ไทยกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจเติบโตลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุด ไตรมาส 1 ปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) เติบโต 1.5% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ส่วนทั้งปี 67 สศช. คาดการณ์เศรษฐกิจจะเติบโตแค่ 2-3% เท่านั้น ซึ่งยังสูงไม่เท่ากับช่วงปี 2561 เติบโต อยู่ที่ 4.1%
ขณะที่สำนักวิจัยต่าง ๆ ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 67 โดยประเมินเศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ จากแรงกดดันการลงทุนและการบริโภคภาครัฐหดตัว รวมถึงภาคส่งออกฟื้นตัวได้ช้า กระทบไปถึงภาคการผลิต ขณะที่ภาคเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรง รวมถึงเศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
สาเหตุเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลง
ในงานเสวนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน” ของสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประชุมคณะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ไม่เติบโตว่า เป็นวิกฤตที่ใหญ่สุด และกำลังจะถูกประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลลิปปินส์กับเวียดนามแซงหน้า ดังนั้นไทยต้องหาทางปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ถ้าหากไม่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยก็ไม่เติบโต และจะไม่เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ
เรื่องแรกต้องเปลี่ยนแปลง คือ เทคโนโลยี เนื่องจากไทยพึ่งพาเพียงญี่ปุ่น เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ซึ่งเริ่มล้าสมัยแล้ว ดังนั้นต้องเปลี่ยนโรงงานของไทยให้เป็นดิจิทัลให้ได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านระบบการเงินของธนาคาร
เรื่องที่สองการพัฒนาคน โดยผลการศึกษาพบว่า เด็กไทยอายุ 6 ขวบ มีไอคิวต่ำประมาณ 80-90 ในขณะที่เด็กทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 100-110 นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กในชนบทมีไอคิวต่ำกว่าเด็กในตัวเมือง และเด็กต่างจังหวัดแถบภาคอีสานและภาคเหนือมีไอคิวต่ำกว่าเด็กในกรุงเทพมหานคร ในระยะต่อไปหากเด็กไทยยังคงมีคิวต่ำกว่ามาตรฐานไปเรื่อย ๆ อาจจะก้าวไปทันโลกที่อยู่ในยุคของโทคโนโลยี
ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ยังทำร้ายทักษะของเด็ก แม้เด็กไทยจะได้เรียนหนังสือตามที่กฎหมายกำหนด แต่ปรากฎว่าผลสอบมาตรฐานออกมาแย่ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีบุคลากรครูไม่เพียงพอต่อการสอนนักเรียน และเมื่อจบการศึกษาออกมาก็จะก้าวไม่ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่ยุคเอไอ (AI) ดังนั้นไทยไม่ได้ขาดเด็กที่ลดลง แต่ขาดเด็กที่มีทักษะ จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ของไทยที่ต้องจัดการ
การเมือง-ระบบราชการ ข้อจำกัดพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้รัฐบาลก็เป็นข้อจำกัดของการพัฒนาประเทศ ดังนี้
– การเมืองไม่ต่อเนื่อง ทำแต่นโยบายระยะสั้นที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจสั้น ๆ แต่นโยบายเชิงโครงสร้าง เรื่องเทคโนโลยี และการพัฒนาคน เป็นนโยบายระยะยาว ทำแล้วไม่ได้คะแนนนิยมจึงไม่เป็นที่สนใจของรัฐบาล จึงสาเหตุที่โครงสร้างของไทยจึงไม่ดีขึ้น
– ระบบราชการคุณภาพลดลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน และกฎหมายเก่าไม่พัฒนาจนเป็นภาระและเกิดต้นทุน กระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชัน รวมถึงการไม่ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
อย่างไรก็ตามหากการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง นโยบายก็จะมีแค่ระยะสั้น และอาจไม่ได้นโยบายที่ประชาชนต้องการ แต่ตนคิดว่าบทบาทที่สำคัญคือ จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ร่วมกันระหว่างคนที่อยู่นานกับการเมืองที่ไม่ต่อเนื่อง ทำยังไงให้สามารถเดินหน้าต่อเนื่องได้ หรือ เอกชนและนักวิชาการจะต้องช่วยกันตกผลึกวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยต้องการอะไร แล้วรวมพลังกันเรียกร้อง
จากวิกฤตต้มยำกุ้งสู่เงินทุนไหลออกประเทศ
ศุภวุฒิ สายเชื้อประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เล่าถึงภาวะเศรษฐกิจไทยหลังฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 5 ปี โดยไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากส่งออกสินค้าและบริการไปต่างประเทศมากขึ้น จนกระทั่งในช่วงปี 2547-2544 เศรษฐกิจไทยก็เริ่มเติบโตช้าลง จีดีพี (GDP) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4% ต่อปี ถูกปัจจัยกดดันวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และน้ำท่วมใหญ่ แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้จากภาคส่งออกที่ขยายตัวกว่า 13.2% ต่อปี เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2.5% ต่อปี มีเงินทุนหมุนเวียนไหลเข้าราว 7,000 ล้านเหรียญต่อปี
