นโยบายเพื่อการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ด้วยความพยายามผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์หลายฉบับ ตามบทบัญญัติไว้ในมาตรา 70 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
“รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน”
ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ จึงจัดทำขึ้น โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิเสมอภาคอย่างไม่เลือกปฏิบัติ เป็นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยวางหลักการและแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีอยู่กว่า 60 กลุ่ม ประชากรเกือบ 7,000,000 คน
ปัจจุบันมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ทั้งหมด 5 ฉบับ
- 1. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
- 2. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
- 3. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์
- 4. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล
- 5. ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
ทั้ง 5 ฉบับ มีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียด เนื้อหา และกลไก โดยร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เน้นเรื่องกลไก โครงสร้าง กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาชนเผ่าฯ ประสานงานเครือข่ายชาติพันธุ์ องค์กรต่าง ๆ จัดทำรายงานข้อเสนอที่เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมือง ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนอีก 4 ฉบับ เน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ยึดหลักการสำคัญในทิศทางเดียวกัน 3 ประการ
- หลักการ “คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม” มุ่งให้ความคุ้มครอง กลุ่มชาติพันธุ์ในการเลือกดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของตน โดยไม่ถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติจากความไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ
- หลักการ “ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์” โดยปรับกระบวนทัศน์ในการมองกลุ่มชาติพันธุ์จากเดิมที่พิจารณากลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะผู้ด้อยโอกาส มาเป็นการมองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยทัศนะที่มองเห็นและเข้าใจถึงศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และปรับแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทาง “เสริมศักยภาพ” ให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วม ในการวางแผน และกำหนดแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
- หลักการ “สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากอคติทางวัฒนธรรมที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์
สำหรับสถานะของร่างกฎหมาย 5 ฉบับนั้น ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอและบรรจุไว้ในวาระการพิจารณาของสภาแล้ว
อีก 3 ฉบับ ที่เสนอโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ, กรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลาหลายทางเพศ และฉบับของพรรคก้าวไกล ถูกตีเป็นกฎหมายทางการเงิน ต้องใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีพิจารณาเซ็นรับรอง ขณะที่ล่าสุดพรรคก้าวไกลได้มีการยกร่างกฏหมายใหม่ เพื่อยื่นเสนอไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566
ส่วนอีก 1 ฉบับ ซึ่งถือเป็นร่างรัฐบาล ผ่านกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน) ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนแล้ว และเสนอไว้รอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี