นับจากปี พ.ศ. 2564 – 2568 สารคดี “คนจนเมือง” ได้นำเสนอภาพชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากและความเปราะบางในมิติต่างๆ ความคาดหวังและความผันผวน จำนวน 5 ซีซั่น 27 ตอน
จุดเริ่มต้นของสารคดีมาจากหลายปัจจัย ทั้งการทำงานข่าวและการสื่อสารเชิงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้คนที่ต่อสู่ดิ้นรน พบว่าคนยากจนปรากฏในพื้นที่ต่างๆ ผ่านปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การถูกละเมิดสิทธิ แรงงานนอกระบบ ค่าจ้างแรงงาน กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งที่ดำเนินการผ่านมาแล้ว และพื้นที่ในแผนงานโครงการของรัฐ ฯลฯ
ประกอบกับข้อมูลการศึกษาของโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดย อรรถจักร สัตยานุถรักษ์ และคณะ ในปีพ.ศ.2561 ข้อค้นพบสำคัญของงานดังกล่าวคือ คนจนและความยาจนมีความซับซ้อน หากจะทำความเข้าใจ ไม่สามารถเข้าใจเพียงการตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา หรือลดทอนให้เหลือเพียงการขาดรายได้ และการมีหรือไม่มีอยู่ของความยากจนผ่านตัวเลขเหมารวมอย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP
หากแต่กรณีคนจนนั้นมีภาพของการต้อสู้ ดิ้นรน ศักยภาพ ข้อจำกัด ในรูปแบบที่หลากหลายมาก โดยมองว่า “ความยากจนและคนจนมีอยู่ แต่มองไม่เห็น”
สารคดีชุดจนจนเมือง จึงได้ส่งผ่านข้อค้นพบจากงานวิจัยออกมา ถ่ายทอดเรื่องราวของคนจนเมือง รายกรณีพร้อมปัจจัยเงื่อนไขในการดำรงชีพ ข้อจำกัด ศักยภาพ ความคิด ความหวัง ของพวกเขา
เรื่องราวของคนจนเมือง คนจนที่อยู่ในเมืองจากรุ่นสู่รุ่น คนจนที่เผชิญภาวะกดดันจากชนบทเข้ามาใช้ชีวิตเป็นคนจนเมือง หรือ ภาพการต่อสู้ดิ้นรนที่หลากหลายอื่นๆ และ ไม่ได้เป็นเพียงให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองต่อคนจนและความยากจน ภายใต้แนวคิดที่มองปัญหาความยากจนแบบเชิงซ้อน “จักรวาลความจนและความเหลื่อมล้ำ” การสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
สารคดีเสนอมุมมองสำคัญใน 3 มิติ
(1) มิติของความหลากหลายของความยากจน สารคดีเผยให้เห้นโฉมหน้าของความยากจนใน ผ่านชีวิตของคนจนเมือง ที่เต็มไปด้วยปัจจัยและเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน การดิ้นรนภายใต้แรงเสียดทานในชีวิตประจำวันของคนจน ต้นทุนในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์ การศึกษา เครือข่ายทางสังคม เป็นต้น คนจนและความยากจน ที่เป็นกรณีของคนและกลุ่มตนต้นเรื่อง สามารถทลายมายาคติวาทกรรมที่ตำหนิติเตียน “คนจน” ที่มองว่าคนจนเพราะขี้เกียจ ไร้ศีลธรรมทั้งการดื่มเหล้า เล่นการพนัน ยาเสพติด ไม่วางแผนการเงิน “จนเครียดกินเหล้า” หรือวาทกรรมในรูปของคำขวัญในตินยุคสมัยการพัฒนาที่ว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่ชนที่ขยัน” ที่นำพาให้เข้าใจว่า ความยากจน เป็นผลพวงจากความขี้เกียจ
(2) มิติของความสัมพันธ์ที่ล่องหนในพื้นที่เมือง สารคดีได้เผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยง คนจนในฐานะ “คนแบกเมือง” วิถีชีวิต แรงงาน และทักษะ ในชีวิตของพวกเขาสนับสนุนการเคลื่อนตัวของเมือง การขายแรงงาน ขายอาหาร หรือหาบเร่แผงลอย ที่ราคาถูกสำหรับค่าครองชีพในเมือง หากแต่กลับกลายเป็น ผู้ที่ถูกกดทับ ขูดรีด ด้อยค่า ทั้งทางตรงและทางอ้อม สารคดีเน้นย้ำถึงการมีอยู่ของความยากจนที่หลากหลายและแตกต่างตามบริบท
(3) มิติของการยืนยันว่าความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง รูปธรรมของปัจเจกเป็นเพียงภาพสะท้อนของโครงสร้างใหญ่ทั้งทิศทางการพัฒนาประเทศและปฏิบัติการของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องความยากจน ว่าไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว แต่ฝังอยู่ในโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ทิศทางการพัฒนาเมืองที่ดึงดูดและผลักไสคนจนในคราวเดียวกัน การพัฒนาที่รวมศูนย์ความเจริญ การจ้างงานในเขตเมือง ละทิ้งชนบท ส่งผลให้พวกเขาต้องดิ้นรนหาแนวทางด้านเศรษฐกิจ แต่วิถีชีวิตของคนชนบทที่เข้ามาในเมืองต้นทุนที่มีน้อย ส่งผลให้ประสบปัญหาด้านค่าแรง ที่อยู่อาศัย การศึกษาของลูกหลาน การพัฒนาที่บิดเบี้ยว คุณภาพชีวิตคนจนเมือง จึงเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ยิ่งพัฒนา ความยากจนและความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมากขึ้นในทิศทางที่ผกผัน
ภาพรวมและบริบทของปัญหา “คนจนเมือง”
สารคดี “คนจนเมือง” ได้ฉายภาพความหมายของ “คนจนเมือง” ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น “คนแบกเมือง” ผู้ที่ถูกกดทับ ขูดรีด และด้อยค่า ความยากจนในเมืองไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว แต่ฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม เมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของทุนนิยมและการพัฒนา ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
การพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงการกระจายรายได้และทรัพยากรอย่างทั่วถึง ส่งผลให้คนจนยิ่งถูกผลักไสและมีต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพ การศึกษา และการผังเมืองที่ไม่ได้ออกแบบมารองรับกลุ่มเปราะบาง นิยามสำคัญ “คนจนเมือง” ในสารคดีคือ “คนไม่มีทางไป” “ความอัตคัด” หรือ “แทบจะไม่มี” และเน้นย้ำถึงการเปล่งเสียงของคนไร้เสียง “voice of the voiceless”
ความเหลื่อมล้ำและโครงสร้างสังคม:
- เมืองถูกทำให้เป็นสินค้าและสร้างกำไรสูงสุด (City for Profit)
- เกิดกระบวนการปลดเปลื้องการถือครองของผู้อื่น การสะสมโดยการยึดครอง สะสมโดยทำให้ผู้อื่นสูญเสีย (Accumulation by Dispossession)
- มีการสร้างภาคการผลิตที่เป็นทางการ (Formalization) และทำลายภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ (Informal Sector)
- กลุ่มผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด (Quintile 5) ถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่น้อยที่สุดถึง 326 เท่า
สถานการณ์ที่อยู่อาศัย:
- กลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงน้อยในชุมชนแออัด 633,000 คน ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพได้
- ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ครัวเรือน
- มูลค่าการลงทุนในที่อยู่อาศัยของประชาชน 2.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 13 ของ GDP
- หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนด้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 73,808 บาทต่อครัวเรือน
- มีชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ถูกไล่รื้อมากถึง 103 ชุมชน คิดเป็น 10,299 ครัวเรือน
- กรุงเทพมหานครมีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยสูงสุด 235,999 ครัวเรือน หรือร้อยละ 29.81 ของผู้เดือดร้อนทั้งหมด
ปัญหาที่เผชิญ:
- การถูกทำให้เป็น “อื่น” และถูกมองข้ามจากสังคม
- การขาดหลักประกันชีวิตและสวัสดิการพื้นฐาน
- ความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำกัด
- ความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพด้วยรายได้น้อยและสถานะแรงงานที่ไม่ชัดเจน (แรงงานนอกระบบ)
- การขาดหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุม
สรุป: สารคดี “คนจนเมือง” ได้ตอกย้ำถึงความเปราะบางของคนจนเมืองที่ถูกซ้ำเติมจากวิกฤตต่าง ๆ และเผยให้เห็นถึง “ความจริงของความจน” ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของบุคคล แต่เป็นผลพวงจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำและนโยบายที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม
สามารถชมสารคดี “คนจนเมือง” ทั้ง 5 ซีซันได้ที่นี่