ข้อถกเถียงการแก้ปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ บัตรทอง ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข้อสรุปร่วมกันว่า “ระบบบัตรทอง” ต้องไปต่อแต่จะสร้างความยั่งยืนให้ได้ โดยมีข้อเสนอจาก “เวทีการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับประเทศ ประจำปี 2568” (ครั้งที่ 22)
การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ Policy Watch – The Active ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมจัดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนออย่างครอบคลุม รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ สู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)
การรับฟังความเห็นแบ่งออกเป็นกลุ่มผู้ให้บริการ ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาล หน่วยบริการ คลินิกชุมชน และผู้รับบริการ หมายถึงผู้ป่วย เครือข่ายผู้ป่วย และผู้บริโภค โดยจัดให้ความเห็นใน 4 ด้าน ประกอบด้วย
- ด้านประเภทและขอบเขตบริการ: มีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น อาทิ ขยายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA ให้เริ่มที่อายุ 25 ปี , เพิ่มการคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มเสี่ยง , เพิ่มยาจำเป็นหลายรายการ และสิทธิประโยชน์ฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศ เป็นต้น
- ด้านมาตรฐานบริการ: มีข้อเรียกร้องให้กำกับคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการเอกชน, เร่งรัดการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยให้ชัดเจน และเสนอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ของหน่วยบริการทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นต้น
- ด้านการบริหารจัดการกองทุน: ข้อเสนอสำคัญคือการเสนอให้แยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว , ปรับเพิ่มเพดานการจ่ายชดเชยตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (AdjRW) เป็น 12,000 บาท และเพิ่มงบประมาณสนับสนุนกองทุนสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) และกองทุนดูแลระยะยาว (LTC) เป็นต้น
- ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ: มีการเสนอให้เผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิในสถานศึกษา , แก้ไขปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้รับบริการอย่างเป็นระบบ , สนับสนุนศูนย์คุ้มครองสิทธิภาคประชาชน และจัดทำสื่อที่รองรับความต้องการของคนพิการ เป็นต้น
เร่ง “คาร์บ” ลดโรค NCDs ประหยัดงบ 1,000 ล้าน
ผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นฯทั้งหมดได้มอบให้กับ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยระบุว่า เชื่อว่าความคิดเห็นและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จะสามารถนำไปต่อยอดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดีขึ้น ตรงกับความต้องการประชาชน และพร้อมผลักดันข้อเสนอที่เป็นประโยชน์สู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนมุมมองในการแก้ปัญหางบประมาณ “สมศักดิ์” เห็นว่า หากมีการบริหารจัดการในเรื่องของการป้องกันโรคทำให้ผู้ป่วยลดลง ก็ไม่ต้องกลัวว่างบประมาณจะไม่เพียงพอ โดยหากวิเคราะห์จากผู้ป่วยนอกมาใช้บริการ 220 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs ราว 176 ล้านครั้ง ถ้าหยุดสาเหตุของโรคนี้ได้ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ
“เราต้องทำในเรื่องการส่งเสริมป้องกัน ซึ่งผมได้ให้แนวทาง อสม. เข้าไปจะช่วยหยุดคนป่วยได้จำนวนมาก เช่น นับคาร์บ จึงมองว่าแทนที่บุคลากรทางการแพทย์จะไม่ครบ จะกลายเป็นตรงกันข้ามในอีก 2 ปี ซึ่งปัจจุบันสปสช.สนับสนุนเรื่องโรค NCDs ช่วงระยะเวลาสั้นทำตัวเลขออกมาสามารถประหยัดเงินไปได้ 1,000 กว่าล้านบาทจากโรคเบาหวาน และความหนาแน่น แออัดในโรงพยาบาลก็จะลดลง
สมศักดิ์ บอกว่า ข้อเสนอจากเวทีรับฟังความคิดเห็น สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เชื่อว่าความคิดเห็นและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จากการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปพัฒนาต่อยอดระบบบัตรทองให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ตรงตามความต้องการของประชาชนในฐานะเจ้าของหลักประกันสุขภาพ”
บัตรทองต้องแก้ปัญหา “ใบส่งตัว”
ขณะที่เวที “Policy Forum ครั้งที่ 43 : Move On ‘บัตรทอง’ ไปต่อ ไม่ติดหล่ม” โดยเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ทั้งจากผู้ให้บริการภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รวมถึงผู้รับบริการ สำหรับผู้ให้บริการภาครัฐ มีข้อสรุปร่วมกันว่า บัตรทองต้องไปต่อแต่ต้องมีความยั่งยืน ซึ่งต้องพัฒนาระบบงบประมาณ ให้เกิดความยุติธรรม เท่าเทียม
ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมากว่า 22 ปี กล่าวว่า “บัตรทอง” ทำให้เข้าถึงการรักษา ป้องกันการล้มละลาย และสร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ แต่ยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ เช่นผู้ป่วยโรคหายาก (Rare Disease) ยังเข้าไม่ถึงยาและนวัตกรรมการจำกัดจำนวนผู้รับบริการในแต่ละวัน ขณะที่ยังมีปัญหาความยุ่งยากในการส่งต่อ และการใช้ใบส่งตัว
ส่วนช่องทางร้องเรียนและสื่อสารที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง บางสิทธิประโยชน์ที่ประกาศใช้จริง กลับใช้ไม่ได้จริง เช่น OP Anywhere หรือการบอกว่าผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่กลับมีค่าใช้จ่ายแฝง โดยเฉพาะยานอกบัญชี
ข้อเสนอของ “ธนพลธ์” เสนอให้การจะพัฒนา บัตรทอง 30 บาท เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการ ใน 5 ประเด็นคือ
- ต้องทำให้เข้าถึงบริการในการรักษาพยาบาลเรื่องยานวัตกรรมใหม่ๆในทุกมิติ และเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันบางกลุ่มที่เข้าถึงการบริการได้ไม่ครบถ้วน เช่น โรคหายาก ทั้งการคัดกรอง วินิจฉัย การรักษา ยา ระบบส่งต่อ หน่วยบริการรองรับ แพทย์เฉพาะทาง หรือนวัตกรรมยารักษา ปัจจุบันยาบางตัวมีในประเทศ แต่ไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงยาได้
- ระบบส่งต่อ ต้องลดขั้นตอนไม่ให้ซับซ้อน ไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการเดินทาง เนื่องจากบางครั้งเดินทางไปแล้วแต่มีการจำกัดเรื่องจำนวนผู้ป่วยทำให้ต้องเสียเวฃา
- ช่องทางการสื่อสารระหว่าง สปสช. กับ รพ.เป็นระบบออนไลน์ ที่ใช้ได้จริงและแก้ปัญหาให้คนไข้ได้จริง
- การให้สิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ที่ออกมาแล้ว สปสช.ต้องมีการติดตามในสิทธิประโยชน์ว่าใช้ได้จริง หรือเข้าถึงบริการจริงหรือไม่ เช่น 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่ง
- ต้องไม่มีการเรียกเก็บเงินส่วนต่างการรักษาทุกกรณีจากผู้ป่วย คนไข้ ญาติ ยกเว้นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้าแพทย์สั่งแล้วช่วยให้คนไข้มีชีวิตรอด ต้องดูรายละเอียดว่าสปสช.สามารถสนับสนุนได้หรือไม่
อยากเห็นมาตรฐานเดียวทุกกองทุน
ด้าน สุริยา สมสีลา จากมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ เสนอว่า ต้องการให้ผู้พิการจำนวนมากเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น รถเข็น หรือแม้แต่แพมเพิร์ส ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณและการจัดสรรที่ไม่ทั่วถึง
ขณะที่ สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ว่า ระบบบัตรทองจะเดินหน้าได้ โดยต้องอาศัย 3 ส่วนหลักร่วมกันคือความสนใจและเจตจำนงทางการเมืองการมีส่วนร่วมของประชาชนความทุ่มเทของบุคลากรสาธารณสุข แต่อย่างไรก็ตามอยากจะเห็นประชาชนไม่ควรถูกจำกัดด้วยคำว่า “บัตรทอง” หรือ “ประกันสังคม” แต่ต้องได้รับการดูแลโดยใช้ “บัตรประชาชนใบเดียว” เข้าถึงทุกกองทุนอย่างไร้รอยต่อ
“กองทุนสุขภาพต้องมีมาตรฐานเดียวกัน และควรบูรณาการให้ระบบทำงานร่วมกันได้ แม้ไม่จำเป็นต้องรวมเป็นกองทุนเดียว แต่อย่างน้อยต้อง “เท่าเทียม” และไม่ซ้ำซ้อน เช่น กรณี รักษาทุกที่ ที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับบริการนอกพื้นที่ขึ้นทะเบียนได้ เพราะระบบยังไม่ออนไลน์ถึงกันตามกฎหมายมาตรา 5 ระบุว่า ทุกคนต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งคณะกรรมการระบบสุขภาพมีอำนาจกำหนดทิศทาง แต่ยังไม่มีการออกแบบให้รองรับการเปลี่ยนแปลงจริง”
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค
สุภาพร เห็นว่า งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าวันนี้เอางบประมาณไปทำเรื่องอื่นได้มากมาย ก็ต้องทำให้งบดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทั้ง 3 ระบบหลักประกันสุขภาพรัฐจะใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันสิทธิประโยชน์แตกต่างกันเพราะค่ารักษาแตกต่างกัน แต่ถ้าทำให้ 3 ระบบมีมาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่าเรื่องงบประมาณจะเป็นเรื่องที่มาสนับสนุนทั้ง 3 ระบบเกิดคุณภาพที่เหมือนกัน
แยกการเมือง ออกจากบัตรทอง
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า หากต้องการให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เดินหน้าอย่างยั่งยืน ไม่อ่อนแรงกลางทาง จำเป็นต้องสร้างความแข็งแรงจากภายใน ไม่ใช่เพียงให้ดูดีภายนอกเหมือน “ต้นไม้ใหญ่ที่กลวง
“ระบบจะเดินหน้าได้ ต้องอาศัย 3 เสาหลัก คือ การเมือง ประชาชน และผู้ให้บริการ ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เราทำกันเองได้ ถ้ามีเป้าหมายร่วมและเชื่อใจกัน”
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี
อย่างไรก็ตามการเมืองไม่ควรเข้ามายุ่งมากนัก เพราะการเมืองคิดเรื่องเฉพาะหน้าเกินไป การเมืองยังไม่พร้อมขยับเขยื้อนระบบหลักๆที่ยั่งยืน ซึ่งพวกเราทำกันเองได้ แต่ต้องมั่นคงและไปด้วยกัน จึงอยากเห็นภาพผู้รับบริการ และ ผู้ให้บริการจับมือ หารือ และไปด้วยกัน อย่าเผชิญหน้ากันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
รื้อวิธีบริหารจัดการงบประมาณใหม่
“นพ.อนุกูล” เห็นว่า วิธีการจัดสรรเงินของ สปสช.ที่มีหลายวิธี แต่น่าจะมีปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการ เช่น การจัดสรรงบแบบเหมาจ่ายรายหัวที่มีแยกย่อยอีกหลายหมวด 2.จ่ายตามผลงานและราคาที่ตกลงไว้ แต่เป็นปลายปิด ถ้าปลายปีงบประมาณแล้วเงินไม่พอก็จะปรับลดลง ทำให้ค่าใชข้จ่ายไม่เพียงพอ และ3.จัดสรรตามผลงานบริการ ตามราคา และไม่ปลายปิด ส่วนปลายเปิด คือกลุ่มนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งขอเสนอให้บริหารแบบปลายปิด เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นน้อย
ในกลุ่มของงบฯเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น 9 % แต่เมื่อดูหมวดย่อย ส่วนของผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 4% ผู้ป่วยในเพิ่ม 3.5 % เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุด งบกลุ่มเฉพาะเพิ่ม 22% แต่น่าสังเกตว่ากองทุนนวัตกรรมเพิ่มถึง 72%
ส่วน สัดส่วนงบประมาณในระบบบัตรทองที่ใช้กับการรักษายังสูงเกินไป โดยประมาณ 70% ใช้กับการรักษา และเพียง 30% ใช้กับการส่งเสริมสุขภาพและงานอื่น ๆ จึงควรเร่งปรับสัดส่วนให้เน้นการป้องกันโรคมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระในระยะยาว
ดังนั้น การบริหารงบประมาณของระบบสุขภาพไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของ สปสช. เพียงลำพัง เพราะอาจทำให้การจัดการช้าและขาดมุมมองของหน่วยบริการที่อยู่หน้างาน
ส่วนนโยบาย รักษาทุกที่ ว่า ไม่ควรทำกับทุกโรคโดยเฉพาะโรคทั่วไปที่ไม่ยุ่งยาก ควรรักษาใกล้บ้านมากกว่าที่จะรักษาไปที่ไหนก็ได้ แต่โรคที่ยุ่งยาก ซับซ้อน มีรพ.ที่รักษาได้น้อย คิวอาจยาวสั้นต่างกัน เห็นด้วยที่จะรักษาที่ไหนก็ได้ แต่ต้องบริหารจัดการคิวให้ดีเพื่อผลดีต่อผู้ป่วย
ขณะเดียวกันยังวิพากษ์นโยบายบริการนอกเวลาราชการว่า แม้จะช่วยลดการรอคิว แต่ก็ บั่นทอนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องทำงานหนักต่อเนื่องในขณะที่ค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับภาระงาน
“ต้องบริหารให้หน่วยบริการยืนอยู่ได้ โดยประชาชนต้องไม่ล้มละลายจากการรักษาขณะเดียวกันหน่วยบริการต้องไม่ล้มละลายจากการรักษาเช่นกัน โดยสำคัญที่สุด ต้องบริหารจัดการกองทุนให้ดีและให้เหมาสม ซึ่งสิทธิประโยชน์นั้นจะมีสิทธิประโยชน์ที่สำคัญมากๆและสิทธิประโยชน์ที่สำคัญน้อยกว่า จึงอยู่ที่ สปสช.ให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์อะไรมากกว่า”
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี
ดังนั้น รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ราว 900 แห่ง หากรวมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ด้วยเป็นหมื่นแห่ง ดูแลประชาชนทั้งประเทศจึงต้องไม่ล้ม ต้องยืนให้ได้ เพื่อให้รพ.อยู่ได้ ดูแลชีวิตประชาชนได้
“ป้องกันต้องมาก่อน” รพ.ไม่ใช่แค่ “ที่รักษา”
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี
นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.รพ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า ระบบสุขภาพไม่ควรยึดติดกับฐาน “บริการรักษา” เท่านั้น แต่ควรมุ่งเน้นการป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูอย่างจริงจัง พร้อมเสนอว่า เวลารัฐมนตรีประกาศนโยบายใหม่ สปสช. ควรศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ตอบรับทันทีโดยไม่ประเมินค่าใช้จ่าย หรือไม่ใช้ระบบจำลองผลกระทบ
“กลไกทางนโยบาย ถ้ารัฐมนตรี หรือรัฐบาล เสนอนโยบายแล้วต้องมีการตอบรับในรูปแบบบอร์ดสปสช. ต้องมีการขอข้อมูลเพิ่มติม โดยเฉพาะผลกระทบ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันการเมืองสั่งทำให้ไม่ศึกษารอบคอบ กลายเป็นภาระประเทศไทยและหน่วยบริการ จึงต้องมีข้อมูลชัดเจนให้ผู้มีอำนาจ ตัดสินใจได้ รวมถึง การออกสิทธิประโยชน์ใหม่ๆต้องศึกษาผลกระทบด้วย”
นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.รพ.ละงู จ.สตูล
ระบบที่ดีทุกฝ่ายต้องอยู่ในระบบได้
ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย รอง ผอ.รพ.ศิริราช กล่าวว่าการจะทำให้ระบบบัตรทองเดินหน้าอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องเริ่มจากคำถามว่า “เราต้องการอะไรจากคำว่ายั่งยืน” ซึ่งคำตอบอยู่ที่ “ทุกฝ่ายต้องอยู่ในระบบเดียวกันอย่างยุติธรรมและสมดุล” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันยังห่างไกลจากหลักการนี้ 8 ข้อเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน ดังนี้
- นโยบายต้องสอดคล้องกับบริบทของสังคม
- จัดสรรงบประมาณให้สอดรับกับสิทธิประโยชน์ ทั้งในด้าน ชนิดของบริการ และ ปริมาณ
- หากประมาณการผิดพลาด จนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนงบประมาณหรือบริการ สปสช. และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ต้องรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมมีมาตรการเยียวยาผู้ป่วย
- ผู้ให้บริการต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดนโยบาย ไม่ใช่รับคำสั่งฝ่ายเดียว
- การชดเชยค่ารักษาพยาบาลต้องหารือร่วมกันทุกฝ่าย
- กรณีเรียกเก็บเงินเพิ่ม (Extra Billing) ต้องมีความโปร่งใส “อย่างน้อยแจ้งให้ชัดว่ารักษาแล้ว เก็บเงินจากใคร เก็บเพื่ออะไร”
- ต้องมีกลไกจัดการความเสี่ยงร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยบริการรับความเสี่ยงฝ่ายเดียว
- ลงทุนในสิทธิประโยชน์เชิงป้องกันที่ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เช่น การดูแลสุขภาพในครอบครัวและชุมชน
“ผศ.นพ.สนั่น” ย้ำว่า ประเด็น “ความเท่าเทียมของกองทุนสุขภาพ” เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องไม่ใช่การลากให้ทุกกองทุนอยู่ในระดับต่ำเท่ากัน เพราะอาจกลายเป็นการลดคุณภาพโดยรวม แต่ควรออกแบบระบบที่มี “ขั้นสิทธิ” อย่างเป็นระบบและยุติธรรม เช่น
- ชั้น 1 สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับเท่าเทียม ตามกรอบบัญชียาและบริการแห่งชาติ
- ชั้น 2 หากกองทุนใดต้องการสิทธิเพิ่มขึ้น ต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเอง
- ชั้น 3 หากต้องการบริการสูงสุด ต้องสมทบเงินเพิ่มในระบบ
ปัญหาสำคัญของระบบในตอนนี้คือ “กลไกควบคุมต้นทุนที่ไม่ชัดเจน” โดยเฉพาะกรณีการจำกัด “จำนวนครั้ง” ของบริการรักษา ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และทำให้โรงพยาบาลถูกมองว่าเห็นแก่เงิน ควรเปลี่ยนแนวคิดจาก “จำกัดจำนวนครั้ง” ไปสู่ “จำกัดตามภาระงานจริง” เช่น ตรวจโรคตามระดับอาการ ไม่ใช่จำกัดโดยตัวเลขแห้ง ๆ ซึ่งจะสะท้อนความจำเป็นทางการแพทย์มากกว่า
“ผศ.นพ.สนั่น” หยิบยก ปัญหา Extra Billing หรือการที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเพิ่มจากสิทธิที่มี ซึ่งในบางกรณีกลายเป็น “No Billing” แต่ผู้ป่วยก็ยังไม่ได้รับบริการเพราะไม่มีใครจ่ายแทน ซึ่งบางคนถามว่าทำไมรักษาแล้วต้องจ่ายเพิ่ม แต่ความจริงคือ ไม่มีใครอยากเรียกเก็บเงินเพิ่ม ถ้าระบบมันมีเงินพอและคุ้มครองคนได้จริง
“รักษาทุกที่” อาจขัดวัตถุประสงค์เดิมของระบบ
นพ.เกรียงไกร ตั้งจิตมณีศักดา รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากจังหวัดอื่น โดยต้องบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย กองทัพ กรมการแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานครเอง “ระบบของ กทม. เป็นแบบพิเศษ ต้องพึ่งพาความร่วมมือข้ามหน่วยงาน”
ขณะที่แนวคิดการ “รักษาทุกที่” หากไม่มีระบบควบคุมที่ดี อาจทำให้ บทบาทของหน่วยบริการปฐมภูมิถูกลดความสำคัญลง และภาระจะตกไปอยู่กับโรงพยาบาลใหญ่
“คุณจัดระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิไว้ แต่ถ้ายาและบริการที่จัดมาไม่ได้ถูกใช้ เพราะผู้ป่วยไหลไปใช้บริการที่อื่น มันก็สูญเปล่า และถ้าควบคุมไม่ได้ ปฐมภูมิก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็ไปรวมอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์”
นพ.เกรียงไกร ตั้งจิตมณีศักดา รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
ปัญหาใบส่งตัว และแรงกดดันจากประชาชน
เขายังกล่าวถึงปัญหาเรื่อง การส่งต่อผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งจริง ๆ แล้วควรได้รับการดูแลในระดับปฐมภูมิ เช่น รพ.สต. หรือคลินิกใกล้บ้าน แต่ผู้ป่วยกลับต้องการไปโรงพยาบาลใหญ่ เพราะเข้าใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดีกว่า
รพ.ก็ไม่อยากรับเคส NCDs ที่ควรดูแลที่ปฐมภูมิ แต่คนไข้ก็ยังอยากมา สปสช.จึงควรพิจารณาให้รอบคอบว่า เคสไหนควร refer เคสไหนไม่ควร ต้องมีมาตรการจัดการ นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงแรงกดดันจากประชาชน ที่เมื่อไม่พอใจการบริการ มักร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Traffy Fondue
“นพ.เกรียงไกร” เน้นว่า ตนเห็นด้วยกับหลักการว่า ทุกคนควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานโดยไม่ต้องร้องขอ” เพราะสุขภาพเป็นสิทธิ ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่ก็ต้องยอมรับข้อจำกัดว่า ความเท่าเทียมต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่จริง
“ถ้าเราจะทำให้เหมือนที่อื่น ต้องดูว่างบมีแค่ไหน คนที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ต้องได้จริง ส่วนคนที่สามารถดูแลตัวเองได้หรือใช้บริการที่อื่นได้ ก็ควรปล่อยให้เขาเลือกได้เอง”
นพ.เกรียงไกร ตั้งจิตมณีศักดา รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
“นพ.เกรียงไกร” บอกว่า หากประเทศไทยต้องการพัฒนาระบบสุขภาพให้เทียบเท่าระดับสากล สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาทรัพยากรของตนเองให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำว่า Health Link หรือระบบเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมการเข้าถึงบริการที่เหมาะสม
ใบส่งตัวยังคงเป็นปัญหาที่ต้องแก้
ระบบส่งต่อยังเป็นจุดอ่อนที่หลายฝ่ายชี้ตรงกันว่า “ต้องแก้” เช่น ผู้ป่วยโรคไม่รุนแรงมักอยากไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ แม้จะดูแลได้ที่คลินิกชุมชนอบอุ่น ทำให้หน่วยบริการปฐมภูมิ อยู่ไม่ได้ เพราะคนไข้อยากไปโรงพยาบาลใหญ่
นพ.พินัย ล้วนเลิศ เลขาธิการสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า หากระบบบัตรทองยังไม่สามารถจัดการโรคเรื้อรัง (NCDs) อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบทั้งหมดอาจเผชิญความล้มเหลวในที่สุด โดยเฉพาะโรคไต ที่เป็นผลสืบเนื่องจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งกำลังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อก่อนค่าใช้จ่ายฟอกไตต่อรายอยู่ที่ประมาณ 37,000 บาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาทต่อปี และตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานก็เพิ่มจาก 50% เป็น 90% ส่วนความดันเพิ่มจาก 20% เป็น 24% ถ้าไม่ควบคุมต้นทาง ยังไงปลายทางก็พัง”
นพ.พินัย ล้วนเลิศ เลขาธิการสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น
แนวทางรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในปัจจุบันยังวนอยู่กับการ “ให้ยาต่อเนื่อง” ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วย การรักษาในโรงพยาบาลจะกลายเป็นการซ้ำเติมภาระระบบสุขภาพ
“ถ้าผู้ป่วย NCDs ต้องไปโรงพยาบาลทุกครั้ง ระบบก็รับไม่ไหว และต้นทุนก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ การควบคุมโรคเรื้อรังควรเกิดที่ปฐมภูมิ ถ้าคลินิกชุมชนทำงานได้ ระบบก็ไปต่อได้”
นพ.พินัย ล้วนเลิศ เลขาธิการสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น
ขณะนี้มีคลินิกชุมชนอบอุ่น 31 แห่งยังไม่ได้รับเงินเลย และอีก 7 แห่งไม่ได้รับเงินมานานถึง 6 เดือน สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาเรื่องระบบใบส่งตัว และความล่าช้าในการจัดสรรงบประมาณจาก สปสช.แม้จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ นพ.พินัยเสนอว่า ทุกฝ่ายควรเปิดเวทีพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด
“บัตรทอง” ขาดการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน
ภญ.กรรณิญาพร บูชา เภสัชกรชุมชน บ้านยาประทายเภสัช จ.นครราชสีมา สะท้อนเสียงจากแนวหน้าในระบบปฐมภูมิว่า ร้านยาในชุมชนมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน และเห็นด้วยกับแนวทาง “สร้างนำซ่อม” ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากกว่าการรอรักษาเมื่อป่วย
“สิ่งสำคัญคือ เราต้องย้อนกลับมาดูว่า เป้าหมายของระบบบัตรทองคืออะไร? เราทำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้จริงหรือไม่? ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจเป้าหมายเดียวกัน และสื่อสารให้ตรงกัน ปัญหาหลายอย่างจะไม่เกิดขึ้น”
ภญ.กรรณิญาพร บูชา เภสัชกรชุมชน บ้านยาประทายเภสัช จ.นครราชสีมา
ยกตัวอย่างปัญหา “รักษาได้ทุกที่” ที่ยังไม่มีความเข้าใจตรงกันในทางปฏิบัติ กลายเป็นภาระของผู้ให้บริการและสร้างความสับสนให้ประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นสิ่งที่ชัดเจนคือการสื่อสารไม่ตรงกัน มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริการในพื้นที่ ประชาชนสับสน ผู้ให้บริการเองก็ไม่มั่นใจว่าจะทำอะไรได้แค่ไหน แล้วทำไมยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง?”
“อยากเสนอว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเปิดใจพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถวางระบบการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มี”
ภญ.กรรณิญาพร บูชา เภสัชกรชุมชน บ้านยาประทายเภสัช จ.นครราชสีมา
“บัตรทอง” ต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
สิงห์แก้ว กันธิยะ ผอ.รพ.สต.บ้านทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่ เปรียบหน่วยบริการปฐมภูมิว่าเป็น “ฐานพีระมิด” ของระบบสุขภาพไทย แต่ยังมีปัญหาทั้งเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอ และงานเอกสารเคลมที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้การบริหารจัดการในพื้นที่ล่าช้า ซึ่งผู้คิดไม่ได้ทำ ผู้ทำไม่ได้คิด จึงเกิดช่องว่างระหว่างนโยบายกับหน้างาน
สิงห์แก้ว เสนอให้ปรับวิธีการจ่ายค่ารักษาให้เหมาะสมกับระดับของโรค และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรู้ว่าสิทธิของเขาคืออะไร เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง
ภาพจาก : สปสช.
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :