เมื่อเกิดมลพิษทางอากาศย่อมส่งผลกระทบทางตรงต่อระบบสาธารณสุขภาพรวม สิ่งแวดล้อม และในที่สุดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือมักส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และ PM 2.5 (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์) ยิ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากอนุภาคที่เล็กมากของ PM 2.5 สามารถเดินทางผ่านกระแสเลือด ปอด รวมไปถึงหัวใจได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือดของประชากรในประเทศ
ฝุ่น PM 2.5 กระทบอายุไขคนไทย
ไทยที่กำลังเผชิญกับภาวะค่า PM 2.5 สูงเกินไปนั้น คาดว่าภาวะที่เกิดขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่ออายุขัยเฉลี่ยของคนไทยได้ถึง 1.78 ปี โดยหลายจังหวัดในไทยกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก และหนึ่งในนั้นคือจังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในเดือนมมี.ค. 2567 และมักติดอันดับ 10 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก
แม้รัฐบาลได้เริ่มเดินหน้ามาตรการเพื่อจัดการกับ PM 2.5 แล้ว แต่ปัญหานี้ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับแก้ไขอย่างเร่งด่วน แม้ว่าระดับ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีของไทยจะลดลงเล็กน้อยในช่วงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันระดับ PM 2.5 รายปีของไทยสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำถึง 5 เท่า
ทั้งนี้ข้อจำกัดที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งในการออกแบบมาตรการด้านการจัดการคุณภาพอากาศ คือ การขาดข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของ PM 2.5 โดยแหล่งที่มาของ PM 2.5 มักแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากการจราจรทางถนน และกิจกรรมทางอุตสาหกรรม ที่มักถูกอ้างถึงว่าเป็นสาเหตุหลักของ PM 2.5
เผาป่าไม้-การเกษตร ปัจจัยก่อฝุ่น กระทบพื้นที่ใกล้เคียง
การเผาไหม้ชีวมวล (ในเขตป่าไม้และการเกษตร) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพอากาศเสีย ซึ่งอาจทำให้เกิดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยควรในประชาชนหลายแสนคนต่อปี โดยการประเมินผลกระทบของการเผาไหม้ต่อระดับ PM 2.5 เป็นเรื่องที่ท้าทาย ด้วยเหตุที่ว่าการเผาไหม้เกิดขึ้นแตกต่างกันตามฤดูกาลและแตกต่างตามพื้นที่ภูมิศาสตร์
ในพื้นที่ที่ถูกผลกระทบจากการเผาไหม้นั้น ระดับ PM 2.5 อาจพุ่งสูงขึ้นหลายร้อยไมโครกรัมและใช้เวลากว่าหลายสัปดาห์กว่าจะลดลงมาในระดับปกติได้ มากไปกว่านั้นเนื่องด้วย PM2.5 สามารถเดินทางได้ไกล จึงไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ที่เกิดการเผาไหม้เท่านั้น พื้นที่ใกล้เคียงแม้จะห่างจากจุดเกิดเหตุออกไปกว่าหลายร้อยกิโลเมตรก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
จากการจำลองความสัมพันธ์ระหว่างค่าเฉลี่ย PM 2.5 (AQI) และขอบเขตการเผาไหม้ (พื้นที่ที่ถูกเผาไม้มีหน่วยเป็นตารางกิโลเมตร) ในช่วงปี 2559 – 2563 สำหรับ 21 จังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยใช้แบบจำลอง a mixed-effects linear regression model พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงที่มีนัยสำคัญระหว่างพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ที่เพิ่มขึ้นและ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น (P <0.001)
การเพิ่มขึ้นของขอบเขตการเผาไหม้ในช่วงระยะทาง 0 ถึง 50 ตารางกิโลเมตรจะทำให้ค่า PM 2.5 เฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 51 จุดบนดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งคิดเป็น 1.8 เท่าของระดับ PM 2.5 AQI พื้นฐาน และสำหรับขอบเขตการเผาไหม้ในช่วงระยะทาง ประมาน 500 ตารางกิโลเมตร จะทำให้ค่า PM 2.5 AQI เฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 81 จุดบน AQI หรือสูงกว่าค่ามาตรฐาน PM 2.5 ถึง 2.3 เท่า
ทั้งนี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนว่าการการเผาไหม้ระดับน้อยจะมีผลกระทบมากกว่าระดับสูง ถึงแม้ระดับสูงจะเพิ่ม AQI อยู่ดี คล้าย ๆ กับ Saturation Effect ทางเคมี
จังหวัดที่มีการเผาไหม้สูง ยิ่งก่อ PM 2.5
ประเทศไทยการเกิดการเผาไหม้มีความแตกต่างกันในระดับภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ส่วนตะวันตกของภาคเหนือ ซึ่งมีการเผาไหม้เกิดขึ้นเกือบทุกปีระหว่างปี 2544 – 2563 สอดคล้องกับงานวิจัยในอดีตว่า ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นจุดความร้อนที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ (Fire Hotspot) นอกจากนี้ ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนครนายกในภาคกลางก็เป็นอีกพื้นที่ที่เป็นจุดความร้อนที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้เช่นกัน ในขณะที่ภาคใต้ของประเทศไทยมีความถี่ในการการเผาไหม้น้อยที่สุด โดยแทบไม่เกิดการเผาไหม้เลยในช่วงที่ทำการศึกษา
งานศึกษายังพบว่าค่า PM 2.5 เฉลี่ยต่อเดือนใน 14 จังหวัดจาก 21 จังหวัด สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการเผาไหม้ และพบความแตกต่างในผลกระทบของการเผาไหม้ในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 พื้นฐานต่ำกว่าค่ามาตรฐาน มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเผาไหม้ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน และในจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 พื้นฐานสูงอยู่แล้ว จะส่งผลต่อระดับ PM 2.5 ในพื้นที่น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ค่า PM 2.5 เฉลี่ยรายเดือนของ 14 จังหวัดที่ทดสอบนั้นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของป่าไม้ จึงอาจบ่งชี้ได้ว่าการเผาไหม้เป็นสาเหตุหลักของ PM 2.5 ได้แต่ความรุนแรงของผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค
ดาวเทียมชี้ชัดไทยเผาตลอดทั้งปี
จากการศึกษาข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่า ระหว่างปี 2544 ถึง 2563 มีเผาไหม้ในเขตป่าไม้เพิ่มขึ้นมากถึง 240% ในขณะที่ไฟจากการเผาพื้นที่เกษตรลดลง 42% ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ ว่าไฟป่าในประเทศไทยนั้นเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าที่มา PM 2.5 น่าจะมาจากเผาไหม้ในเขตป่าไม้มากกว่าจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ณ ตอนนี้ข้อมูลข้อมูลดาวเทียมยังไม่สามารถแยกเหตุการเผาไหม้ของป่าได้ว่ามาจากธรรมชาติหรือเผาไหม้ไปทำการเกษตร
มิใช่เพียงการเผาในประเทศที่เป็นหนึ่งสาเหตุหลักของปัญหา PM 2.5 ในไทยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ส่งผลให้เกิด PM 2.5 ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ความหนาแน่นของประชากร หรือการจราจร นอกจากนี้การเผาจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีปริมาณการเกิดไฟไหม้สูง ซึ่งพบเห็นได้ที่ชายแดนติดกับเมียนมาและกัมพูชา โดยความถี่การเกิดการเผาไหม้ มักมีจุดเกิดการเผาไหม้ในประเทศเมียนมาบริเวณใกล้กับชายแดนประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ภาคเหนือของประเทศไทยได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณแถวเชียงใหม่
ข้อมูลดาวเทียมพบว่า ในไทยมีการเผาไหม้เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ช่วงต้นปีจะมีระดับการเผาสูงที่สุด โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. นั้น กินพื้นที่เฉลี่ยกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตรตั้งแต่ปี 2544-2563 โดยในเดือน ธ.ค. ถึง ม.ค. ได้รับผลกระทบจากการเผาไหม้มากกว่าเดือน พ.ค. ถึง พ.ย. อย่างมีนัยสำคัญ
จึงไม่น่าแปลกใจ หากความสัมพันธ์ระหว่างการเผาไหม้และ PM 2.5 จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยความสัมพันธ์เชิงบวกนี้จะชัดเจนที่สุดในเดือน ธ.ค. ถึงเดือน พ.ค. เมื่อพิจารณาข้อมูลในเดือน เม.ย. พบว่าการเผาไหม้ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ที่เป็นเดือนที่มีมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งขอบเขตการเผาไหม้ในเดือน เม.ย.อยู่ในระดับสูงมากกว่า 500 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้ค่า PM 2.5 โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 140 (AQI) ถือเป็นระดับที่อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มที่มีความอ่อนไหว
รัฐต้องเฝ้าระวังไฟป่าช่วงฤดูร้อน
การเผาไหม้โดยเฉพาะการเผาไหม้ในเขตป่าไม้กับ PM 2.5 มีความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงระหว่างกัน โดย ณ ระดับการเผาไหม้ที่ต่ำ (1-50 ตารางกิโลเมตร) ระดับ PM 2.5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (1.8 เท่า) อย่างไรก็ตาม เมื่อพื้นที่การเผาไหม้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์นี้ก็จะลดลง นั่นหมายความว่า การเผาไหม้แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพอากาศได้ นอกจากนี้ งานศึกษานี้ยังพบว่าเดือน เม.ย. เป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 พื้นฐานต่ำจะได้รับผลกระทบจากเหตุการเผาไหม้ได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2554 แหล่งที่มาของการเผาไหม้มิได้เกิดการจากการเผาพื้นที่เกษตรแต่เป็นการเผาไหม้ในเขตป่าไม้ ถึงแม้ข้อมูลดาวเทียมยังไม่สามารถแยกสาเหตุการเผาไหม้ได้ ข้อมูลที่มีอยู่ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินนโยบายลดการเผาพื้นที่เกษตรของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเผาไหม้ในเขตป่าไม้ที่เพิ่มมากขึ้นกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของ PM 2.5 ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรเฝ้าระวังและติดตามเพื่อบรรเทาการเกิดไฟป่าและ PM 2.5 ไปพร้อมกันได้ในช่วงฤดูร้อนปีนี้โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเชิงลึกเช่นเดียวกับรายงานนี้ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดและร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นการวางรากฐานในการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่สำคัญต่อไป
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ผู้เขียน :
Hannah O’Sullivan , Researcher, University of Helsinki, hannah.osullivan@helsinki.fi
Krit Sitathani, Assistant Managing Director, krit.s@kasikornresearch.com