้าวไกล ในหัวข้อ "ก้าวแรกพลทหารต้องปลอดภัย ก้าวต่อไปต้องยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร" เนื่องในวันแรกของการเกณฑ์ทหาร  ดูเพิ่มเติม ›

    1 เม.ย. 2567

  • กระทรวงกลาโหมเปิดเผยตัวเลขเกณฑ์ทหารปี 2567 จำนวน 85,000 คน ลดลงจากปี 2566 กว่า 8,000 คน ส่งผลให้เหลือจับใบแดงใบดำ 40,000 คน  ดูเพิ่มเติม ›

    1 เม.ย. 2567

  • ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความเล่าเรื่องอดีตผู้ช่วยฆ่าตัวตายในค่ายทหาร เรียกร้องให้ค่ายทหารเปิดเผยผลชันสูตร และให้มีการผลักดันการยกเลิกเกณฑ์ทหาร  ดูเพิ่มเติม ›

    19 มี.ค. 2567

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล และปธ.กมธ.การทหาร แถลงเปิดโครงการพลทหารปลอดภัย เพื่อปกป้องพลทหารจากการถูกซ้อม ช่วยเหลือกรณีหนีออกจากค่ายทหาร และป้องกันไม่ให้นำพลทหารไปใช้ผิดลักษณะ  ดูเพิ่มเติม ›

    13 มี.ค. 2567

  • รังสิมันต์ โรม ปธ.กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวหลังหารือกับ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ว่า กองทัพตั้งเป้าจะรับสมัครทหาร 100% ภายในปี 2571 โดยปัจจุบันทำได้อยู่ที่ 40% และในปีหน้าตั้งเป้าที่ 50-60%  ดูเพิ่มเติม ›

    15 ธ.ค. 2566

  • สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารยังต้องมีทั้งการกระตุ้นให้คนมาสมัครผ่านระบบสมัครใจและการบังคับเกณฑ์ทหาร หากครบตามที่ต้องการก็ไม่ต้องเกณฑ์เพิ่ม

    13 ก.ย. 2566

  • เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ระบุเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ และปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารของรด. ให้เป็นไปแบบสร้างสรรค์  ดูเพิ่มเติม ›

    11 ก.ย. 2566

  • สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังหารือผู้นำเหล่าทัพว่า จะเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารเป็นรูปแบบสมัครใจ ในเดือนเม.ย. 2567 อัตราการเกณฑ์จะลงลดและเหลือแต่ระบบสมัครใจ  ดูเพิ่มเติม ›

    3 ก.ย. 2566

รายละเอียด

ความสำเร็จของนโยบาย

เชิงโครงการ

เปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารเป็นรูปแบบสมัครใจ
ในเดือนเม.ย. 2567 โดยอัตราการเกณฑ์จะลงลดและเหลือแต่ระบบสมัครใจในอนาคต
วันที่: 3 ก.ย. 2566ดูเพิ่มเติม ›