หลายคนอยากเป็นข้าราชการเพราะมีสถานภาพที่มั่นคง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนในกระทรวงสาธารณสุขจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ แม้จะทำหน้าที่ไม่ต่างกัน
แม้เป้าหมายจะต้องการให้มีคนทำงานเพียงพอ แต่กรอบการบรรจุข้าราชการก็มีจำกัด ทุกโรงพยาบาล รวมทั้งสถาบันหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องจ้างคนเพิ่มในรูปแบบพนักงานราชการ ลูกประจำ ลูกจ้างชั่วคราว เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความก้าวหน้าในวิชาชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนในแวดวงสาธารณสุข ลาออกไปจากระบบ จนลุกลามเป็นปัญหาการขาดแคลนบุคคลากร
ตำแหน่งไม่เพียงพอ-การบรรจุล่าช้า ซับซ้อน
หากวิเคราะห์ปัญหาการบรรจุข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขมีหลายประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบุคลากรและระบบการดูแลสุขภาพ ดังนี้
- จำนวนตำแหน่งข้าราชการที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรองรับบุคลากรที่จบใหม่หรือบุคลากรที่ทำงานในระบบเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดปัญหาบุคลากรชั่วคราวที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการถาวร
- กระบวนการบรรจุที่ซับซ้อนและล่าช้า ซับซ้อนและใช้เวลานาน ทำให้บุคลากรที่มีคุณภาพบางส่วนเลือกที่จะออกไปทำงานในภาคเอกชนหรือในต่างประเทศแทน
- ความไม่ยืดหยุ่นของระบบการบรรจุข้าราชการ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของระบบสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว
- ปัญหาการบริหารจัดการกำลังคนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีปัญหาบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล
ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความท้าทายต่อการบริหารจัดการบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบและนโยบายให้มีความยืดหยุ่นและทันสมัยมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ นำมาสู่แนวคิด แยกกระทรวงสาธารสุข ออกจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาบริหารทรัพยากรบุคคลเอง แบบที่ วิชาชีพ “ครู” กับ “ตำรวจ” ที่ไม่ได้อยู่กับ ก.พ. แต่ก็เป็นข้าราชการเช่นกัน
การแยกกระทรวงสาธารณสุข ออกมาจาก ก.พ. เป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณสุข ที่ปักธงมาตั้งแต่ยุครัฐมนตรีสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และส่งไม้ต่อหลังปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 มาถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งกำลังผลักดันกฎหมายสำคัญ นั่นคือ “ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. …”
- ทางออก วิกฤตแพทย์ลาออก
- ทำไมหมอลาออก ? จากระบบกระทรวงสาธารณสุข
- เร่งผลิต จิตแพทย์ รับมือสถานการณ์โรคจิตเวช
บุคคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีเท่าไหร่?
ข้อมูลจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรทั้งหมดรวม 472,366 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายประเภท
- ข้าราชการ จำนวน 134,514 คน
- พนักงานกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 104,771 คน
- ลูกจ้างประจำ จำนวน 30,704 คน
- พนักงานราชการ จำนวน 16,128 คน
- ลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 186,249 คน
ในจำนวน ”ลูกจ้างชั่วคราว” มีแพทย์ 484 คนและ พยาบาลวิชาชีพ อีก 6,906 คน ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็น “ข้าราชการ“
ไทม์ไลน์ ออกกฎหมาย สธ.แยกจาก ก.พ.
หัวใจสำคัญของการออกจาก ก.พ. คือการ ออก ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข เป้าหมายของร่างกฎหมายนี้ มุ่งสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล อัตรากำลัง และค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดข้อจำกัดต่างๆที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาเป็นเวลานาน โครงสร้างการบริหารงานจะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อสามารถบริการประชาชนรวดเร็วขึ้น
โดยการดำเนินการของกระทรวง สธ.เพื่อจัดทำร่างพ.ร.บ.ข้าราชการสธ.ฯ พ.ศ. …. เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร มีขั้นตอน ระยะเวลา ดังนี้
15 ก.ค. 2567
- คณะอนุกรรมการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการสธ.ฯ โดยมี นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุม พร้อมทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อหารือรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว
18 ก.ค. – 6 ส.ค. 2567
- เปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์ : Link
10 ส.ค. 2567
- สรุปความเห็นจากการรับฟังในแต่ละประเด็น จัดประชุมคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการ ได้ร่างพ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ จัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบ พร้อมเปิดเผยผลการรับฟังความเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ
15 ส.ค. 2567
นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ก.ย. 2567
คณะรัฐมนตรี จะเสนอ ร่างพ.ร.บ.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ รัฐบาลจึงจะเสนอ ร่างพ.ร.บ.ให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ โดยคาดว่ากฎหมายจะผ่านสภาและมีผลบังคับใช้ในปี 2568
บอร์ด ก.สธ. หัวใจสำคัญบริหารบุคลากร-งบประมาณ-สวัสดิการ
การแยกตัวออกจาก ก.พ. นับเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องตราเป็นกฎหมาย เปรียบเสมือนการปฏิรูประบบการบริหารจัดการองค์กร เพื่อทำให้การปฏิบัติงานทั้งอัตรากำลังที่มีประมาณ 400,000 – 500,000 คน งบประมาณ ค่าใช้จ่ายที่จะลดลง มีความคล่องตัวของบุคลากรที่กระจายอยู่ใน 12 เขตสุขภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการให้บริการประชาชน
ประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือให้มีคณะกรรมการข้าราชการกรทรวงสาธารณสุข หรือ “ก.สธ.” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธ.เป็นประธาน, ปลัดสธ.เป็นรองประธาน, กรรมการได้แก่ อธิบดีกรมหรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัด กระทรวงสธ. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน และกรรมการสายวิชาชีพจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน
ก.สธ. มีอำนาจหน้าที่ เช่น บรรจุ แต่งตั้ง โอนย้ายข้าราชการ, กำหนดตำแหน่ง จำนวนตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ, ออกกฏกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ มติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล, กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการ กระทรวงสธ., เสนอแนะคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการหรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการ, กำหนดการเพิ่มพูนประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจ ความก้าวหน้าแก่ข้าราชการ เป็นต้น
สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอ ร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์ สาธารณสุข เข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวง สธ. ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการกำลังคน เป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ และเพื่อยกระดับกฎเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เหมาะสม
ในหลายครั้งที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกถามในหลายที่ประชุมจากทั้งคนในกระทรวง และสื่อมวลชน ถึงการแก้ปัญหาเรื่องกำลังคน ไม่ว่าจะแพทย์ขาดแคลน พยาบาลขาดแคลน หรือพนักงานที่ตกหล่นยังไม่ได้บรรจุข้าราชการยุคโควิด เขามักจะบอกว่า การแยกตัวออกจาก ก.พ. จะตอบโจทย์ และแก้ปัญหาเรื่องคนให้จบทั้งหมด โดยในฐานะเจ้ากระทรวงเมื่อได้รับข้อเสนอนี้มา ก็พยายามผลักดันให้สำเร็จในยุคของตน
“บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข เป็นบุคลากรที่ทำงานกันอย่างทุ่มเทดูแลชีวิตประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จึงตอบแทนการทำงานที่ทุ่มเทเพื่อพี่น้องประชาชนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่างมั่นคง ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษาโรคภัย ฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวง” รมว.สธ. ระบุ
สำหรับผู้ได้รับผลกระทบกับร่างพ.ร.บ.นี้ ประกอบด้วยข้าราชการในสังกัดกระทรวงสธ. บุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงสธ.และประชาชน สามารถแสดงความเห็นผ่าน Link ภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้เพื่อ กระทรวงสาธารณสุขจะได้นำมาพิจารณา วิเคราะห์ ปรับแก้ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป