ปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเทียร์ 2 ตาม รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากพบว่าที่ผ่านมา มีแรงงานประมงทั้งคนไทยและต่างชาติจำนวนมากถูกบังคับให้ทำงานมากว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยอาหารจำกัด ไม่มีการพัก ได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย ต้องใช้ชีวิตอยู่บนเรือกลางทะเลนานเป็นครึ่งเดือน และอาจถูกทรมานโยนลงทะเล หากไม่เชื่อฟังนายจ้าง
รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทิศทางการค้ามนุษย์ของหลายประเทศทั่วโลก แถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีอย่างจริงจัง โดย TIP Report ประจำปี 2023 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้รวบรวมสถานการณ์การค้ามนุษย์ใน 188 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ รายงานฉบับนี้จัดระดับสถานการณ์เป็น 4 กลุ่ม ตั้งแต่ Tier 1 – Tier 3
- Tier 1 หรือ “กลุ่มดีที่สุด” มีทั้งหมด 30 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ
- Tier 2 มี 105 ประเทศ
- Tier 2 Watch List มี 26 ประเทศ
- Tier 3 มี 24 ประเทศ และ Special Case หรือ กลุ่มเฝ้าระวัง อีก 3 ประเทศ
ย้อนไปเมื่อปี 2558 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาล ยุค คสช. เข้ามาแก้ปัญหาการค้ามนุษยในอุตสาหกรรมประมงอย่างจริงจัง เพื่อให้พ้นจากกลุ่มประเทศที่ต้องเฝ้าระวังการค้ามนุษย์ หรือ เทียร์ 2 watch list และแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU fishing ไปพร้อม ๆ กัน
ภายหลังจากสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญกับการนำเข้าอาหารทะเลที่มาจากการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย และไม่ได้มาจากแรงงานค้ามษุนย์ จึงนำมาสู่การแก้ไข พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 ในปี 2560 ให้เรือประมงทุกลำต้องลงทะเบียนตามกฎหมาย เช็คยอดแรงงานทั้งขาเข้าและขาออก ติดตั้งระบบดาวเทียมติดตามหรือ VMS รวมทั้งเปลี่ยนอวนให้มีตาข่ายกว้างขึ้นเพื่อป้องกันการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นต้น
ทว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดนี้ ส่งผลต่อต้นทุนของอุตหกรรมประมง และที่กระทบมากที่สุดคือประมงเรือเล็ก หรือประมงพื้นบ้าน ที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนทางกฎหมายเหล่านี้ไว้ได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนอาชีพ มีการยึดเรือประมงที่ทำผิดกฎ ทั้งประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้านชายฝั่งทั้งหมด โดยไม่ได้แยก ประมงพื้นบ้านออกมา
ขณะที่ปี 2566 รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ได้ขยับประเทศไทยจากลุ่มเทียร์ 2 watch list ขึ้นมาเป็น เทียร์ 2 สะท้อนความพยายามของรัฐบาลที่ปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ยังไม่ไปถึงมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ
แก้ไขความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพประมงโดยสุจริต
แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับอาชีพประมงในประเทศไทย นำมาสู่การแก้ไข พ.ร.ก.ประมง อีกรอบ กระทั่งเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 416 เสียง ให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พร้อมร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับที่ สส.เป็นผู้เสนอ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพประมงโดยสุจริต และให้สอดคล้องกับวิถีประมงพื้นบ้าน โดยไม่ขัดต่อหลักการ IUU
โดย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า การแก้ไขกฎหมายเป็นไปเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพประมงโดยสุจริต และให้สอดคล้องกับวิถีประมงพื้นบ้าน โดยไม่ขัดต่อหลักการ IUU อาทิ การเพิ่มบทนิยามประมงพื้นบ้าน, การยกเลิกบทบัญญัติห้ามผู้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง, การแก้ไขเพิ่มเติมการห้ามดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต, การเพิ่มหลักเกณฑ์การขออนุญาต และการอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย, การยกเว้นให้สามารถใช้อวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 ซม.ทำการประมงในตอนกลางคืน รวมถึงการปรับปรุงบทกำหนดโทษ และอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
ห่วง กม.ประมง ส่งผลกระทบทรัพยากรทางทะเล
การแก้กฎหมายประมง อาจสายเกินกว่าจะฟื้นอาชีพประมงที่ล่มสลายไปแล้วจากการจัดระเบียบครั้งก่อนให้กลับคืนมา มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย บอกว่าแก้กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ รัฐบาลยังมองปัญหาไม่ทะลุ เพราะผู้ประกอบการประมงล้มไปหลายราย
นอกจากการแก้กฎหมายรัฐจำเป็นต้องเยียวยาด้วยมาตรการเยียวยาที่หลากหลาย เช่น อัดฉีดเม็ดเงิน ปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยให้กลุ่มประมงได้นับ 1 ใหม่ ทั้งยังมองว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้ เอื้อประมงพื้นบ้าน ซึ่งขนาดเรือไม่ควรใหญ่เกิน 3-5 ตันกรอส หากใหญ่กว่านั้นควรเรียกว่า “ประมงพื้นบ้านพานิชย์” กลุ่มนี้ใช้สิทธิประมงพื้นบ้าน จับปลาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ในฤดูวางไข่ แล้วทรัพยากรจะพื้นได้อย่างไร
ขณะที่ โชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี แกนนำประมงพื้นบ้าน เห็นว่าประมงเป็นปัญหาใหญ่ แต่การพูดคุยในสภาฯ ยังคงเน้นไปที่การแก้ปัญหาให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการมากกว่ามองเรื่องความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายประมงอีก 7 ฉบับ ของ สส. มีการเปิดช่องให้ทำประมงหนัก ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยอนุญาตแต่รอบนี้มีความคิดหลายด้าน เช่น ให้จับปลาเวลากลางคืนได้ โดยใช้อวนตาถี่มากขึ้น ให้กลับมาใช้เป็นครั้งแรก
“การแก้กฎหมายประมงครั้งนี้ เอาใจผู้ประกอบการประมง และง่ายต่อการใช้แรงงานมากขึ้น คือไปลดหย่อนการแจ้งเข้า แจ้งออก ในทะเลมันจับมือใครดมไม่ได้ มีเรือมากมาย แม้หลังจากทำตามกฎ IUU แต่ที่ผ่านมา ยังมีแรงงานบนเรือตกทะเลตายปีละร้อยกว่าคน มีหลายเรื่องคนในสังคมตามไม่ทัน เบื้องหลังยังมีการค้ามนุษย์”
เสี่ยงอันดับค้ามนุษย์แย่ลง สะเทือนการค้าต่างประเทศ
หากเปรียบเทียบภาพรวมร่างกฎหมายประมงทั้ง 8 ร่าง รศ.ธนพร ศรียางกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์ว่า ร่างกฎหมายฯ ของทุกพรรคอาจทำให้การจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยแย่ลง และอาจโดนมามาตรการกีดกันจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น
เช่น ใน พ.ร.ก.ประมง ม.4 (9) ที่เน้นการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานในภาคประมง แต่พอมาดูร่างรัฐบาล ที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจสอบพิจารณาแล้ว มาตรา 4 ตัดเรื่องแรงงานออก เท่ากับละเลยสวัสดิภาพคนงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ก็อาจทำให้ประเด็นการค้ามนุษย์จะกลับมา
หรือใน ม. 24 (3) การออกเรือไปจับปลาต้องแจ้งเข้า แจ้งออกทุกครั้ง แต่ปัจจุบันให้เลือกรายงานจะแจ้งเข้า หรือแจ้งออกก็ได้ อาจส่งเสริมการทำประมงผิดกฎหมาย ตรวจสอบยาก ไทยอาจจะหล่นไปเทียร์ 3 ซึ่งจะกลับมาได้ยากอีกครั้ง
ดังนั้นการแก้กฎหมายประมง จึงไม่ใช่แค่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่หมายถึงทรัพยากรร่วม ที่ใช้ด้วยกันทั้งประเทศ และจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องของความยั่งยืนไปถึงลูกหลานจึงจำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิด