การตายจากอุบัติเหตุจากท้องถนนเป็นอันดับ 5 จากการเสียชีวิตทั้งหมดของประเทศไทย โดยในปี 2566 กรมควบคุมโรครายงานมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนทั้งหมด 17,498 คน เป็นผู้ใช้จักรยานยนต์ 14,348 คน
ขณะที่องค์การอนามัยโลก รายงานคนเดินถนนในประเทศไทยเสียชีวิตจากจักรยานยนต์ชนมากที่สุด และยังติดอันดับโลกในฐานะประเทศที่มีอัตราผู้ใช้จักรยานยนต์เสียชีวิตต่อปีมากที่สุดใน ทุก 37 นาทีจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ 1 คน
ปัญหาการขับขี่ไม่ปลอดภัยของจักรยานยนต์ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้มงวดของกฎหมายใบอนุญาตขับขี่ โดยงานวิจัยของ “อัชราภรณ์ อริยสุนทร” นักวิจัย ด้านกฎหมายดิจิทัลและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ได้ศึกษา การยกระดับการเดินทางที่ปลอดภัย ผ่านการปรับปรุงปัจจัยด้านคน ของผู้ขับขี่จักรยานยนต์
จากสถานการณ์ความปลอดภัยทางท้องถนนของประเทศไทยข้อมูลที่ได้รับการแจ้งอุบัติเหตุปี 2565 -2566 เสียชีวิต 11,043 คน บาดเจ็บ 626,001 คน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ สะสมจากอุบัติเหตุทางถนน ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินการด้านความปลอดภัยทางท้องถนนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุเสียชีวิต (2561-2565) กว่า 613,346,697,334 บาท
ขณะที่ 5 อันดับแรกของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความบกพร่องและไม่ชำนาญ ของผู้ขับขี่ โดยพบว่า สถิติของอุบัติเหตุบนท้องถนนปี 2563-2564 มาจากการขับเร็วเกินอัตรากำหนด 81 % ตัดหน้ากระชั้นชิด 9% หลับใน 4 % เมาสุรา 4 % ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร 2 %
ความบกพร่องและไม่ชำนาญของผู้ขับขี่ ส่วนหนึ่งมาจากระบบออกใบอนุญาตสำหรับผู้ขอรับใบขับขี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่อาจจะมีคามเข้มงวดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะใบขับขี่ใบแรก
ปัญหา “การออกใบขับขี่ชั่วคราว”
ใบขับขี่ชั่วคราวที่ถือเป็นใบขับขี่ใบแรกของคนไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะของรถ คือ ใบขับขี่ชั่วคราวรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และ รถสามล้อ โดยกระบวนการขอใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขับขี่ต้องรับอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมงรายวิชาต่อไปนี้ คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การขับรถอย่างปลอดภัย จิตสำนึกและมารยาทในการขับรถ และข้อปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินและการให้ความช่วยเหลือและการปฐมพยาบาล
นอกจากนี้กำหนดให้มีการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ทดสอบความสามารถในการเบรกเท้า การทดสอบสายตา การทดสอบสายตาทางลึก การทดสอบการมองเห็นสีที่จำเป็นต่อการขับรถ และต้องการทดสอบข้อเขียน ต้องทำคะแนน 45 ข้อ ขึ้นไปจากข้อสอบทั้งหมด 50 ข้อ ซึ่งคิดคะแนนเป็น 90 %ของการสอบทั้งหมด
นอกจากนี้ต้องมีการทดสอบขับรถ โดยทดสอบ 3ท่าจากการทดสอบทั้งหมด 5 ท่า แบ่งออกเป็น
- ท่าที่ 1 การขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
- ท่าที่ 2 การขับรถทรงตัวบนทางแคบ
- ท่าที่ 3 การขับรถผ่านทางโค้งรัศมีแคบรูปตัวแซด
- ท่าที่ 4 การขับรถผ่านทางโค้งซ้ายและขวารูปตัวเอส
- ท่าที่ 5 การขับรถหลบหลีสิ่งกีดขวาง
ใบอนุญาตขับขี่รถชั่วคราวกำหนดคุณสมบัติ เรื่อง เกณฑ์อายุที่กำหนดเอาไว้ 2 ประเภท คือ 1.รถจักรยายนต์ที่มีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 110 ลบ.ซม. และ 2 .รกจักรยานยนต์ทั่วไป เกิน 110 ลบซม.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
นอกจากนี้ยังกำหนดเงื่อนไขการใช้ใบขับขี่ชั่วคราว โดยจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่าประเภทอื่น คือ ผู้ขับขี่ชั่วคราวต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ถือใบขับขี่ชนิดอื่นควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยใบขับขี่ชั่วคราวมีอายุ 2 ปี ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่ใบขับขี่เต็มรูปแบบ
ขาดการทดสอบ”ทักษะประเมินความเสี่ยง”
อย่างไรก็ตามงานวิจัยพบว่าปัญหาการเปลี่ยนผ่านจากใบขับขี่ชั่วคราวไปสู่ใบขับขี่เต็มรูปแบบ ยังมีปัญหาในกระบวนการออกใบอนุญาตขับขี่ โดยเฉพาะท่าทดสอบไม่ครอบคลุมทักษะที่จำเป็นต่อการขับขี่อย่างปลอดภัยและการปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
แม้กฎหมายกำหนดท่าทดสอบสำหรับจักรยายนต์จำนวน 5 ท่า แต่ผู้ขอใบอนุญาตขับขี่สามารถเลือกทดสอบได้ 3 ท่าเท่านั้น ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น เยอรมัน กำหนดให้มีทดสอบภาคปฏิบัติ โดยการทดสอบขับขี่บนถนนจริงเป็นเวลา 55 นาที และผู้ขับขี่ต้องสอบผ่านทั้งหมด 8 ท่าทดสอบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงต้องมีการทดสอบที่ขับขี่เพื่อความปลอดภัย เช่น ทดสอบการขับขี่บริเวณทางม้าลาย การเปลี่ยนเลน การขับในวงเวียน การปฏิบัติตาม สัญญาณจราจร เป็นต้น
“การออกใบอนุญาตขับขี่ของไทย กำหนดให้มีการทดสอบจาก 3 จาก 5 ท่า และไม่ครอบคลุมทักษะที่จำเป็นในการขับขี่ปลอดภัยในการขับขี่จริง เช่นการทดสอบการเดินทางข้ามถนนและทางม้าลายทั้งป้ายหยุดและป้ายทางข้าม ซึ่งการทดสอบดังกล่าวจะช่วยประเมินได้ว่าผู้ขับขี่คนนี้จะทำพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ไม่ปลอดภัยหรือไม่”
ตัวอย่างในต่างประเทศมีข้อกำหนดชัดเจน ในเรื่องของการทดสอบการประเมินความเสี่ยงการขับขี่ไม่ปลอดภัย ทั้งในรูปแบบของการอบรมและทดสอบทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception) ที่ถือเป็น ทักษะที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับขี่ เพราะสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นบนท้องถนน และการตัดสินใจหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นทักษะที่คาดการณ์จากสถานการณ์จริง
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามที่จะทดสอบการประเมินความเสี่ยงการขับขี่ไม่ปลอดภัย โดย กรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มเนื้อหา การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception) บรรจุในหลักสูตรการอบรมภาคทฤษฎีของทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และ เพิ่มการสอบเรื่องการคาดการณ์อุบัติเหตุ แต่ทำในรูปแบบการสอบปรนัย ไม่ใช่การทดสอบจริง
ไม่มีใบอนุญาตขับขี่เฉพาะ Big bike
ดังนั้น ปัญหาที่พบในกระบวนการออกใบอนุญาตขับขี่ คือ หลักเกณฑ์การทดสอบยังไม่ครอบคลุมทักษะที่จำเป็นต่อผู้ขับขี่ เนื่องจากไม่มีการทดสอบ ประเมินความเสี่ยงการขับขี่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาความปลอดภัยในการขับขี่ได้
นอกจากนี้ยังพบว่า การออกใบขับขี่จักรยายนต์มีปัญหา ข้อกำหนดการอบรมทักษะเพิ่มเติมสำหรับรถจักรยานยนต์ Big bike ที่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ในทางปฏิบัติ ขณะที่การขับขี่บิ๊กไบค์ได้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ทักษะ และประสบการณ์ยิ่งกว่าการขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วไป เนื่องจากต้องควบคุมเครื่องยนต์ที่มีความเร็วและแรงมากกว่าผู้ขับขี่จักรยานยนต์ทั่วไป
อย่างไรก็ตามพบว่า การออกใบอนุญาตขับขี่รถ Big bike ยังไม่มีสภาพบังคับ เพราะ ไม่มีข้อกำหนดใน พ.ร.บ. รถยนต์ฯ จึงใช้ใบอนุญาตขับขี่จักรยานยนต์แบบเดียวกันกับรถจักรยานยนต์ทั่วไป
“การดำเนินการออกใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ไม่ได้แยกประเภทตามชนิดของรถแม้จะมีการแยกประเภทตามขนาดรถจักรยานยนต์ แต่ก็ยังพบปัญหาไม่มีการบังคับใช้จริง โดยยังมีการออกใบอนุญาตขับขี่ให้ผู้ที่มีอายุ 15 ปีกับรถที่มีขนาดเกินกว่า 110 ลบซม.แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และยังไม่มีกฎหมายครอบคลุมรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 250 – 399 ลบซม ทำให้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถ Big bike”
นอกจากนี้ยังพบปัญหาการออกใบอนุญาตขับขี่ขาดการให้ความสำคัญกับการควบคุมแอลกอฮอล์ แม้จะมีการควบคุมจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่ยังถือเป็นอัตราสูง เมื่อเทียบกับเงื่อนไขจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ถือใบขับขี่ชั่วคราวในต่างประเทศ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ หรือ มีปริมาณ แอลกอฮอล์ 0.0%
ขณที่ยังขาดการประเมินผลการขับขี่ก่อนเปลี่ยนไปใช้ใบอนุญาตแบบเต็มรูปแบบ โดยไม่ต้องอบรมหรือทดสอบทักษะเพิ่มเติม ขณะที่ในต่างประเทศ มีระบบ Graduated Driver License (GDL ) โดยมีเงื่อนไขในการจำกัดความเร็ว และควบคุมแอลกอฮอล์ และการขับขี่ โดยมีผู้ควบคุมมีการลำดับขั้นตอนก่อนที่จะได้ใบอนุญาตขับขี่เต็มรูปแบบ
“ปัญหาที่เราพบคือใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวยังไม่มีการกำหนดให้บันทึก 1 ปี ชั่วโมงการขับขี่ประสบการณ์ในการขับขี่ ซึ่งทำให้ขาดการติดตามประเมินผลทักษะการขับขี่ในระหว่างที่ผู้ขับขี่ ยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น และการเปลี่ยนไปใช้ใบอนุญาตขับขี่อย่างเต็มรูปแบบไม่มี เงื่อนไขเพิ่มเติมหรือการประเมินผลการขับขี่ในช่วงระยะเวลาที่ถือครองใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว”
ข้อเสนอการปรับระบบใบอนุญาตขับขี่ของไทย
- ต้องทบทวนหลักเกณฑ์การอบรม ทดสอบ โดยปรับปรุงท่าทดสอบให้ครอบคลุมทักษะที่จำเป็นต่อการขับขี่อย่างปลอดภัย
- แนวทางการอบรมและทดสอบการรู้จักคาดการณ์อุบัติเหตุ หรือ Harzard perception ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญต่อการขับขี่บนถนนจริง
- พัฒนาแนวทาการติดตามประเมินผลทักษะผู้ขับขี่ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่ใบอนุญาตเต็มรูปแบบ โดยให้มีการบันทึกชั่วโมงการขับขี่ประสบการณ์ในการขับขี่ และประเมินความสามารถของผู้ขับขี่อีกครั้งก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่ ใบอนุญาตเต็มรูปแบบ
- ทบทวนการกำหนดเงื่อนไขสำหรับใบขับขี่ชั่วคราว เช่น การจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ การจำกัดความเร็ว และการกำหนดให้มีผู้ควบคุมนั่งไปด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้งหมด ถือเป็น การยกระดับการออกใบอนุญาตใบขับขี่จักรยานยนต์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้ผู้ขับขี่คำนึงถึงความปลอดภัยของการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
พัฒนา “รถ-คน-ถนน-โครงสร้าง” ข้อเสนอลดสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน