รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ กำลังจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานหลายประกาศ ที่ริเริ่มในไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยทิศทางนโยบายดังกล่าว รวมไปถึงความพยายามแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก) การประมงในปัจจุบัน อาจเป็นอันตรายต่อการค้าอาหารทะเลมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 แสนล้านบาท)
โดยหากพิจารณาแค่ 6 ประเทศ บวกกับกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) รวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของการค้าอาหารทะเลของไทยในปี 2565 และกลุ่มนี้ก็เป็นประเทศที่มีหรือกำลังจะมีข้อกำหนดทางการค้า เพื่อควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลในประเด็ดเรื่องความโปร่งใส หรือการตรวจสอบย้อนกลับ
การถอยหลังนี้จะนำไปสู่การล่มสลายของทรัพยากรการประมงของไทย และมาตรการคุ้มครองแรงงานที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากข้อกำเสนอการยกเลิกกลไกความโปร่งใส และมาตรการกำกับดูแลในการติดตามและจำกัดเครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง ซึ่งจากรายงานสรุปการเปลี่ยนแปลงกฎหมายประมงของประเทศไทยนั้น มุ่งเน้นและจำกัดไปที่การแก้ไข พ.ร.ก.ประมงที่เสนอไว้โดยเฉพาะ
ขณะเดียวกันความพยายามแก้ไข พ.ร.ก.ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากพรรคการเมืองในทุกช่วงการเมือง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการล็อบบี้ทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพโดยกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งเป็นเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ ซึ่งกลุ่มเจ้าของเรือประมงพาณิชย์มีการแย้งมานานแล้วว่าการประมงไม่สามารถทำกำไรได้อีกต่อไป และการปฏิรูปการประมงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ได้สร้างภาระทางการเงินและภาระในการติดต่อกับระบบราชการมากเกิดไปในการดำเนินธุรกิจของพวกเขา และยังมีการแย้งอีกว่าบทลงโทษสำหรับการทำประมงที่ทำผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู (IUU) นั้น มีความรุนแรงเกินไป และไม่มีประสิทธิภาพด้วย
มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) วิเคราะห์ว่ามีอย่างน้อย 17 จากร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคการเมือง 7 พรรค ที่จะทำลายความสำเร็จการปฏิรูปการประมงด้านความโปร่งใส ความยั่งยืน และการคุ้มครองแรงงานหลายประการที่ได้รับในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา โดยร่างของพรรคก้าวไกลถือเป็นร่างฯที่สุดโต่ง ในแง่ของการแก้ไขมากถึง 82% ของบทความที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไข พ.ร.ก.การประมงกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน ก่อนจะสิ้นสุด และนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อลงคะแนนเสียง
สำหรับกลุ่มมาตราในร่างกฎหมายที่น่ากังวลแบ่งออกเป็น 8 หมวด
1.บทลงโทษที่อ่อนแอลงในการขัดขวางการทำประมง IUU
โดยมีมาตราอย่างน้อย 53 มาตรา จากร่างทั้งหมดพยายามที่จะลบ หรือลดบทลงโทษสำหรับอาชญากรรมการทำประมง IUU โดยไม่มีโทษจำคุกสำหรับความผิดใดเลย ในขณะที่ค่าปรับบางส่วนลดลงสูงสุดถึง 98% ระบบการลงโทษยังได้เปลี่ยนจากอัตราตามสัดส่วนไปเป็นอัตราคงที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรือลำเล็กมากขึ้น
2.รื้อฟื้นการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล มาตรา 85/1 และ มาตรา 87
มีสัดส่วน 88% ของร่างฯ มีมาตราที่เสนอการรื้อฟื้นแนวทางปฏิบัติต้องห้ามในการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ได้ถูกห้าม เพราะในอดีตทำให้เกิดการฟอกขาวอาหารทะเลที่จับด้วยวิธี IUU คือ ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลสู่เรือลำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นการยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวจะเป็นการรื้อฟื้นแนวปฏิบัติที่ถูกห้าม และจะทำลายความสามารถของกลไกในการติดตามตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งยังขัดแย้งกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ
3.รื้อฟื้นการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล มาตรา 83/1
สัดส่วน 60% ของร่างฯ มีมาตราที่เสนอการรื้อฟื้นแนวปฏิบัติการเปลี่ยนย่ายลูกเรือกลางทะเลกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งการแก้ไขนี้มองข้ามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแนวการย้ายลูกเรือกลางทะเล โดยในอดีตการย้ายลูกเรือกลางทะเลในกองเรือประมงของไทย หลัก ๆ คือ การหมุนเวียนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร หรือตกอยู่ในสภาพแรงงานบังคับอยู่ในหมู่เรือประมงกลางทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานทาสเหล่านั้นหลบหนี หรือร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่เมื่อถึงฝั่ง
4.ลดทอนกลไกติดตาม ควบคุม และเฝ้าระหว่าง มาตรา 81(1)
มาตราในร่างกฎหมายหลายฉบับ มุ่งเป้าไปที่การลด หรือเพิกถอนข้อกำหนดสำหรับระบบการติดตามการทำประมง และตำแหน่งของเรือประมง กล่าวคือ เรือประมงพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องรายงานตำแหน่งของเรือประมงผ่านอุปกรณ์ติดตามเรืออัตโนมัติผ่านดาวเทียม หรือบันทึกพิกัดการทำประมงที่แน่นอนอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้การติดตามการทำประมงและตำแหน่งเรือประมง หรือเรือประมงพาณิชย์ จะไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำได้
5.การลดกลไกเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงาน มาตรา 82 และมาตรา 83
การแก้ไขข้อกำหนดสำหรับเรือประมงพาณิชย์ที่ต้องจัดเตรียม และแสดงรายชื่อลูกเรือที่ถูกต้องต่อเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะออกทำประมง รวมถึงร่างฯของพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้ไขข้อกำหนดให้แรงงานข้ามชาติ ไม่จำเป็นต้องถือหนังสือคนประจำเรืออีกต่อไป โดยข้อเสนอทั้งสองนี้ขัดแย้งกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่าด้วยการทำงานในภาพประมง และอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล รวมถึงอนุสัญญาองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (อนุสัญญาว่าด้วยมาตรญฐานการฝึกอบรม การรับรอง และการเฝ้าระวังสำหรับนักเดินเรือ) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน หรือภาคยานุวัติไว้
6.ลดทอนการควบคุมเครื่องมือประมงทำลายล้าง มาตรา 67
ข้อเสนอจะทำให้ถ้อยคำในมาตราเกี่ยวกับเครื่องมือประมงทำลายล้าง เช่น เรืออวนลาก ที่สมควรจะต้องได้รับการควบคุมเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นเครื่องมือประทงทำลายล้างที่คุกคามความยั่งยืน โดยเฉพาะผลกระทบจากการทำลายสัตว์เศรษฐกิจที่ยังโตไม่เต็มที่ แต่ข้อเสนอที่ผ่อนคลายการควบคุมดังกล่าว จะทำให้เครื่องมือประมงทำลายล้างชนิดนี้จะได้รับการผ่อนคลายลง รวมถึงการขึ้นทะเบียน
7.แก้ไขมาตราป้องกันคุ้มครองสัตว์น้ำที่หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ มาตรา 66
ร่างฯของ ครม. และพรรคการเมืองส่วนใหญ่พยายามที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของมาตราการป้องกันคุ้มครองสัตว์น้ำที่หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ โดยเพิ่มคำว่า “ล่า” ควบคู่ไปกับ “จับ” สัตว์น้ำที่หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ในบทบัญญัติ
อย่างไรก็ตามร่างฯ ของพรรคก้าวไกลจะแทนที่คำว่า “จับ” ด้วย “ล่า” และร่างฯของพรรคก้าวไกลระบุต่ออีกว่า ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ “เพื่อการค้า” เท่านั้น ถึงจะถือว่าผิดกฎหมาย แต่จะทำให้ไม่ครอบคลุมการทำลายสัตว์น้ำหายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ
8.ความพยายามกีดกันทางการค้าด้วยข้อกำหนดการนำเข้าและกำแพงการค้า มาตรา 97
ร่างกฎหมายหลายฉบับเรียกร้องให้มีการควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการกำหนดโควตา และกำแพงการค้าอื่นประกอบ ขณะที่ร่างฯของ ครม. มีการเสนอเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าอาหารทะเล 20 บาทต่อกิโลกรัม โดยข้อเสนอทั้งหมดเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรทางทะเลของไทยที่มีอยู่อย่างจำกัด และยังสุ่มเสี่ยงต่อการขัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ
แก้ กม.ประมง รอบใหม่ เสี่ยงกระทบทรัพยากร-ค้ามนุษย์
แก้กฎหมายประมง พาไทยเสี่ยงเจอ”ใบเหลือง” กระทบเจรจา FTA
แก้ไข พ.ร.ก.การประมง 2558 หวังฟื้นฟูอุตสาหกรรม
ร่างกฎกระทรวงใหม่ ลดอุปสรรคออกใบอนุญาตประมง
ที่มา: มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF)