ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินและการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติทับลาน มีมานาน และหน่วยงานของรัฐได้พยายามหาแนวทางการแก้ปัญหามานาน แม้จะมีการประกาศเขตป่าสงวนมานาน แต่การแก้ปัญหามาเริ่งจริงจังในปี 2537 เมื่อมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีการประชุมครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2563 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ซึ่งมีการหยิบยกกรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ามาเสนอแนวทางการแกัปัญหา เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 เป็นครั้งแรก โดยมีความเป็นมาและรายละเอียดดังนี้
17 มี.ค. 2537 การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2537 มีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากกอ.รมน. ภาค 2 ได้มีโครงการพัฒนาเสริมสร้างความมั่นคงพื้นที่ชายแดนเจตจ.นครราชสีมา รอยต่ออำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี จัดที่ดินทำกินให้ราษฎร เมื่อปี 2526-2527 และโครงการในคจก.จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี 2534 นำพื้นที่เสื่อมโทรมในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานไปจัดสรรให้ราษฎร
6 ก.ค. 2537 กรมป่าไม้ มีคำสั่งที่ 1145/2537 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรังวัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ในท้องที่จ.นครราชสีมา และจ.ปราจีนบุรี โดยกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติให้ดำเนินการ และให้อยู่ในความควบคุมและติดตามผลการปฏิบัติงานของเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
28 ม.ค. 2540 การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2540 อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกากันแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เฉพาะท้องที่อำเภอเสิงสาง จ.นครราชสีมา จำนวน 20,000 ไร่ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตามที่กรมป่าไม้เสนอ โดยมอบพื้นที่ให้ส.ป.ก. นำไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว
22 เม.ย. 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ในจ.นครราชสีมา ซึ่งกรณีเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติทับลาน มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมป่าไม้) เร่งรัดจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขาตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามที่ได้กันพื้นที่ไว้แล้วในอำเภอวังน้ำเขียว รวม 8 จุด เนื้อที่ประมาณ 21,135 ไร่ มนเขตอำเภอเสิงสาง รวม 4 จุด เนื้องที่ประมาณ 14,850 ไร่ และในเขตครบุรี จำนวน 1 จุด เนื้อที่ประมาณ 622 ไร่ โดยนำร่างพระราชกฤษฎีกาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 3 เดือรนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเรื่องนี้ และให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ส.ป.ก. นับตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวอุทยานแห่งชาติทับลานมีผลบังคับใช้
มติครม.ปี 2540 ปรับปรุงแนวเขตอำเภอวังน้ำเขียว
13 พ.ค. 2540 การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2540 กรมป่าไม้ขอความเห็นชอบปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในส่วนพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา รวม 8 จุด เนื้อที่ 21,135 ไร่ โดยให้กรมป่าไม้ทำการรังวัดทำแผนที่บริเวณที่เพิกถอนให้ชัดเจน แล้วเร่งรัดดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนออกจากอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติให้กรมป่าไม้รวบรวมรายละเอียดการครอบครอง ที่ดิน ถ่ายวีดีโอ และพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ นำมาประกอบพิจารณาในการประชุมคราวต่อไป
29 พ.ค. 2540 การประชุมคณะกรรมารอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2540 ได้พิจารณาที่กรมป่าไม้ได้ชี้แจงในประเด็นที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้ให้ข้อเสนอแนะในที่ประชุม ครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2540 ทุกประเด็นแล้วและคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติดังนี้
- เห็นควรกันพื้นที่ออกไมาเกินที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ โดยไม่เพิกถอนบริเวณที่ขอเป็นป่าชุมชน
- ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ พร้อมแนบหลักฐานประกอบ คือ แผนที่แสดงตำแหน่งพื้นทีที่จะเพิกถอนมาตรส่วน 1 : 50,000 แสดงเขตอุทยานแห่งชาติและคุณภาพลุ่มน้ำ, แผนที่วงรอบระบุพิกัดทางราบ UTM (พิกัดกริด) ที่เหมาะสม และรายนามผู้ครอบครองที่ดินและเนื้อที่ครอบครอง
มติครม.ปี 2541 ส่งมอบที่ดินให้ส.ป.ก.
30 มิ.ย. 2541 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเรื่อง แก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยให้ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2540 ที่ให้กันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ แล้วมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
- ยืนยันนโยบายของรัฐที่จะไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. ไปดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
- ให้กรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ที่การครอบครองให้ชัดเจน และขึ้นทะเบียนผู้ครอบครอง เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการจัดการ เพื่อการอนุรักษ์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ให้กรมป่าไม้ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎร โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร (หากไม่มีให้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม) ซึ่งถ่ายภาพพื้นที่นั้นนั้นไว้เป็นครั้งแรก หลังวันสงวนหางห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก ตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์ต่อเนื่อง มาก่อนวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก และต้องพิจารณาร่วมกับพยานหลักฐานอื่น ซึ่งแสดงว่าได้มีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเรื่องมาก่อนวันสงวนหวงห้ามนั้น ๆ ด้วย
- กรณีผลการพิสูจน์ พบราษฎรอยู่อาศัย/ทำกินมาก่อน ให้กรมป่าไม้จัดทำขอบเขตบริเวณที่อยู่อาศัย/ทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด และดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้ราษฎรอยู่อาศัย/ทำกิน ตามความจำเป็นเพื่อการครองชีพ แต่ถ้าล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการคุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย และมติ ครม. ให้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือราษฎรออกมาจากบริเวณนั้นไปอยู่อาศัย/ทำกินในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยในพื้นที่รองรับให้มีการสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม รวมทั้งพิจารณารับรองสิทธิในที่ดินตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ที่ราษฎรได้เคลื่อนย้ายออกไปแล้ว ให้ทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพต่อไป
- กรณีผลการตรวจพิสูจน์พบว่า ราษฎรอยู่อาศัย ทำกิน หลังวันประกาศสงวนหวงห้ามพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก ให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้ (1) ให้เคลื่อนย้ายราษฎรออก แล้วทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การเคลื่อนย้ายให้เตรียมแผนการรองรับพื้นที่ให้เหมาะสม โดยสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการพิจารณารับรองสิทธิในที่ดินตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (2) หากยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายราษฎรออกได้ทันที ให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่มิให้ขยายเพิ่มเติมเด็ดขาด และในระหว่างรอการเคลื่อนย้ายให้จัดระเบียบที่อยู่อาศัย/ทำกินให้เพียงพอกับการดำรงชีพ
- การดำเนินการใด ๆ จะต้องกำหนดเงื่อนไขการใช้พื้นที่ให้เป็นรูปแบบของการอนรักษ์ที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และ/หรือสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
- ให้ทุกส่วนราชการที่ดำเนินการพัฒนาพื้นที่สูง ทำการพัฒนาเฉพาะความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ
15 ม.ค. 2542 กรมป่าไม้ได้จัดการประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และป่าสงวนแห่งชาติ จ.นครราชสีมา ที่ปนะชุมได้พิจารณาปัญหาอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่อำเภอวังน้ำเขียว สรุปได้ว่า ราษฎรกลุ่มมูลนิธิเกษตรกรไทย – สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน อ้างว่า ได้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ก่อนการประกาศเขจอุทยานแห่งชาติทับลาน บริเวณบ้านซับเต่า บ้านหนองโสมง บ้านวังนำเขียว บ้านห้วยน้ำเค็ม บ้านเชิงเขาสลักได บ้านเขาวง บ้านเชิงเขาทับเจ๊ก บ้านสวนหอม และบ้านหัวเขาทอง ท้องที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา โดยเรียกร้องให้กรมป่าไม้กันพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
เดิมปัญหานี้ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2540 เรื่องมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติในจังหวัดนครราชสีมา กล่าวคือ ให้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิก โดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 เรื่องการแก้ไจปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยระบุว่า การดำเนินการใด ๆ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และสอดคล้องกับมติ ครม.ฉบับนี้ให้ดำเนินการต่อไป ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการก็ให้ดำเนินการตามมติ ครม.ฉบับนี้ด้วย ดังนั้นในกรณีนี้จึงต้องดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 การดำเนินการที่ผ่านมามีดังนี้
- กรณีบริเวณบ้านซับเต่า ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อ 30 มิ.ย. 2541 พร้อมทั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติให้เพิกถอนประมาณ 21,000 ไร่ แต่เมื่อรังวัดแล้วได้พื้นที่เพียง 15,000 ไร่
- ในขณะนี้ การรังวัดปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทั้งหมดยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากปัญหาในพื้นที่บางส่วน โดยอธิบดีกรมป่าไม้ มีความเห็นว่าควรทำเป็นโครงการปรับแนวเขตอุทยานฯ และแก่ไขปัญหาในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อกำหนดภารกิจ ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จให้ชัดเจน โดยให้สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดำเนินการและให้มีหัวหน้าโครงการฯ เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ให้ดำเนินกรณีนี้เป็นโครงการแรกฯ โดยมติที่ประชุม (1) ให้ส่วนอุทยานแห่งชาติ และส่วนวิศวกรรมป่าไม้ เร่งรัดดำเนินการรังวัดปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในภาพรวม เพื่อเสนอเพิกถอนตามขั้นตอนโดยด่วน (2)ให้สำนักอนุรักษย์ทรัพยากรธรรมชาติดำเนินการตามความเห็นของอธิบดีกรมป่าไม้ในการจัดทำโครงการฯต่อไป
4 ต.ค. 2542 อธิบดีกรมป้าไม้ได้อนุมัติโครงการปรับปรุงแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับล้าน ท้องที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้ชัดเจน สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของพื้นที่ (จนมีประราชกฤษฏีกาแสดงแนวเขตอุทยานแห่งชาติใหม่ออกมารองรับ รายละเอียดตามหนังสือสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ กษ 0712./3574 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2542)
11 ม.ค. 2543 กรมป่าไม้ มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานท้องที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี มีผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นประธาน
6 มี.ค. 2543 ประธานคณะกรรมการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานท้องที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีผู้แทนป่าไม้เขตท้องที่เป็นประธานคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- ปฏิบัติงานสำรวจรังวัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีค่าพิกัดแผนที่ในระบบ UTM ด้วยเครื่องสัญญาณจากดาวเทียม (จีพีเอส) พร้อมจัดทำตารางบันทึกค่าพิกัดสัญญาณดาวเทียม และลงค่าพิกัดในแผนที่ 1:50,000 โดยให้ยึดถือตามแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่ปรับปรุงแล้ว ตามคำสั่งกรมป่าไม้ลงวันที่ 6 ก.ค. 2537 และคำสั่งอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติประจำจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี เป็นหลัก
- การฝังหลักเขตให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนวิศวกรรมป่าไม้ดำเนินการ พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดชี้ตำแหน่งหลักเขตให้ชัดเจน
- ในการปฏิบัติงานให้ประสานงานคณะทำงานที่คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ ประจำจังหวัดแต่งตั้ง
- เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ อันเป็นอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ให้คณะทำงานรายงานต่อคณะกรรมการปรับปรุงแนวแขตอุทยานแห่งชาติทับลานทราบ และพิจารณาหาข้อยุติโดยด่วน
- ให้รายงานผลความคืบหน้าการปฏิบัติงานทุก 10 วัร และ เมื่อปฏิบัติงานแล้วเสร็จ ให้รวบรวมข้อมูลเอกสาร และผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
- ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมอบหมาย
26 ม.ค. 2543 กรมป่าไม้มีคำสั่งให้ข้าราชการ และลูกจ้างไปปฏิบัติงานรังวัลแนวเขตป่าอนุรักษ์ โดยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน สายที่ 4 มี หน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติงานในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
19 ก.ค. 2543 ส่วนวิศวกรรมป่าไม้ รายงานผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ ส่งรายงานและผลการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามคำสั่งกรมป่าไม้ลงวันที่ 16 ม.ค. 2543 ทำการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา โดยการยึดถือแนวเขตปรับปรุงตามคำสั่งกรมป่าไม้ ได้ระยะทางทั้งหมด 456.10 กิโลเมตร และฝังหลักเขตพร้อมหมายเลขหลักจำนวน 1,348 หลัก รวมเนื้อที่กันออกทั้งหมด 187,148.14 ไร่
28 เม.ย. 2545 มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จีงมีคำสั่ง เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมามีกำหนดหน่วยงานภายในกรมใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงมีคำสั่งลงวันที่ 25 ส.ค. 2548 ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการใหม่ โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่นเดียวกับคำสั่งกรมป่าไม้ ลงวันที่ 11 ม.ค. 2543
ผลการรังวัดแปลงที่ดิน และการพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2552
- ผลการรังวัดแปลงที่ดิน ตามมติ ครม. ปีงบประมาณดำเนินการ พ.ศ. 2548-2552 จำนวน 3,848 ราย จำนวน 4,371 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 50,708.18 ไร่
- ผลการตรวจพิสูจน์สิทธิ ตามมติ ครม. ปีงบประมาณดำเนินการ 2552 จำนวน 2,205 ราย จำนวน 2,916 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 40,948.15 ไร่
- เมื่อตรวจสอบผลการรังวัดแปลงที่ดิน และผลการตรวจพิสูจน์สิทธิ ตามมติ ครม. กับข้อมูลผลการสำรวจและจัดทำแผนที่พื้นที่การครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินของกิจกรรมโครงการสำรวจจัดทำแผนที่การครอบครองรที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยใช้เทคโนโลยีสำรวจจากระยะไกล ปี พ.ศ.2551 – 2552 แล้ว ปรากฎว่ายังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดที่มีร่องรอยการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน
- ผลการรังวัดแปลงที่ดินในเขตปรับปรุงอุทยานแห่งชาติทับลาน ปีงบประมาณดำเนินการ พ.ศ. 2548 – 2552 จำนวน 588 ราย จำนวน 754 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 15,344.48 ไร่
- ผลการรังวัดที่ดินอยู่นอกแนวเขตปรับปรุงอุทยานแห่งชาติทับลาน ปีงบประมาณดำเนินการ พ.ศ. 2548 – 2552 จำนวน 3,260 ราย จำนวน 3,571 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 35,363.70 ไร่
- ผลการตรวจพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินราษฎรอยู่ในแนวเขตปรับปรุงอุทยานแห่งชาติทับลาน ปีงบประมาณดำเนินการ พ.ศ. 2548 – 2552 จำนวน 238 จำนวน 298 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 8,107.97 ไร่
- ผลการตรวจพิสูจน์การถือครองที่ดินราษฎรอยู่นอกเขตปรับปรุงอุทยานแห่งชาติทับลาน ปีงบประมาณดำเนินการ พ.ศ. 2552 จำนวน 1,967 ราย จำนวน 2,618 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 32,840.18 ไร่
อนึ่ง ผลการปฎิบัติงานรังวัด และพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฏรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานนั้น ยังปรากฎร่องรอยแปลงที่ดินทำประโยชน์อีกจำนวนมาก แต่ราษฎรไม่นำชี้แนวเขตแปลงถือครองที่ดินไม่แสดงตน และไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นปัญหาจากผลของนโยบาย ซึ่งราษฎรหวังให้ดำเนินการแก้ไขแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามผลการรังวัดปรับปรุงแนวเขต
1 พ.ย. 2556 การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีการเสนอพิจารณาเรื่องการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน (ปี 2543) เนื่องจากมติที่ประชุมกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2542 ขัดกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 จึงขอเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติทับลาน พิจารณายกเลิกแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2537 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปี 2543
คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้ซักถามข้อเท็จจริงและร่วมกันพิจารณา โดยได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะสรุปได้ว่า มติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในการประชุมเมื่อ 17 มี.ค. 2537 ได้เห็นชอบให้กรมป่าไม้ ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ต่อมา ครม.ได้มีมติเมื่อ 30 มิ.ย. 2537 ได้เห็นชอบหลักการมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ และให้ดำเนินการต่อไปได้ตามมติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และให้กรมป่าไม้ได้รับข้อสังเกตของ ครม. ไปพิจารณา โดยได้มีการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี พ.ศ. 2543 แต่ไม่ได้มีการดำเนินการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
ปัจจุบันได้เกิดปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน การแก้ไขปัญหาจึงควรใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติ ตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ. ปี พ.ศ. 2524 ( พ.ร.ฎ. กำหนดบริเวณที่ดินป่าวังนำเขียว และป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524) และหากมีการสำรวจพบบริเวณพื้นที่ที่สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ก็ควรที่จะดำเนินการผนวกพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่อไป
ทั้งนี้มติที่ประชุม เห็นชอบให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยยึดถือแนวเขตอุทยานแห่งชาติตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.กำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทบานแห่งชาติ พ.ศ. 2524 และใช้แนวทางปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541
ต่อมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามแนวทางมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 ที่ได้เห็นชอบในหลักการตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ในพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)
โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับผิดชอบกลุ่มที่ 4 ราษฎรผู้อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ก่อน และหลังมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อให้มีการสำรวจเตรียมความพร้อมของชุมชน ก่อนที่จะมีการดำเนินการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ เพื่อการดำรงชีพตามวิถีชีวิต ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และเพื่อให้สามารถอนุญาตให้ราษฎรอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลธรรมชาติ ภายในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อความยั่งยืนต่อไป
ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งหนังสือแจ้งครั้งแรกต้นปี 2562
3 ม.ค. 2562 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือแจ้งผลการประชุมหารือ กรณีการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทับที่ดินของราษฎรในพื้นที่ อำเภอวังน้ำเชียว อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ส.ป.ก.) นำแนวทางแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปพิจารณาหารือร่วมกับผู้บริหารระดับกรม และกระทรวง ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ รายงานผลการพิจารณาต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ภายใน 30 วัน
4 ก.พ. 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าได้พิจารณาตามข้อเสนอแนะของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตราพระราชกฤษฎีกา เพื่อเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยยึดตามแนวเขตปรับปรุงที่ได้ดำเนินการสำรวจเมื่อปี 2543 แล้วมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในกรณีที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทับซ้อนกับโครงการจัดที่ดินของรัฐและที่ดินทำกินของราษฎรที่อาศัยมาแต่เดิม เนื่องจากการเสนอเพื่อขอปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้มีการเสนอให้พิจารณาดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 แต่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากผู้ได้รับผลจากการพิจารณามีหลายกลุ่ม และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดปัญหาความขัดแย้งมาก
คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จึงมีมติเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2556 ให้ใช้แนวเขตตามพระราชกฤษฎีกา ปี พ.ศ. 2524 และปัจจุบัน ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินการตามนัยมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ตามพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) โดยในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ในพื้นที่เป้าหมายกลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก่อนและหลังมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์
ครม.ได้กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั่วไป ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนถูกต้องตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนารมณ์ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการจัดสรรที่ดินของแต่ละกลุ่มพื้นที่ รวมทั้งการปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสิทธิของผู้ได้รับจัดสรรที่ดิน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและข้อพิพาทในภายหลัง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แจ้งประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม. ดังกล่าวแล้ว
การแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ทุกแห่ง จึงต้องดำเนินการตามนัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 แม้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินจะแจ้งว่า ไม้ได้ประสงค์ให้การแก้ไขปัญหากรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีประวัติความเป็นมา และบริบทเฉพาะที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น แต่ก็ไม่ปรากฎแนวทางหรือมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ราษฎรที่มีที่อยู่อาศัย หรือทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นจะมีการเรียกร้องและเกิดข้อขัดแย้งภายหลังได้
ประกอบกับในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอวังนำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีการจับกุมดำเนินคดีบุกรุก เนื่องจากมีการเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ทำการเกษตรเป็นรีสอร์ท หรือบ้านพักตากอากาศของกลุ่มทุน รวมจำนวน 490 คดี เนื้อที่ประมาณ 11,060-2-96 ไร่ (11,060 ไร่ 2 งาน 96 ตารางวา) คิดค่าเสียหายของรัฐโดยประมาณ 734,444,197 บาท
ที่ผู้แทนอันการสูงสุดได้หารือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 มีข้อเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแยกรายละเอียดข้อมูลในแต่ละคดี เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการตาม พ.ร.บ.องค์การอัยการ และพนักงานราชการ พ.ศ. 2553 ดังนั้น การดำเนินการเพื่อพิจารณาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน จึงไม่สอดคล้องและไม่เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด แต่ทั้งนี้หากการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map หรือ วันแมพ) เป็นประการใดจะได้พิจารณาให้เป็นไปตามที่กำหนดต่อไป
สำหรับการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของเอกสารสิทธิในที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน เป็นไปตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับแนวทางของผู้ตรวจการแผ่นดินในการให้กรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของเอกสารสิทธิในที่ดิน หากผลการตรวจสอบปรากฎว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมที่ดินดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้ตรวจการทำหนังสือด่วนอีกครั้ง ส.ค. 2562
6 ส.ค. 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี อุทยานแห่งชาติทับลานดังนี้
1. กรณีการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของพื้นที่ มีข้อเสนอแนะให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยดำเนินการตราพระราชกฤษฏีกาปรับปรุงแนวทางเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยอาศัยอำนาจมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และให่ยึดถือแนวทางเขตตามที่ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดกันมาเมื่อปี 2543
2. ภายหลังการดำเนินการตราพระราชกฤษฏีกาปรับปรุงแนวทางเขตอุทยานแห่งชาติทับลานแล้ว เพื่อให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลสามารถดำเนินการเป็นไปตามเป้าประสงค์ ประกอบกับเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จึงให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
(1) บริเวณพื้นที่ที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน หากมีประชาชนอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ ตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบแนวทางของมติ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 เรื่องพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)
(2) บริเวณพื้นที่ที่ถูกกันออก หรือเพิกถอนจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
- บริเวณพื้นที่ป่าวังนำเขียวแปลง 2 ในส่วนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ให้กรมป่าไม้รายงานเหตุผลและความจำเป็นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อออกกฎกระทรวงยกเลิกเขตป่าสงวนแห่งชาติบริเวณดังกล่าว รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอเรื่องต่อ ครม.ให้มีมติยกเลิกพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (ป่าโซน C) ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว จากนั้นให้ส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหลังดำเนินการรับมองพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินบริเวณดังกล่าวให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้ครบถ้วน
- บริเวณพื้นที่โครงการ พมพ. และโครงการ คจก. เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อีกทั้งมีสถานะเป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ (ป่าโซนC ) ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของทั้งสองโครงการที่จะให้ประชาชนได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้กรมป่าไม้รายงานเหตุผลและความจำเป็นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อออกกฎกระทรวงยกเลิกเขตป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณโครงการดังกล่าว รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ให้มีมติยกเลิกพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (ป่าโซน C) ในพื้นที่บริเวณโครงการดังกล่าว จากนั้นให้ส่งมอบพื้นที่บริเวณโครงการดังกล่าวให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหลังดำเนินการรับมอบพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินบริเวณโครงการดังกล่าวให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมให้ครบถ้วน
ในการนี้ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้นให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย แล้วรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้ ให้แจ้งต่อผู้ตรวจการแผ่นดินทราบก่อนกำหนดเวลาดังกล่าว
ผู้ตรวจการแจ้งด่วนที่สุด จัดประชุม กลางปี 2563
14 พ.ค. 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือด่วนที่สุด ขอเชิญประชุมปรึกษาหารือ กรณี อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมีเรื่องให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รายงานถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีความเห็นว่าไม่อาจดำเนินตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เพื่อเป็นการหาแนวทางในการแก้ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวให้ได้ข้อยุติรวมกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงปรึกษาหารือรวมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นพิจารณาดังนี้
(1) การมีพื้นที่ลดลงจะมีผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก กลุ่มป่าดงใหญ่ – เขาใหญ่ ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่กลุ่มป่าดงใหญ่ – เขาใหญ่ ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 10-17 ก.ค. 2548 ณ เมืองเดอร์บันสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนโดยอาศัยคุณสมบัติโดดเด่นตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ข้อที่ 10
กล่าวคือ การเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตรายแต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตได้ รวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยได้ใช้แนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ปี พ.ศ. 2524 ในการเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 1 มี.ค. 2548 ให้ข้อมูลต่อศูนย์มรดกโลกในเรื่องขอบเขตของผืนป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่
สรุปได้ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตของผืนป่าดงพญาใหญ่ – เขาใหญ่ ในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอนโดยจะมีการกันพื้นที่บริเวณทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งเป็นเขตชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออก จำนวนเนื้อที่ 43,729.63 เฮคเตอร์ และผนวกพื้นที่บริเวณทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเข้ามา จำนวนเนื้อที่ 17,627 เฮคเตอร์ โดยขอให้คณะกรรมาธิการมรดกโลก ถือว่าพื้นที่เดิมที่เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่ของผืนป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ไปพลางก่อน ซึ่งการปรับปรุงแนวเขตดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2550 โดยพื้นที่ปรับปรุงซึ่งอยู่ภายในแนวปรับปรุงใหม่จะได้รับการปกป้องดูแลอย่างดี เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการบูกรุกเพิ่มเติมหรือถูกทำลายจากบุคคลที่เข้ามาอาศัย และจะจัดให้มีแนวกันชนตลอดแนวเขตปรับปรุงใหม่
ดังนั้น การดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามคำวินิจฉัยและข้อแสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการขอบเขตของแหล่งมรดกโลก ผืนป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้เคยแจ้งไว้ต่อศูนย์มรดกโลก เพื่อประกอบการเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแล้วนอกจากนี้การปรับปรุงแนวเขตด้วยการกันพื้นที่ที่เป็นเขตชุมชนและป่าเสื่อมโทรมซึ่งมิได้มีคุณค่าในเชิงอนุรักษ์ออกไปยังเป็นการส่งเสริมให้การบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
กรณีนี้จึงมิอาจถือได้ว่า การดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ แต่อย่างใด
กรมอุทยานฯโต้ผู้ตรวจการแผ่นดิน 5 ประเด็น
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่า ถึงแม้กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะได้เคยมีหนังสือลงวันที่ 1 มี.ค. 2548 ถึงศูนย์มรดกโลกว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนแนวขอบเขตบางส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลาน ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น แต่ในที่สุดแล้วคณะกรรมการมรดกโลก ได้มีมติ เมื่อเดือน ก.ค. 2548 ให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งรวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทั้งหมด ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยไม่ได้มีเงื่อนไขบังคับให้ประเทศไทยดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานแต่อย่างใด
(1) หากประเทศไทยประสงค์จะปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน การดำเนินงานตามแนวทางการอนุวัตอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) ย่อหน้า 163-165 ประเทศไทยจะต้องแจ้งให้ศูนย์มรดกโลกรับทราบ เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลก พิจารณาว่า การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานดังกล่าวนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณค่าโดดเด่น อันเป็นสากล (OUV) ของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ หรือไม่
หากคณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่า การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ส่งผลให้คุณค่า OUV ของพื้นที่เสื่อมถอยลงหรือสูญหายไป คณะกรรมการมรดกโลกอาจพิจารณาให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกในภาวะอันตรายได้ ดังนั้นการพิจารณาว่าการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มีผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาให้ความเห็น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเทศไทยจะต้องจัดทำรายงานสถานภาพการอนุรักษ์ (State of Conservation) รายงานต่อคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อตอบประเด็นข้อสงสัยของคณะกรรมการมรดกโลก ในเรื่องของการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ เช่น การแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในแหล่งมรดกโลกเพื่อทำรีสอร์ต การขยายถนน 304 การสร้าง Wldlife Coridors การสร้างเขื่อนห้วยโสมง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลก พิจารณามาโดยตลอด
เนื่องจากพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญ ยิ่งของประเทศไทย รวมถึงกระแสความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบันการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องล้วนแล้วแต่ถูกจับตามองจากประชาชนทั่วไป และกลุ่มองค์กรด้านการอนุรักษ์กลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่แจ้งต่อศูนย์มรดกโลกเพื่อขอเสนอปรับลดพื้นที่ดังกล่าวจากการเป็นมรดกโลกก็ตาม คณะกรรมการมรดกโลกอาจได้รับทราบข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่น ๆ และสอบถามกลับมายังประเทศไทย
ที่ผ่านมาได้เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้วในอดีต ซึ่งหากมีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยว่าไม่สามารถดำเนินการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกให้เป็นไปตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ตามที่ประเทศไทยได้เคยให้สัตยาบันในการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกไว้แต่เดิม ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องแจ้งให้คณะกรรมการมรดกโลกรับทราบการปรับปรุงแนวเขตฯ ดังกล่าว
(2) มีผลกระทบต่อรูปคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งในขั้นตอนของ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และในชั้นการพิจารณาคดีของศาล
ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน
สรุปได้ว่า หากรัฐบาลได้ดำเนินการตามวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน จนมีการตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแนวเขตปี พ.ศ. 2543 และกรมป่าไม้ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เข้าดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่สามารถสั่งฟ้องคดีดังกล่าวได้ เนื่องจากแปลงที่ดินจะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร แม้ที่ดินจะมีการเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ก็มิใช่การกระทำผิดกฎหมายอาญา แต่เป็นการกระทำโดยผิดเงื่อนไขของการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ ส.ป.ก. จะต้องไปดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้การปรับปรุงแนวเขตย่อมไม่มีผลกระทบต่อคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เนื่องจากปัจจุบัน ยังคงมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้การยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นความผิดอยู่ สำหรับการดำเนินการต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมายก่อนการปรับปรุงแนวเขตนั้นหากในขณะที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมดำเนินคดีหรือใช้มาตรการโดยมีอำนาจตามกฎหมาย ดังนั้นการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่มีผลกระทบ ต่อรูปคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแต่อย่างใด
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่าการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยใช้แนวเขตสำรวจปี 2543 มีผลกระทบต่อรูปคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย และต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในภาครวม ดังนี้
1.ผลกระทบต่อรูปคดีที่กล่าวโทษดำเนินคดีไว้แล้ว ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และอยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 493 คดี รวมเนื้อที่ 11,078.29 ไร่ โดยเป็นนายทุนและผู้ครอลครองรายใหม่ จำนวน 470 รายและมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ จำนวน 23 ราย โดยคดีที่อยู่ในขั้นพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
และหากคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาในขั้นศาล ศาลก็จะมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยแม้จะอ้างว่าเป็นหลักการใช้กฎหมายอาญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27,29 หรือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และมาตรา 3 แต่หากดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยใช้แนวเขตสำรวจปี 2543 จะเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในภาพรวมของประเทศ อย่างร้ายแรง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2.ผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศในภาพรวม
ปัจจุบัน ได้มีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2563 เป็นต้นมา มีบทบัญญัติเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัย หรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 โดยกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติทำการสำรวจการถือครองที่ดินของประเทศที่อยู่อาศัยและทำกินในอุทยานแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน กล่าวคือ ภายในวันที่ 21 ก.ค. 2563
หลังจากนั้น จะมีการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาธรรมชาติภายในอุทยาน โดยมิได้มีสิทธิในที่ดินนั้น โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัย หรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และมีระยะเวลาการบังคับใช้คราวละไม่เกิน 20 ปี
อย่างน้อย ต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาและคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่อาศัย หรือ ทำกินในชุมชนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการหน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในเขตพื้นที่ดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัย หรือทำกิน การสิ้นสุดการอยู่อาศัยหรือทำกิน มาตรการในการกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการ การกำหนดให้ความคุ้มครองบุคคลที่อยู่อาศัย หรือทกกินในเขตพื้นที่โครงการ ได้ดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
3.จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้กำหนด พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดแนวทางเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาตื ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ไว้แล้ว
ในขณะเดียวกัน หากเป็นการบุกรุกใหม่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พศ. 2562 กำหนดโทษไว้สูงมาก ทั้งทางอาญา แพ่ง และปกครอง ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมทั้งมาตรการริบของกลาง จะทำให้ผู้ที่ประสงค์จะบุกรุกที่ดินเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย
4. แต่ถ้าหากมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะกรณีอุทยานแห่งชาติทับลานด้วยวิธีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยใช้แนวเขตสำรวจปี 2543 ย่อมเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างร้ายแรง ทั้งการดำเนินการตามมาตรา 64 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอื่นทั่วประเทศจะไม่สามารถกระทำได้ ผู้ที่บุกรุกยึดถือครอบครองและถูกดำเนินคดีจะเรียกร้องการปฏบัติเช่นเดียวกับกรณีของอุทยานแห่งชาติทับลาน และเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งอื่นทั่วประเทศ ทั้งคดีในสวนอาญา คดีในส่วนแพ่ง และการดำเนินมาตรการทางปกครอง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท้ายที่สุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ถูกบุกรุกจะตกไปอยู่ในความครอบครองของนายทุน ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะไม่มีที่ดินอยู่อาศัยและทำกิน ต้องลักลอบบุกรุกทำลายป่าอนุรักษ์ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานก็ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี หรือถูกข่มขู่ คุกคาม ขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติตามหน้าที่
5. ในทางตรงกันข้าม หากปฏิบัติตามมาตรา 64 จะเป็ยการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้ที่อยู่อาศัย หรือทำกินในยุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น แต่ผ่อนปรนให้สามารถดำรงชีพอย่างปกติสุข ภายใต้หลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ทั้งการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน รวมถึงมาตรการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กรณีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บุกรุกใหม่ ซึ่งกำหนดโทษไว้สูงมาก จะเป็นมาตรการการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และอำนวยประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน