สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องร้องทุกข์และรับฟังความเห็นจากประชาชน ในไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 68 (ต.ค.-ธ.ค. 67) ระบุว่ามีจำนวนเรื่องร้องทุกข์ 14,530 เรื่อง น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
สปน.มีช่องทางเปิดให้ประชาชนร้องทุกข์ มี 6 ช่องทาง คือ สายด่วนของรัฐบาล 1111 , ตู้ ปณ. 1111/ไปรษณีย์/โทรสาร , ไลน์สร้างสุข (@PSC1111) ,โมบายแอปพลิเคชัน PSC 1111 , จุดบริการประชาชน 1111 และ เว็บไซต์ www.1111.go.th
เรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุดในไตรมาสแรก คือ เสียงรบกวนและแรงสั่นสะเทือน เช่น เสียงดังจากร้านอาหารสถานบันเทิงที่มีการเปิดเพลง การเล่นดนตรีสด การจัดงานรื่นเริงที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง การจุดพลุและดอกไม้ไฟ การรวมกลุ่มดื่มสุรา การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยมีการร้องเรียน 1,510 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,371 เรื่อง หรือ 90.79%
การร้องเรียนเรื่อง เสียงรบกวน แซงหน้าเรื่อง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่มีคนร้องเรียนเป็นอันดับ 2 ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงผ่านทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ หลอกลวงให้ซื้อสินค้าหลอกลวงให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ หลอกลวงให้โอนเงิน กดลิงก์/ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน ถูกแอบอ้างข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เปิดบัญชีธนาคาร รวม 1,204 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 873 เรื่อง หรือ 72.51%
แต่การร้องเรียน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งในไตรมาสที่ 1 ฝยประมาณปี 67 จำนวน 488 เรื่อง เพิ่มขึ้นจำนวน 716 เรื่อง แสดงให้เห็นว่าปัญหาการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทำให้เกิดความวิตกกังวลใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
เสียงดัง/เสียงรบกวน ติดอันดับ 3 ปัญหามลพิษ
กรมควบคุมมลพิษ รายงานการร้องเรียนเรื่องมลพิษใน 6 เดือนแรกของงบประมาณปี 68 ระบุว่าประเภทปัญหามลพิษที่ได้รับการร้องเรียนสูงสุด คือ ปัญหากลิ่นเหม็น จจำนวน 378 ประเด็น คิดเป็น 40.2% รองลงมา คือ ฝุ่นละออง/เขม่าควัน จำนวน 247 ประเด็น คิดเป็น 26.2% และเสียงดัง/เสียงรบกวน จำนวน 150 ประเด็น คิดเป็น 15.9%
จากเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า “มลพิษทางเสียง” เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของไทย รองจากเรื่อง “กลิ่นเหม็น” และ “ฝุ่นละออง/เขม่าควัน”
ปัญหารุนแรงขึ้น แต่ไร้กฎหมายควบคุม
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางเสียงที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและเขตหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหนคร ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก และมีพื้นที่จราจรหนาแน่นหลายแห่ง ซึ่งกรุงเทพฯ เคยติดอันดับ 9 ในการจัดอันดับเมืองเสียงดังที่สุดในโลก ด้วยระดับเสียงสูงถึง 99 เดซิเบล
กรุงเทพฯ นับว่าเป็นเมืองเสียงดังติดอันดับโลก โดยมีระดับเสียงเฉลี่ยในบางพื้นที่สูงถึง 74 เดซิเบล เช่นย่านพาหุรัด และบางช่วงเพิ่มขึ้นถึง 98.7 เดซิเบลในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งเสียงดังจากการจราจรบนท้องถนนยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนในชุมชน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ และมีกิจกรรมหลากหลายมาก ทำให้แหล่งมลพิษทางเสียงมีจุดกำเนิดมาจากหลายแหล่ง โดยต้นเหตุสำคัญมาจากการจราจรที่หนาแน่น การก่อสร้าง และกิจกรรมในชุมชน โดยเฉพาะคอนเสิร์ตและสถานบันเทิง
ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดทำร่างแผนจัดการมลพิษทางเสียงระยะ 15 ปี (2566-2580) ครอบคลุม 8 ประเภทแหล่งกำเนิดเสียง แต่สิ่งสำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอย่างจริงจัง
หากไม่มีการควบคุม “มลพิษทางเสียง” อาจจะกระทบความเป็นอยู่และสุขภาพของคนในชุมชนที่เจอกับปัญหาเสียงดังเกินมาตรฐาน เนื่องจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางเสียงมาจากหลายแหล่ง ซึ่งหากคนได้ยินเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ต่อเนื่องนานอาจทำให้สูญเสียการได้ยินได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและผู้สูงอายุอาจได้รับผลกระทบด้านพัฒนาการหรือความเครียด
จากข้อมูลปี 64 พบผู้พิการทางการได้ยินในไทยเกือบ 4 แสนคน ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเสียงรบกวนในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามลพิษทางเสียงส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และรุนแรงไม่ต่างจากมลพิษด้านอื่น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ความสุขคนไทยลด ปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น