อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ก ระบุว่า “เตรียมปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวไม่มีกำหนดจนกว่าจะแก้ไขปัญหาลักลอบเผาป่า บุกรุก ล่าสัตว์และจัดระเบียบที่พักและโฮมสเตย์ได้ เนื่องจากมีการลักลอบเผาป่าทำให้พื้นที่ป่าถูกไฟป่าทำลายเสียหายมากเสี่ยงต่อการสูญเสียระบบนิเวศพื้นที่สงวนชีวมณฑลรวมถึงพรรณไม้มีค่าหายาก”
ในโพสต์ดังกล่าว มีคลิปวิดีโอบินถ่ายภาพมุมสูง แสดงให้เห็นว่ามีการบุกรุกพื้นที่ในวงกว้าง ทั้งเพื่อการเกษตรและเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างบ้านพักบนยอดเนินเขาหลายแห่ง
“บุกรุก ล่าสัตว์” ทำให้มีการลักลอบเผ่าป่า เป็นท่าทีของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผืนป่าเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของ “ไฟป่า” ในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้
ก่อนหน้านี้ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ก็ออกมาระบุว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นมาจากคนเผา ซึ่งเป็นความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่อุทยานจำนวนมากที่เชื่อว่าไฟป่าในเขตอุทยานมาจาก “การลักลอบเผา”
ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้เกิดประเด็นที่ยังถกเถียงกันไม่สิ้นสุดเรื่อง “คนกับป่า” ว่าจะสามารถอยู่ด้วยกันได้ไหรือไม่ ซึ่งมุมมองของระดับเจ้าหน้าที่มักจะเห็นว่าเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีตัวอย่างของชุมชนหลายแห่งที่แสดงให้เห็นว่าสามารถอยู่ในพื้นที่ป่าได้ และช่วยดูแลฝืนป่า
แม้แต่โพสต์ของ อรรถพล เจริญชันษา เกี่ยวกับสถานการณ์ในอุทยานเขลางค์บรรพต (ดอยพระบาท) จ.ลำปาง ระบุว่า “ปีนี้ทุกหน่วยงานและชุมชนช่วยกันป้องกันไฟป่าดีมากครับลดลงถึง 70% แต่ยังมีมือดีลักลอบจุดไฟจับได้สองรายจากกล้องดักจับ”
กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการช่วยป้องกันไฟป่าจะได้ผลต้องได้รับความร่วมมือจาก “ชุมชน”
แต่การบุกรุกป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและเป็นเส้นทางท่องเที่ยวกำลังเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในทุกจังหวัด และยิ่งมีการพัฒนาเส้นทางลาดยางให้เข้าถึงได้ง่าย ก็จะพบการบุกรุกเพื่อสร้างโครงกสร้างพื้นฐานด้านท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่พัก และ โรงแรม
ยิ่งเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาท่องเที่ยวมากขึ้น ก็ยิ่งมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมรองรับ และก็ยิ่งพบการบุกรุกมากขึ้น ดังที่เราได้เห็นการดำเนินคดีผู้บุกรุกในพื้นที่ท่องเที่ยวทุกปี
เมื่อย้อนกลับไปดูเรื่องการสร้างเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ป่าเขา ในช่วงแรกมักจะอ้างเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล แต่ต่อมาในยุคหลัง เมื่อเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวมาก จนกลายเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญ ทำให้เกิดการพัฒนาเส้นทางดีขึ้น และมีการตัด “เส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ”
ดังนั้น เราจะพบว่าเหตุผลที่กรมทางหลวง และทางหลวงชนบท ใช้อ้างการก่อสร้างเส้นทางใหม่ หรือขยายปรับปรุงเส้นสร้าง ก็มักจะมีเหตุผลเรื่อง “ส่งเสริมการท่องเที่ยว”เสมอ หากมีการตัดถนนหรือปรับปรุงเส้นทางเข้าไปในพื้นที่ที่คนนิยมท่องเที่ยว
ภาพมุมสูงการรุกพื้นที่เชียวดาว (ที่มา: เฟสบึ๊ก อรรถพล เจริญชันษา )
กรณีการบุกรุก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ก็เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นการบุกรุกได้ทั่วไปในภาคเหนือ
จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและท้องถิ่น ทำให้หน่วยงานรัฐหันมาส่งเสริมการท่องเที่ยว และยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญการท่องเที่ยวในมิติของ “เม็ดเงิน” (แบบคาดการณ์) ก็ยิ่งมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้วยการตัดถนนและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ตามมามากมาย
แต่ในอีกด้าน เมื่อรัฐบาลยิ่งเห็นความสำคัญ ก็ยิ่งต้องการให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเรามักจะได้ยินคำว่า “ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” “ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ฯลฯ เป็นการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากร (ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม) ที่เป็น“ทุนท่องเที่ยว” สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ
ดังนั้น “การเผาป่า” เพื่อบุกรุกที่ดิน หวังประโยชน์สร้างที่พัก และที่อยู่อาศัย เป็นปลายเหตุของการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านหนึ่ง เราก็อยากให้เกิดรายได้ อีกด้านหนึ่ง รายได้ต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางทรัพยากร เป็น “ความขัดแย้งการพัฒนาประเทศ”
การบุกรุกป่าเพื่อการท่องเที่ยว ถือเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในกระบวนการ “เผาผลาญพื้นที่ป่า” ยังมีอีกเรื่องและอาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ปัญหาบานปลายไปเรื่องอื่น คือ การบุกรุกพื้นที่ป่าเขา เพื่อปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” โดยมีการเผาป่าและเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งนำไปสู่ปัญหาฝุ่นควัน “รุนแรง” ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และล่าสุดมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนด้านทรัพยากรผืนป่า และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
รัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐมักจะตอบโต้เสียงวิจารณ์ถึงนโยบายที่ “ขัดแย้งในตัวเอง” ในนโยบายที่มีทั้ง “สร้างสรรค์-ทำลายล้าง”ไปในตัวมันเองว่า “ได้อย่างเสียอย่าง” ซึ่งทุกนโยบายมักจะมีลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว แต่นโยบายของรัฐบาลมักจะเกิดปัญหาการประเมินว่าอะไรที่ “ควร-ไม่ควร”ทำ เพราะมักจะคิดแต่ “เม็ดเงิน”เป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญการประเมินด้านอื่น เช่น ผลกระทบทางสังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เข้ามาในสมการการตัดสินใจ
ดังนั้น ถึงที่สุดแล้ว ต้นตอปัญหาการเผาป่าและฝุ่นควัน อาจจะมาจาก “นโยบายการพัฒนา” ของรัฐบาลนั่นเอง แต่รัฐบาลคิดแต่ “เม็ดเงิน” เป็นสำคัญ ทำให้สังคมไทยไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คนได้