พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ใน ‘รัฐบาลเศรษฐา’
ถ้อยแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ กระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทย ทั้งในมิติด้านสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรส LGBTQ+ ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้รับหลักการเตรียมเข้าสภา 12 ธ.ค. 2566
โดย ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม) โดยภาครัฐ มีประเด็นสำคัญ คือ
- 1. กำหนดให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใด สามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้
- 2. แก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา” และ “สามีภริยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือคู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใด
- 3. เพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด
- 4. เพิ่มเหตุฟ้องหย่าให้สอดคล้องกับลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน
- 5. แก้ไขระยะเวลาการสมรสใหม่ ตามมาตรา 1453 ให้ใช้เฉพาะกับกรณีหญิงที่มีชายเป็นคู่สมรสเดิม จะสมรสใหม่กับชายเท่านั้น
- 6. กำหนดให้มาตรา 1504 วรรคสอง กรณีหญิงมีครรภ์ ก่อนอายุครบตามมาตรา 1448 มีผลใช้บังคับเฉพาะกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเท่านั้น
- 7. กำหนดให้มาตรา 1510 วรรคสอง กรณีหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์มีผลใช้บังคับเฉพาะกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเท่านั้น
- 8. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา สามีภริยา หรือคู่สมรส เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรสด้วย และให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการทบทวนตามวรรคหนึ่ง และเสนอผลการทบทวนพร้อมทั้งร่างกฎหมายในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
- 9. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ
ทำไมต้องมี ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’
สิทธิในการมีชีวิตครอบครัว (Rights to Form a Family) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเข้าเป็นภาคี และเรื่องการห้ามการเลือกปฏิบัติยังได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว สามารถจดทะเบียนเป็นคู่สมรส และได้รับสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีพึงได้ เพราะการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายระบุว่าจะต้องเป็นการสมรสของชายและหญิงเท่านั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448) ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน
นอกจากนี้กฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวของไทยถูกบัญญัติขึ้นโดยมีพื้นฐานแนวคิดว่าเพศมีเพียง 2 เพศ คือ ชาย และ หญิง เท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รัก LGBTQ+ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันที่มีคู่รัก LGBTQ+ อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก และการขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น
- สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล
- สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
- สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
- สิทธิในการรับมรดก
ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสภา 4 ฉบับ
- 1. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับภาครัฐ
- 2. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับพรรคก้าวไกล
- 3. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 – 6 พ.ศ. …. ฉบับประชาชน เสนอโดย เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, เคท ครั้งพิบูลย์กับคณะ เปิดให้ประชาชนร่วมลงลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผ่านเว็บไซต์ https://www.support1448.org/
- 4. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์
แนวทางเสนอกฎหมายและขั้นตอนพิจารณา
- 1. การเสนอกฎหมายสามารถทำได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ
- (1) คณะรัฐมนตรี
- (2) ส.ส. 20 คน หรือ
- (3) ประชาชน 10,000 รายชื่อ
- 2. ต้องผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 3 วาระ คือ
- วาระ 1 รับหลักการ
- วาระ 2 พิจารณาหลักการ ตั้งคณะกรรมาธิการ และ
- วาระ 3 ลงมติเห็นชอบ
- 3. จากนั้นสมาชิกวุฒิสภา พิจารณาอีก 3 วาระ คือ
- วาระ 1 รับหลักการ
- วาระ 2 พิจารณาหลักการ ตั้งคณะกรรมาธิการ และ
- วาระ 3 ลงมติเห็นชอบ
- 4. ภายหลังวุฒิสภาให้ความเห็นชอบในวาระ 3 แล้วนายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศ เพื่อประกาศลงในพระราชกิจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ต่อไป
แหล่งอ้างอิง
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/328466
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/332177
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/334120
- https://www.thaigov.go.th/infographic/contents/details/7804
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/332177
- https://theactive.net/news/gender-sexuality-20231221-3/?fbclid=IwAR0WFpWwUdRjgAjS3-oL3aaKbrsrLWnHvLfsE8aWwmS2uYgtx0KYd8Ts63U