ทำให้นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่มีการแข่งขันสูงและถูกให้ความสำคัญอย่างมากเมื่อเทียบกับนโยบายอื่น
หลังจัดตั้งรัฐบาล นโยบายพักหนี้เกษตรกรได้เปิดให้เกษตรกรที่มีหนี้รวมทุกสัญญากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 300,000 บาทต่อคน ลงทะเบียนใช้สิทธิ์พักหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 มกราคม 2567 (4 เดือน) โดยระยะแรกเกษตรจะได้สิทธิ์พักหนี้ 1 ปี นโยบายดังกล่าวจะครอบคลุมลูกหนี้ ธ.ก.ส. ประมาณ 2,698,000 คน ครอบคลุมหนี้รวม 283,328.0 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐจะชดเชยดอกเบี้ยแก่ ธ.ก.ส. ร้อยละ 4.5 ของปริมาณหนี้ที่เข้าโครงการทั้งหมด รวมเป็นเงิน 11,096 ล้านบาท
คำถามที่ตามมาคือ นโยบายพักหนี้ปัจจุบันต่างกับอดีตอย่างไร ? แค่นโยบายพักหนี้อย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ ? หากไม่ รัฐต้องทำอย่างไรเพื่อช่วยเกษตรให้หลุดออกจากกับดักหนี้ได้จริง ?
เกษตรกรยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้ ?
หากเรานึกถึงอาชีพเกษตรกร ภาพที่เห็นมักจะเป็นกลุ่มอาชีพที่มีรายได้น้อย รายจ่ายมาก และมีหนี้สินจำนวนมากเกินกว่าที่จ่ายได้ ภาพนี้อาจเป็นความจริงเพราะเกษตรกรได้กำไรเฉลี่ยจากการทำเกษตรกรรมเพียงวันละ 214.3 บาท เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำรายวันที่ 328 – 354 บาท จะพบว่ากำไรของเกษตรกรรายวันน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำมากถึงหนึ่งในสาม หรือจากผลการสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) ที่พบว่าเกษตรกร 45% มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แม้บางครัวเรือนจะมีรายได้มากกว่ารายจ่ายก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะมีเกษตรกรถึง 85% หมุนเงินไม่ทันอย่างน้อย 1 เดือน ปัญหาดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรออมเงินได้ยาก จ่ายหนี้ได้น้อย และอาจต้องกู้เงินก้อนใหม่เพื่อโปะหนี้ก้อนเดิม กลายเป็นกับดักหนี้ที่เกษตรกรต้องเผชิญในที่สุด
ภาพรวมนโยบายพักหนี้ปัจจุบันดีกว่าอดีต
เมื่อเทียบภายรวมนโยบายพักหนี้เกษตรกรในปัจจุบันกับอดีต จะพบข้อแตกต่างทั้งหมด 3 ส่วนคือ
- พักหนี้ปัจจุบันครอบคลุมถึงดอกเบี้ยด้วย ไม่ได้พักแค่เงินต้นเหมือนในอดีต
- เจาะจงเกษตรกรรายย่อยมากขึ้น
- เปิดช่องให้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ค้างชำระและเข้าโครงการพักหนี้สามารถกู้เงินเพิ่มได้ผ่าน “สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ” ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน
ข้อแรกถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายพักหนี้เกษตรกร เพราะหากเกษตรกรสามารถหารายได้หรือออมเงินเพื่อจ่ายหนี้ในช่วงเวลาที่มีการพักหนี้ ทั้งหมดจะหักเงินต้น ไม่หักดอกเบี้ยก่อนแล้วจึงหักเงินต้นทีหลังเหมือนการจ่ายหนี้ปกติ หนี้รวมจึงลดได้เร็วกว่าช่วงที่ไม่มีการพักหนี้ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายพักหนี้คือการสื่อสารระหว่าง ธ.ก.ส. กับเกษตรกร ถึงสิทธิพิเศษของเกษตรกรที่จะได้รับหากเลือกจ่ายหนี้ในช่วงที่เข้าโครงการพักหนี้
เมื่อเทียบคุณสมบัติของเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการพักหนี้ระหว่างปัจจุบันกับยุคยิ่งลักษณ์ เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการพักหนี้ในปัจจุบันต้องมีหนี้ทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 300,000 บาทต่อคน น้อยกว่ายุคยิ่งลักษณ์ที่กำหนดว่าเกษตรกรต้องมีหนี้ทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทต่อคน การปรับคุณสมบัติดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงที่เงินช่วยเหลือจะลงกับเกษตรกรรายใหญ่ แต่ก็กีดกันเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการความช่วยเหลือแต่มีหนี้มากกว่า 300,000 บาทออกไป เพื่อให้ช่วยเหลือได้ตรงจุดมากขึ้น รัฐอาจไม่ใช้จำนวนหนี้ของเกษตรกรเป็นเกณฑ์กำหนดผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ แต่อาจใช้ประวัติการจ่ายหนี้ของเกษตรกรแต่ละรายเป็นเกณฑ์แทน เช่น เน้นช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้หรือจ่ายได้เพียงดอกเบี้ยเป็นหลัก
นอกจากนั้นการเปิดช่องให้เกษตรกรที่เข้าโครงการพักหนี้และเป็นลูกหนี้ค้างชำระ เข้าถึงสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ยังสร้างโอกาศการลงทุนใหม่แก่เกษตรกรกลุ่มนี้เพื่อเพิ่มรายได้และมีเงินเพียงพอในการจ่ายหนี้ ไม่ผลักเกษตรกรให้กู้หนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงเหมือนในอดีต
แต่นโยบายพักหนี้อาจไม่ช่วยให้เกษตรกรออกจากกับดักหนี้ได้เท่าที่ควร เพราะจากบทเรียนในอดีตเกษตรกรที่เข้าโครงการพักหนี้ กลับมีหนี้เพิ่มเฉลี่ย 7% มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเฉลี่ย 0.7% – 1.4% และไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรเพิ่มการลงทุนหรือพัฒนากระบวนการผลิตมากนัก แม้จะกำหนดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ต้องเข้าอบรมฟื้นฟูอาชีพก็ตาม หาก ธ.ก.ส. ยังคงใช้วิธีเดิมในการฟื้นฟูลูกหนี้ ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะยังคงติดกับดักหนี้อยู่
ดังนั้นนอกจากรัฐจะต้องติดตามจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและปริมาณหนี้ที่เข้าโครงการแล้ว รัฐต้องติดตามผลกระทบของการพักหนี้ของเกษตรกรเป็นรายปีด้วย โดยเฉพาะการชำระเงินต้นของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการว่ามากแค่ไหน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของนโยบายในการช่วยเกษตรกรออกจากกับดักหนี้ ปรับปรุงเงื่อนไขหรือคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการให้ดียิ่งขึ้น
พักหนี้แค่ยาชา ต้องเดินหน้าปรับโครงสร้าง
นโยบายพักหนี้คือนโยบายแก้ปัญหาหนี้ของเกษตรกรแบบเฉพาะหน้า โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือ “ทำอย่างไรถึงจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน” คำตอบอาจเป็นการรวมหนี้หลายก้อนเข้าด้วยกันและเจรจาลดต้น/ดอกเบี้ย การดึงเกษตรกรเข้าฐานข้อมูลการผลิตและเครดิตบูโร การเปลี่ยนวิธีการเติมรายได้เกษตรกรจากเงินอุดหนุนแบบเดิมเป็นการให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทเพื่อจูงใจให้เกษตรกรออกจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมหรือบริการ เป็นต้น
บทความโดย ฉัตร คำแสง และกษิดิ์เดช คำพุช 101 PUB