ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เมื่อ 21 ก.พ. 2567 มีมติเห็นชอบปรับขึ้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยจ่ายแบบถ้วนหน้าทุกคน 1,000 บาทต่อเดือน และจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการใหญ่ หรือ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ให้พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2535 และมีการปรับปรุงมาตลอด จนในปี 2554 ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้วิธีจ่ายแบบขั้นบันไดตามอายุ คือ ผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปี ได้ 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปี ได้ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปี ขึ้นไป ได้ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งระบบนี้ก็ยังคงใช้จนถึงปัจจุบันและไม่ได้ปรับเพิ่มมานานกว่า 10 ปี
หลายพรรคการเมือง เริ่มเล็งเห็นความสำคัญ จึงผลักดันนโยบายการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สวัสดิการสังคม เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมไม่น้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้จากผลพิจารณาศึกษา กมธ.สวัสดิการสังคม ได้เสนอรัฐบาลเปลี่ยนจากการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ให้เป็น “การจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน” ซึ่งเป็นลักษณะจ่ายแบบถ้วนหน้า 3,000 บาท เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ถึงเกณฑ์เกษียณได้รับสิทธินี้เท่ากันทุกคน โดยเริ่มปรับวิธีจ่ายตั้งแต่ปี 2568-2570
- ปีงบประมาณ 2568 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 1,200 บาท เป้าหมาย 12,274,889 คน รวมวงเงิน 1.76 แสนล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2569 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 2,000 บาท เป้าหมาย 12,721,695 คน รวมวงเงิน 3.05 แสนล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2570 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท เป้าหมาย 13,178,403 คน รวมวงเงิน 4.74 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน กมธ.ยังเสนอให้แก้ไขกฎหมายเดิม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 เพื่อให้สอดคล้องกับการจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน และการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ รวมถึงไม่ให้อัตราการจ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจนของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
โดยเชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และลดภารค่าใช้จ่ายของประชาชนวัยทำงานที่ต่องส่งเงินเลี้ยงดูบุพการี และยังสร้างการพัฒนาความคุ้มครองความยากจนของผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม การที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เห็นชอบเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน แม้จะน้อยกว่าที่ กมธ.เสนอให้จ่าย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ก็ถือนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนานโยบายบำนาญแห่งชาติของคนไทย ที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 10 ปี และยังเป็นการเตรียมความพร้อมที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุด หรือ คนชรามีมากกว่าเด็กเกิดใหม่
ส่องเงื่อนไข-สิทธิ “บำเหน็จบำนาญชราภาพ” ประกันสังคมล่าสุด