แต่ในขณะนั้นไทยมีการดุลการชำระเงิน 7,200 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งเกิดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปแทรกแซงค่าเงินด้วยการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และขายเงินบาทออกไป ทำให้เงินทุนสำรองของ ธปท. เพิ่มขึ้นจาก 50,000 ล้านเหรียญ มาอยู่ที่ 1.75 แสนล้านเหรียญในปี 2552 สาเหตุที่ ธปท.ดำเนินการเช่นนี้ เพราะต้องการไม่ให้เงินบาทแข็งค่า
ประธานสภาพัฒน์ ได้ยกทฤษฏีของ Harry G. Johnson นักเศรษฐศาสตร์ชาวแคนาดา ว่าประเทศใดมีการเกินดุลชำระเงินต่อเนื่องยาวนาน สะท้อนให้เห็นว่าซับพลายเงินน้อย และความต้องการเงินมีสูงกว่าซับพลายตลอดเวลา นโยบายการเงินจึงค่อนข้างตึง
สำหรับประเทศขนาดเล็กในช่วง 60 ปีก่อน ที่เปิดให้เงินทุนไหลเข้า-ออกได้เสรี นโยบายการเงินมักจะมีศักยภาพสูงกว่านโยบายการคลังอย่างมาก
ในปี 2555-2559 จีดีพีไทย ยังคงเติบโตเฉลี่ย 3.5% ต่อปีเช่นเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างคือภาคส่งออกสินค้าติดลบ เพราะนักท่องเที่ยวขยายตัวในปี 2555 ถือเป็นปีแรกที่ไทยเกินดุลบัญชีบริการ และท่ามกลางการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างมาก ในปี 2559 การเกินดุลบริการก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 20,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของการส่งออกทั้งหมด
ขณะเดียวกันไทยเริ่มมีเงินทุนไหลออกประเทศเฉลี่ย 8,500 ล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่ ธปท.ก็ยังคงต้องแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะไทยมีการเกินดุลชำระเงินเฉลี่ย 3,600 ล้านเหรียญต่อปี ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นต่อเนื่อง ศุภวุฒิ ตั้งคำถามว่าประเทศกำลังพัฒนา แต่เหตุใดจึงยอมเสียโอกาสให้เงินทุนไหลออก แทนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต
เวลาคุณเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่ากำลังซื้อมีไม่พอกับกำลังผลิตของประเทศ ทำไมเราไม่ควรจะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยการขยายการลงทุน การผลิต และการบริโภคให้มากกว่านี้
ในปี 2560-2562 ภาวะดังกล่าวในไทยก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นต่อไปอีก แม้ภาคส่งออกเริ่มเติบโต แต่ภาคท่องเที่ยวยังคงเกินดุลเฉลี่ย 4,000 ล้านเหรียญต่อปี และที่น่ากลัวคือเงินไหลออกประเทศหนักมากขึ้นเฉลี่ย 12,000 ล้านเหรียญต่อปี
สรุปเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ดุลบริการของไทยเริ่มเกินดุลในปี 2555 เงินทุนไหลออกประเทศต่อเนื่องในปี 2556 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2558 และเงินเฟ้อไทยก็ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกามาจนถึงปัจจุบันที่ 0.8% สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่านโยบายการเงินของไทยตึงตัวเกินไป จากการที่เงินทุนไหลออก แต่ธปท.ยังคงต้องแทรกแซงค่าเงิน อีกทั้งเกินดุลชำระเงิน และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก
หลังจากผ่านช่วงโควิด-19 หากไทยยังคงตั้งความหวังให้ภาคส่งออก และท่องเที่ยวเติบโต ทุกอย่างก็จะยังเหมือนเดิม เพราะมีแต่เงินทุนสำรองของ ธปท.ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยกลับไม่ขยายตัวได้ดี ขณะที่เงินทุนที่ไหลออกไทยตั้งแต่ 2556-2664 รวมอยู่ที่ 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพีในปัจจุบัน (คิดในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 36.70 บาทต่อดอลลาร์) ถือเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะนำเงินทุนดังกล่าวมาลงทุนในไทย
ในอนาคตหลายสิบปีข้างหนี้ ไทยกำลังจะมีเด็กเกิดใหม่น้อยลง และมีผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถรองรับปัญหานี้ได้ อีกทั้งยังมีเรื่องการหาพลังงานสะอาดมาทดแทนพลังเก่าที่กำลังจะหมดลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ไทยควรจะต้องหาจุดยืนที่เหมาะสม ท่ามกลางห่วงโซ่อุปทานโลกที่กำลังจะถูกแบ่งแยก
นอกจากนี้ มองว่าภาคการเกษตรควรต้องได้รับการดูแลมากที่สุด เพราะคิดเป็นสัดส่วน 6.3% ต่อจีดีพี แต่มีสัดส่วนแรงงานคิดเป็น 30% ของประเทศ แต่กลับกันจีดีพีต่อผลิตแรงงานคิดเป็น 0.2% เท่านั้น และผลผลิตภาคการเกษตรเทียบกับภาคอุตสาหกรรมก็ต่างกันมากถึง 9 เท่า
ดังนั้นไทยควรพัฒนาภาคเกษตรไปพร้อมกับภาคอุตสาหกรรม