ThaiPBS Logo

สภายุโรปชงกมธ.อียู ถกประเด็นไทยแก้กฎหมายประมง

29 ม.ค. 256815:55 น.
สภายุโรปชงกมธ.อียู ถกประเด็นไทยแก้กฎหมายประมง
รัฐสภายุโรปถกร่างกฎหมายประมงไทย ขอให้กรรมาธิการแสดงท่าทีต่อร่างกฎหมายของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา อ้างไทยกำลังถอยหลัง และอาจกระทบเจรจา FTA ระหว่างไทย-อียู

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยุโรปได้ยื่นกระทู้คำถามอย่างเป็นทางการต่อประธานรัฐสภายุโรป (European Parliament) เพื่อตั้งกระทู้ถามคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายประมงของไทยที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไทยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยกังวลว่าการแก้ไขดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing) และสภาพการทำงานของแรงงานในอุตสาหกรรมประมง

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเลเข้าสหภาพยุโรป การละเลยให้ประเทศไทยดำเนินการประมงที่ขัดต่อหลักการประมงยั่งยืนและโปร่งใสอาจไม่เป็นธรรมทั้งต่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศคู่ค้าอื่นๆของสหภาพยุโรปอีกด้วย โดยการผ่อนปรนกฎหมายนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไทยและสหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรี (EU-Thailand FTA)

รัฐสภายุโรปจี้กมธ.แจงท่าทีต่อร่าง พ.ร.บ. ประมงไทย

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. นายนิโคลัส กอนซาเลซ กาซาเรส (Nicolás González Casares) สมาชิกรัฐสภายุโรปชาวสเปนจากพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (Partido Socialista Obrero Españo) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรก้าวหน้าของสังคมนิยมและประชาธิปไตย ยื่นกระทู้หมายเลข E-000104/2025 ถามคณะกรรมาธิการยุโรปเรื่องท่าทีต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … ของไทย ภายหลังผ่านการลงมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรไทยในวาระ 2 – 3 ไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567 และภายหลังวุฒิสภาได้ลงมติรับหลักการในวาระ 1 เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568

กฎหมายประมง

กระทู้ถามจากสภายุโรป

นายนิโคลัสได้ยื่นกระทู้ถาม 2 ข้อ โดยตามระเบียบรัฐสภายุโรปนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปในฐานะฝ่ายบริหารจะต้องปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงส่งคำตอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรกลับรัฐสภายุโรปภายใน 30 วัน โดยในคำถามที่นายนิโคลัสได้ยื่นกระทู้ได้แก่

  1. คณะกรรมาธิการยุโรปจะดำเนินมาตรการใดเพื่อตอบโต้การแก้ไขกฎหมายที่สวนทางกับพันธกรณีในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายและการคุ้มครองสภาพการทำงานของแรงงาน
  2. ยุโรปจะปกป้องอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องของตนอย่างไร จากการถอยหลังของมาตรฐานกฎหมายไทยในบริบทของการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดของโลก

อนึ่ง ท่าทีของนายนิโคลัสสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของโฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Telegraph เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ว่า สินค้าอาหารทะเลของไทยอาจถูกนำออกจากชั้นขายของในห้างค้าปลีกของประเทศตะวันตก หากยังเดินหน้าร่างกฎหมายลดการปกป้องแรงงานเรือประมง โดยใบเหลืองที่ไทยเคยได้รับครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2558 หรือมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ อาจถูกนำมาใช้กับไทยได้ในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า นายนิโคลัสเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปชาวสเปน ซึ่งประเทศสเปนถือได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของประเทศไทยในการป้อนความต้องการการบริโภคทูน่าของสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ สเปนยังเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมหากประเทศไทยเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับทางสภาพยุโรป จนเป็นผลให้ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าด้านภาษีในการส่งออกทูน่าไปยังสหภาพยุโรป

ย้อนกลับจากมาตรฐานเดิม เสี่ยงต่อการคว่ำบาตรทางการค้า

ร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ถูกปรับลดมาตรฐานด้านต่าง ๆ อาทิ ขนาดตาอวน การขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลหลวง และการควบคุมด้านแรงงาน รวมถึงการลดบทลงโทษ ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางที่ไทยเคยดำเนินการภายใต้กฎหมายปีพ.ศ. 2558 ที่ออกมาเพื่อตอบสนองต่อการได้รับ “ใบเหลือง” จากคณะกรรมาธิการยุโรปในกรณีประมงผิดกฎหมาย โดยมาตราห่วงกังวลที่สำคัญซึ่งถูกเสนอแก้ไขได้แก่

● มาตรา 10/1-11/1: การลดทอนการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและแรงงานเด็กในสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ
● มาตรา 69: การอนุญาตอวนล้อมจับปั่นไฟจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่ในเวลากลางคืนอันจะนำมาซึ่งความล่มสลายของทรัพยากรสัตว์น้ำ
● มาตรา 85/1: การเปลี่ยนแปลงข้อบทที่เกี่ยวกับการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล จะสร้างความท้าทายในการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของสัตว์น้ำ
● และอื่น ๆ

ผลกระทบต่อข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

ไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีตลาดยุโรปเป็นผู้บริโภครายสำคัญ คณะกรรมาธิการยุโรปเคยเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในฐานะประเทศคู่ค้าด้านอาหารทะเลที่มีความรับผิดชอบ

คณะกรรมาธิการยุโรปเคยเตือนแล้วว่าการดำเนินนโยบายที่ลดทอนมาตรการควบคุมประมงผิดกฎหมายอาจนำไปสู่การพิจารณาออกคำเตือนใบเหลืองอีกครั้ง และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลของไทยไปยังตลาดยุโรป

ไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันจากยุโรป

ท่ามกลางกระแสการค้าเสรีที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน สหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงานเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำข้อตกลงทางการค้า หากไทยไม่สามารถรักษามาตรฐานการประมงที่โปร่งใสและยั่งยืน อาจเผชิญกับมาตรการกดดันทางการค้า หรือถูกจำกัดการเข้าถึงตลาดยุโรปในอนาคต

นักวิเคราะห์มองว่า การแก้ไขกฎหมายประมงของไทยอาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมประมงไทยเองในระยะยาว เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับต้น ๆ

ปัจจุบัน ยุโรปถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกอาหารทะเลรายสำคัญของไทย ซึ่งข้อกังวลจากฝั่งยุโรปอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าและแนวโน้มของข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยในอนาคต

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

ประมงเสี่ยงเจอ IUU หลังเลิกคุ้มครองแรงงาน-ใช้อวนตาถี่

อียูจับตาแก้กฎหมายประมงไทย ยันกระทบเจรจา FTA

ประมงไทยยังเสี่ยงละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

ประมง

รัฐบาลประกาศนโยบาย "จะฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนอีกครั้งด้วยการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมอันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน" โดยจะแก้กฎหมายที่รัฐบาลก่อนตกลงไว้กับสหภาพยุโรป (EU)

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

การค้า

นโยบายการค้าของไทย เผชิญกับความท้าทายมากขึ้น จากสงครามการค้า ทำให้มีความเสี่ยงจากการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งทำให้ไทยต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐ-จีน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางและประสานผลประโยชน์ทุกฝ่าย

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: