สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา
ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวและสถานบันเทิงหลากหลายประเภทไว้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถสร้างงานและสร้างรายได้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงยังคงถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและกฎหมายที่ว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของบ้านเมืองและประชาชน โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ให้คำนิยาม “สถานบริการ” หมายถึง สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้า เช่น 1) สถานเต้นรำ รำวง หรือ รองเง็ง ประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ 2) สถานที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า 3) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า และ 4) สถานที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอย่างอื่นเพื่อความบันเทิง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะสถานบริการและสถานบันเทิง ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้รายได้ของประชาชนที่ประกอบอาชีพอยู่ในภาคบริการ และรายได้จากนักท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศลดลงเป็นจำนวนมาก และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มผ่อนคลายลงจึงเป็นช่วงเวลาอันดีที่จะพิจารณากลไกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมกลุ่ม Fun Economy ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การท่องเที่ยว กีฬา สถานบันเทิง ธุรกิจ และการประชุมสัมมนาหรือไมซ์ (MICE) ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อยอด
หนึ่งในแนวทางที่ดำเนินการได้ คือ การสร้างสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อเป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจบันเทิงที่มีองค์ประกอบของธุรกิจหลากหลายประเภทรวมกัน เช่น โรงแรม ศูนย์การประชุม ศูนย์การจัดแสดงสินค้า ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ธนาคาร สวนสนุก สนามกีฬา เป็นต้น ร่วมกับกาสิโน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่และสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ และเป็นการทำให้ธุรกิจกาสิโนเข้ามาอยู่ในระบบการบริหารจัดการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลและจัดเก็บภาษีจากสถานบันเทิงครบวงจรดังกล่าวเพื่อเป็นรายได้ของประเทศได้
ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย
กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันที่มีความใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ได้แก่
- พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้กำหนดคำนิยาม “สถานบริการ” ไว้ ดังที่ได้แสดงข้างต้น
- พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และประเภทการพนันที่อนุญาตให้มี หรือเข้าเล่น หรือเข้าพนันได้ และ
- พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงื่อนไขการพนัน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 (ฉบับที่ 2) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2482) โดยมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ระบุว่า การพนันบางรายการจะจัดให้มี เข้าเล่น หรือเข้าพนันได้ ณ สถานกาสิโนของรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดตั้งขึ้น
อย่างไรก็ดี กฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวได้ถูกใช้บังคับมาเป็นเวลานานมาก และยังไม่ครอบคลุมรูปแบบการดำเนินการและประเภทธุรกิจที่จะจัดให้มีขึ้นในสถานบันเทิงครบวงจร ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมกลุ่ม Fun Economy ของประเทศ ผ่านการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการ ตลอดจนการกำกับดูแลที่รอบคอบ ครอบคลุม และชัดเจน จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายฉบับนี้
ความมุ่งหมาย
การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรมีกฎหมายรองรับการดำเนินการ มีมาตรการเพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบการ (นักลงทุน) แรงงาน ผู้เล่นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และมีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่ประชาชนอาจได้รับจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร รวมไปถึงการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมกลุ่ม Fun Economy ซึ่งสร้างรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการ และส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
คำอธิบายหลักการหรือประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายหรือกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ประกอบด้วย 9 หมวด 65 มาตรา โดยกำหนดให้ “สถานบันเทิงครบวงจร” หมายความว่า การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้หลายประเภทรวมกัน ร่วมกับกาสิโน และกำหนดให้ “กาสิโน” หมายความว่า การจัดให้มีการเข้าเล่นหรือการเข้าพนันในสถานที่ที่กำหนดเป็นการเฉพาะ
1. หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (มาตรา 6 – 14)
กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (คณะกรรมการนโยบายฯ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน และมีเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายของสถานบันเทิงครบวงจร ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการ การป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบ จำนวนใบอนุญาตและพื้นที่การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขออนุญาตและเลิกประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ประเภทกิจการที่อาจดำเนินการได้ในสถานบันเทิงครบวงจร สัดส่วนพื้นที่กาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร เวลาเปิดปิดและสถานที่ตั้งของสถานบริการ วิธีการลงทะเบียนและอัตราค่าธรรมเนียมเข้าสถานประกอบการกาสิโน การให้สินเชื่อแก่ผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในกาสิโน ลักษณะพนักงาน หลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยและชีวอนามัยพนักงาน หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น รวมไปถึงมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาให้ ต่ออายุ หรือเพิกถอนใบอนุญาต การโอนสิทธิตามใบอนุญาต การแต่งตั้งหรือให้เลขาธิการออก การกำกับการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร ตลอดจนการออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ
2. หมวด 2 คณะกรรมการบริหาร (มาตรา 15 – 19)
กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีบุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธาน มีกรรมการ โดยตำแหน่ง 11 คน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน และเลขาธิการเป็นเลขานุการ
โดยให้คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการขอรับใบแทนใบอนุญาต พิจารณาอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร (สำนักงานฯ) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ กำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนของเลขาธิการและพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานฯ พิจารณาอุทธรณ์เรื่องร้องเรียน พิจารณาคำอุทธรณ์หรือคำร้องทุกข์ คัดเลือกหรือประเมินความรู้ความสามารถของเลขาธิการ แต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการมอบอำนาจของเลขานุการ ข้อบังคับหรือระเบียบของสำนักงานฯ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้เงิน ทุน หรือทรัพย์สิน รวมถึงค่าใช้จ่ายของสำนักงานฯ ตลอดจนการออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ
3. หมวด 3 สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร (มาตรา 20 – 28)
กำหนดให้มีสำนักงานฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ปฏิบัติงานธุรการให้แก่คณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการบริหาร และมีหน้าที่และอำนาจในการศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงานฯ สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานบันเทิงครบวงจร กำกับ ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภท ลักษณะ วิธีการเล่น ลักษณะของบุคคลต้องห้าม รับเรื่องร้องเรียน เสนอแนะข้อมูลและความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เสนอแนะหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงิน ทุน หรือทรัพย์สินของสำนักงานฯ ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนการออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ รวมไปถึงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์
ทั้งนี้ ให้สำนักงานฯ มีทุนและทรัพย์สินประกอบด้วยเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐ ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต ใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้อันเกิดจากการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงานฯ ค่าปรับ และดอกผลของเงินหรือรายได้ ของสำนักงานฯ และให้นำส่งรายได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการเป็นรายได้แผ่นดิน
4. หมวด 4 เลขาธิการ (มาตรา 29 – 37)
กำหนดให้สำนักงานฯ มีเลขาธิการ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานฯ โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ และมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารงานของสำนักงานฯ วางระเบียบการดำเนินงานของสำนักงานฯ เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานฯ รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงาน บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้าง
5. หมวด 5 พนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 38 – 40)
กำหนดให้สำนักงานฯ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการเข้าไปในสถานที่ดำเนินการหรือสถานที่ตั้งของผู้รับใบอนุญาตเพื่อสังเกตการณ์หรือตรวจสอบการดำเนินการ เรียกเอกสารหรือหลักฐาน เพื่อตรวจสอบการดำเนินการ ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือการดำเนินคดี รับและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนหรือข้อพิพาท สั่งให้หยุดการเล่นหรือการเข้าพนันใด ๆ ในสถานประกอบการกาสิโนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายนี้ ตรวจสอบหรือทดสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน สั่งให้บุคคลซึ่งอยู่ในสถานประกอบการกาสิโนแจ้งชื่อหรือข้อมูลอื่นใดเมื่อมีเหตุอันควรสงสัย ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย รายงานผลการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตต่อเลขาธิการ
6. หมวด 6 การอนุญาตให้ประกอบสถานบันเทิงครบวงจร (มาตรา 41 – 50)
กำหนดให้สถานบันเทิงครบวงจรตั้งอยู่ในบริเวณเขตพื้นที่ตามที่กำหนด โดยต้องประกอบไปด้วยธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายกฎหมายนี้อย่างน้อยสี่ประเภท ร่วมกับกาสิโน ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทและให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตได้รับยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และมิให้นำความในมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และมาตรา 1105 วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับ
นอกจากนี้ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรที่สำนักงานฯ โดยสำนักงานฯ มีอำนาจเรียกค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย หรือค่าอื่นใด ที่กฎหมาย ข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติว่าด้วย
การนั้นกำหนด และส่งให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจเรียกนั้น และให้ใบอนุญาตมีอายุ 30 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปีตามที่คณะกรรมการ
นโยบายฯ กำหนด แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้ายกฎหมายนี้ โดยให้มีการประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินงานทุก 5 ปี และอาจพิจารณาต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 10 ปี
ทั้งนี้ เมื่อได้รับใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตต้องเริ่มประกอบสถานบันเทิงครบวงจรด้วยตนเองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรูปแบบและแผนการประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร และต้องจัดให้มีระบบ การควบคุมกาสิโนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามรูปแบบและแผนที่วางไว้ คณะกรรมการนโยบายฯ อาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้
อนึ่ง ในการเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร มิให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ
การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 และข้อ 9 ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564 มาใช้บังคับ โดยห้ามมิให้ทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกินห้าสิบปี และการต่อสัญญาเช่าอาจทำได้แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้ อีกทั้งการเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงนี้ไม่ถือว่าเป็นการร่วมทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
7. หมวด 7 การควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (มาตรา 51 – 59)
กำหนดให้การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงในสถานบันเทิงครบวงจร จะกระทำได้เฉพาะตามบัญชีแนบท้ายกฎหมายนี้ โดยกิจกรรมใดของสถานบันเทิงในสถานบันเทิงครบวงจรที่อยู่ภายใต้บทบัญญัติหรือการกำกับดูแลตามกฎหมายอื่น ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และหนี้ที่เกิดจากการจัดให้มีการเข้าเล่นหรือเข้าพนันให้เป็นหนี้ที่บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ในส่วนของกาสิโนให้กระทำได้เฉพาะในสถานบันเทิงครบวงจรโดยผู้รับใบอนุญาต และเฉพาะประเภทที่กำหนด และห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีการเข้าเล่นหรือเข้าพนันผ่านการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้บุคคลภายนอกสถานประกอบการกาสิโนเข้าเล่นหรือเข้าพนันได้ รวมถึงต้องจัดให้มีเขตบริเวณของสถานประกอบการกาสิโนที่ชัดเจน และห้ามบุคคลที่อายุน้อยกว่า 20 ปี บุคคลที่ถูกสั่งห้ามเข้า ผู้มีสัญชาติไทยที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมเข้ากาสิโน นอกจากนี้ กาสิโนต้องมีสัดส่วนของพนักงานคนไทยและต่างด้าวตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดโดยห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เกี่ยวกับกาสิโน หรือให้ผู้ใดดำเนินการดังกล่าว และในกรณีผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ ต้องชำระค่าปรับและอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้
8. หมวด 8 บทกำหนดลงโทษ (มาตรา 60 – 62)
กรณีผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามที่ความกฎหมายกำหนด ให้ดำเนินการแก้ไขตามคำสั่งสำนักงานฯ ภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินการตามระยะเวลาผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าปรับ และคณะกรรมการนโยบายฯ
อาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้
9. หมวด 9 บทเฉพาะกาล (มาตรา 63 – 65)
ในวาระเริ่มแรกกำหนดให้มีข้าราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขานุการทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการบริหารตามกฎหมายนี้ไปพลางก่อน โดยให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่สำนักงานฯ ไปพลางก่อน
ผู้เกี่ยวข้อง
(1) นักลงทุน/นักธุรกิจมีช่องทางในการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม Fun Economy ผ่านการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
(2) เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโอกาสในการพัฒนาที่ดินที่ถือครองให้เกิดเป็นรายได้ และเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบสถานบันเทิงครบวงจร
(3) ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสในการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนการประกอบอาชีพในสถานบันเทิงครบวงจร
(4) เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น
เหตุผลความจำเป็นของการให้มีระบบอนุญาต ระบบคณะกรรมการหรือการกำหนดโทษอาญา รวมทั้งหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ
เหตุผลความจำเป็นของการมีระบบคณะกรรมการ : เนื่องจากสถานบันเทิงครบวงจรประกอบไปด้วยธุรกิจสถานบันเทิงหลายประเภทร่วมกับกาสิโน ซึ่งมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ การกำหนดนโยบายและการกำกับสถานบันเทิงครบวงจร จึงจำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาอย่างบูรณาการของหลายหน่วยงาน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน เพื่อให้การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร การกำกับผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และการป้องกันผลกระทบจากสถานบันเทิงครบวงจร เป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วน มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศได้อย่างแท้จริง
เหตุผลความจำเป็นของการมีระบบอนุญาต : เนื่องจากสถานบันเทิงครบวงจรประกอบไปด้วยธุรกิจสถานบันเทิงหลายประเภทร่วมกับกาสิโน ซึ่งการประกอบธุรกิจดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมหลายด้าน จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่มีความเข้มงวดสูง และจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบอนุญาต
ที่มา: