สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่ได้หมดห่วงเรื่องเงินเกษียณอย่างที่คิด หลังพบว่าสมาชิกราว 82% มีความเสี่ยงที่จะมีเงินใช้ยามเกษียณเพียงพอในระดับดี เนื่องจากปัญหาหนี้สิน ไม่ได้เตรียมที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปี
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ระบุว่าผลศึกษาความเพียงพอ ณ เกษียณของสมาชิก กบข. ในปัจจุบัน พบว่า สมาชิกสัดส่วนมากถึง 82% (ซึ่งอยู่ในแผนหลักเดิม) จากทั้งหมด 1.2 ล้านคน มีโอกาสที่จะไม่บรรลุเป้าหมายความเพียงพอ ณ เกษียณในระดับดี โดยปัจจัยหลักมาจาก
- มีภาระหนี้สิน สมาชิก กบข. อายุ 55-60 ปี มีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 1.96 ล้านบาท
- ไม่มีที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ เพราะอาศัยบ้านพักข้าราชการโดยไม่ได้เตรียมการด้านที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ
- ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี
- อายุเกินค่าเฉลี่ย 80 ปี
- มีเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงิน
กบข.ตั้งเป้าหมายที่จูงใจสมาชิกที่อยู่ในแผนการลงทุนหลัก (แบบเดิม) ซึ่งมีสัดส่วน 82% ของสมาชิกทั้งหมด เปลี่ยนไปลงลงทุนในแผนสมดุลตามอายุภายใน 10-20 ปี ข้างหน้านี้ ด้วยการนำเสนอผ่านการลงทุนให้กับสมาชิกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีเวลาศึกษาข้อมูล และไม่ทราบด้วยว่าสามารถเปลี่ยนแผนการลงทุนได้
แนวโน้มสมาชิกของกบข. เป็นไปในทิศทางเดียวกับสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 80.9 ปี มีรายได้หลักมาจากบุตรหลาน 35.7% จากการทำงาน 33.9% จากเบี้ยยังชีพ 13.3% จากเงินบำเหน็จบำนาญ 6.8% จากคู่สมรส 5.6% และจากเงินออม ขายทรัพย์สิน 1.6%
เงินเก็บเกษียณระดับดี ขั้นต่ำ 8.63 ล้านบาท
จากการประมาณการของกบข. ได้มีการแบ่งระดับเงินเก็บของสมาชิก ซึ่งเป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายต่อเดือน ณ ปี 2567 ของสมาชิกในวัยเกษียณไว้ 3 ระดับ คือ
- ระดับพื้นฐานทั่วปี (P50) มีค่าใช้จ่าย 26,142 บาทต่อเดือน ควรมีเงินเก็บ 6.22 ล้านบาท
- ระดับดี (P75) มีค่าใช้จ่าย 36,288 บาทต่อเดือน ควรมีเงินเก็บ 8.63 ล้านบาท
- ระดับดีมาก (P90) มีค่าใช้จ่าย 58,246 บาทต่อเดือน ควรมีเงินเก็บ 13.85 ล้านบาท
เมื่อคำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 2% ต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า เงินที่ควรมีในวัยเกษียณจะต้องเพิ่มมากขึ้น ดังนี้
- ระดับพื้นฐานทั่วปี (P50) ควรมีเงินเก็บ 11.49 ล้านบาท
- ระดับดี (P75) ควรมีเงินเก็บ 15.94 ล้านบาท
- ระดับดีมาก (P90) ควรมีเงินเก็บ 25.59 ล้านบาท
ทั้งนี้ กบข.เตรียมผลักดันสื่อสารให้สมาชิกออมเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนแผนการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือเลือกเปลี่ยนแผนการลงทุนมาอยู่ในแผนสมดุลตามอายุ เพื่อเพิ่มโอกาสให้สมาชิกสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน
เขายังมีโอกาสในการเตรียมตัว และในการที่จะสะสมเงินในระหว่างทาง ถ้าหากเขาสะสมเงินเพิ่มมานิดหน่อย อาจจะปรับจาก 82% ลดลงไปเหลือ 70% 60% 50% ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ กบข.จะต้องสื่อสาร และทำความเข้าใจกับสมาชิกเพิ่มขึ้น ตัวเลขยิ่งเยอะไม่ดี เพราะอาจไม่บรรลุเป้าหมายเงินก้อนระดับดี
ผลตอบแทนกบข.ปี 67 เพิ่ม 4.12%
สำหรับผลดำเนินการของกบข. ณ สิ้นปี 2567 มีขนาดกองทุนเพิ่มขึ้น 1.06 แสนล้านบาท รวมมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (รวมเงินสำรอง) อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่ 1.28 ล้านล้านบาท และภายในสิ้นปี 2569 กบข.ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ให้ถึงระดับ 1.6 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมา กบข.ได้สร้างทางเลือกให้กับสมาชิก สามารถกำหนดแผนการลงทุนได้ โดยผลตอบแทนตอบแทน พบว่าตามแผนสมดุลตามอายุ (สัดส่วนใหม่เริ่มปี 2566 ) 8.93% แผนทองคำ 24.67% และแผนหลัก (เดิม) 3.73% ซึ่ง กบข. สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวชนะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังบวก 2%
ในปี 2567 แผนสมดุลตามอายุ สมาชิกที่มีอายุน้อยกว่า 51 ปี ได้ผลตอบแทน 8.93% สมาชิกอายุ 55 ปี ได้ผลตอบแทน 6.41% และสมาชิกอายุมากกว่า 59 ปี ได้ผลตอบแทน 4.43% ซึ่งทั้งหมดได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าแผนหลักเดิมที่ 3.73%
ทั้งนี้ แผนสมดุลตามอายุ เป็นการลงทุนที่เน้นความเพียงพอของการออม เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอายุเป็นหลักโดยมีสัดส่วนการลงทุนตราสารหนี้น้อยลง และเพิ่มการลงทุนในตราสารทุนที่สูงขึ้น ในช่วงที่มีอายุไม่มาก เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว แม้ผลตอบแทนรายปีอาจผันผวนหรือติดลบได้มากขึ้น ทั้งนี้กบข.จะทยอยลดการลงทุนในตราสารทุนไปเป็นตราสารหนี้ตามลำดับโดยอัตโนมัติ เมื่ออายุสมาชิกมากขึ้น เพื่อลดความผันผวนของเงินลงทุน
สำหรับปี 2568 กบข. ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวที่ 2.10% ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ด้านเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.4-2.8% จากแนวโน้มดังกล่าว กบข. มีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์กลุ่มเติบโต โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นตลาดพัฒนาแล้ว พร้อมกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้เพื่อลดความผันผวน ขณะเดียวกัน ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ แต่ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง
กบข. ยังคงติดตามปัจจัยเสี่ยง จากนโยบายการคลังและภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด พร้อมปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่สมาชิก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง