การบุกรุกแผ้วถางที่ดินบริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และตรวจพบปักหลักหมุดสีแดงของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อแสดงแนวเขต ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มมีนโยบายแปลงที่ดินส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด เพื่อการเกษตร และมีการโต้แย้งระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับผู้ที่อ้างสิทธิตั้งแต่ปลายปี 2566
ในที่สุด เมื่อเกิดการบุกรุกในพื้นที่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าจับกุมผู้บุกรุกพื้นที่อุทยาน จนนำไปสู่ความเคลื่อนไหวต่อต้านการจัดสรรที่ดินส.ป.ก. 4-01
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแปลงที่ดินส.ป.ก. เป็นโฉนด เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร ทำให้รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ห้ามนำพื้นที่กันชน-พื้นที่คาบเกี่ยวออกส.ป.ก.
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่าจากการประชุมร่วมกับกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมแผนที่ทหาร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยกรมแผนที่ทหารสามารถสำรวจได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิมคาดว่าที่จะเสร็จสิ้นภายใน 3 สัปดาห์ แต่สามารถเสร็จสิ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์
การประชุมร่วม ได้ข้อสรุปดังนี้
1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยึดหลักการและประกาศจะไม่มีการนำที่ดินตามแนวเขตกันชนหรือพื้นที่คาบเกี่ยวมาใช้แบ่งที่ดินเพื่อจัดเป็นพื้นที่ สปก. อีกทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งเสริมให้มีการปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าวและขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่า
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเลขาธิการ สปก. ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐทุกประเภทจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเข้าสำรวจและหาข้อยุติในพื้นที่ที่ยังมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ทั้งนี้ กรมแผนที่ทหารรายงานผลการตรวจสอบแนวเขตที่ดินทับซ้อน โดยระบุว่าแปลงปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. ไม่ทับซ้อน และอยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ออกคำสั่งรมว.เกษตรสร้างพื้นที่กันชน
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามคำสั่งถึงเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) ลงวันที่ 23 ก.พ. 2567 เรื่อง “นโยบายการดำเนินการบริเวณเขตพื้นที่กันชน (Buffer Zone) กับเขตปฏิรูปที่ดิน” เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้การบริหารจัดการพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน เหมาะสมตามหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และบริบทความจริงของสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป
นโยบายดังกล่าวให้ ส.ป.ก. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเคร่งครัดดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณพื้นที่ตามแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และพื้นที่ต่อเนื่อง ว่าเป็นการจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกร
- จัดทำพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างพื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยกันพื้นที่ดังกล่าวให้จัดทำเป็นป่าในเขตปฏิรูปที่ดิน
- ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณรอยต่อกับพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐอื่น ๆ โดยให้ดำเนินการทั่วทั้งประเทศ ว่ามีกรณีจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกร หากพบว่าการจัดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องโดยเคร่งครัด
- เตรียมการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรหรีอที่ดินว่างเปล่ารองรับเกษตรกรกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีที่ดินทำกินโดยให้จัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเหล่านี้ตามระเบียบ ส.ป.ก. ต่อไป โดยให้ยึดถือตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
แต่หน่วยงานรัฐมีการถือแผนที่คนละฉบับ ดังนั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมแผนที่ทหาร เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ“โครงการ One Map” เพื่อตรวจสอบและป้องกันการเกิดข้อพิพาทอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต
สำหรับพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้สั่งให้ตรวจสอบพื้นที่ ส.ป.ก. รอบเขาใหญ่ทั้งหมดว่ามีการจัดสรรที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าเป็นรีสอร์ทหรือโรงแรมจะยึดคืน
นอกจากนี้ ให้สำรวจทั่วประเทศ หากพื้นที่ยังไม่ได้จัดสรรให้เกษตรกร ทั้ง 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานส.ป.ก. และ กรมอุทยานฯ มีแนวทางจะทำเป็น “ป่าชุมชน” หากพื้นที่ใดทำผิดวัตถุประสงค์ จะทำการเพิกถอนต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่านโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก.ดังกล่าว เป็นการใช้ “คำสั่งรัฐมนตรี” แต่การออกเอกสารสิทธิส.ป.ก. และการประกาศเขตพื้นที่อุทยานเป็น “พระราชบัญญัติ” ซึ่งอาจมีการใช้เพื่อโต้แย้ง หรือ กรณีรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย อาจทำให้คำสั่งดังกล่าวเปลี่ยนแปลงได้ง่าย