จากกระแสการเติบโตของยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก รวมทั้งการตื่นตัวการใช้งานของผู้บริโภคในประเทศ จากมาตรการสนับจากภาครัฐบาล ทำให้แนวโน้มการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเติบโตค่อนข้างมาก โดยบรรดานักวิเคราะห์จากหลายสำนักมองตรงกันว่าการเติบโตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังเป็นแค่เริ่มต้น แต่ังสามารถเติบโตได้อีกมาก
SCB EIC วิเคราะห์ 3 ปัจจัยสนับสนุน EV
SCB EIC ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ ‘EV’olution การปฏิวัติยานยนต์ไฟฟ้า’ โลกไปทางไหน? ไทยได้อะไรบ้าง? เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 โดยบทวิเคราะห์ดังกล่าว ระบุว่า กระแสของผู้บริโภคที่สนับสนุนการเติบโตของตลาด EV เพิ่มมากขึ้น มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย บราซิล และอินเดีย ที่ต่างส่งเสริมการใช้งานและการลงทุนในอุตสาหกรรม EV
- ประเทศไทยและอีก 190 กว่าประเทศทั่วโลก ได้ลงนามเข้าร่วมสัตยาบันความตกลงปารีส (Paris agreement) ในปี 2559 โดยตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
- กลุ่มประเทศ ASEAN อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเริ่มทยอยออกมาตรการส่งเสริมการใช้รถ EV ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
- ในประเทศไทย มีมาตรการอุดหนุนราคารถ EV ควบคู่กับการสร้างความพร้อมด้านสถานีชาร์จให้ครอบคลุม
2. ราคาพลังงานที่ผันผวนและปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถ EV ลดลงและคาดว่าจะต่ำกว่ารถสันดาปในระยะยาว
- ราคาน้ำมันดิบผันผวนและพุ่งสูงขึ้น หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
- ยานยนต์ EV ตอบโจทย์การลดค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือนและธุรกิจ เช่น ในประเทศจีน ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถ EV ต่ำกว่ารถสันดาป (ICE) 3 เท่า จากต้นทุนการชาร์จไฟฟ้าต่ำกว่าค่าน้ำมัน และการสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้ต้นทุนการครอบครอง (Vechicle cost) ต่ำลง
- ในประเทศไทย มีผลการศึกษาค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงโดย Thai EV Updates บ่งชี้ว่า การใช้รถ EV จะประหยัดกว่ารถสันดาปประมาณ 4.2 เท่า เมื่อใช้งานไปแล้ว 8 – 10 ปี
3. การรุกตลาด EV จากค่ายรถจีน ทำให้มีตัวเลือกหลากหลาย ในด้านรูปลักษณ์ ฟังก์ชันการใช้งาน และราคา
- การทำการตลาดของแบรนด์รถจากจีนประสบความสำเร็จสูงที่สุดในแถบ ASEAN เพราะรถ EV ได้รับความสนใจเนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้นของนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ไม่รุนแรงมากนัก
- ค่ายรถจากจีนสามารถพัฒนาและต่อยอดกำลังการผลิตให้ส่งขายออกไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากฐานผู้บริโภคภายในประเทศจีน เพราะได้รับการสนับสนุนจากหลายด้าน เช่น นโยบายการสนับสนุนรถ EV ของภาครัฐ ทำให้ราคาจับต้องได้และมีตัวเลือกหลากหลาย
- ในประเทศไทย พบว่า จำนวนโมเดลรถ EV ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 3 โมเดลในปี 2561 เป็น 40 โมเดลในปี 2565 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรุกตลาดจากค่ายรถจีน (การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) และกรมการขนส่งทางบก ปี 2566)
KKP Research วิเคราะห์ 4 ปัจจัยฉุดรั้ง EV
ในขณะที่ KKP Research ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ ส่องตลาด EV ในประเทศไทย: 3 ปัจจัยเร่ง 4 ปัจจัยท้าทายยานยนต์แห่งอนาคต เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 โดยบทวิเคราะห์ดังกล่าว ระบุว่า ตลาด EV ในประเทศไทยจะเติบโตได้จาก 3 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่
1. ปัญหามลภาวะทางอากาศในเมือง (PM 2.5) ทำให้ชนชั้นกลางตื่นตัว
2. ราคา EV ที่ทยอยปรับลดลงจากพัฒนาการของแบตเตอรี่
3. ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนส่งผลให้ ตัวเลือก EV นำเข้าจากจีนมีมากขึ้นและไหลเข้าสู่ไทยต่อเนื่อง
ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยสนับสนุนเป็นไปในทิศทางเดียวกันบทวิเคราะห์ของ SCB EIC นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ของ KKP Research ยังกล่าวต่อด้วยว่า แม้โอกาสในการเติบโตของตลาด EV ในไทยจะมีอยู่สูง แต่ยังมีอุปสรรคอย่างน้อย 4 ประการที่จะฉุดรั้งหรือชะลอการขยายตัวของ EV ในไทย ได้แก่
1. ราคารถ EV ที่ยังสูงและไม่คุ้มค่า
- EV ที่มีวางขายอยู่ในไทยล้วนมีราคาเริ่มต้นที่เกือบ 1 ล้านบาทหรือสูงกว่า แม้จะเป็นระดับราคาที่ไม่สูงไปกว่ารถสันดาปในกลุ่ม (segment) เดียวกันมากนัก แต่ยังไม่สามารถจูงใจให้เปลี่ยนจากการใช้รถสันดาปมาใช้รถ EV ได้
- แม้รถ EV จะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการดูแลรักษาที่ต่ำกว่า แต่ราคาขายต่อ (resale value) ในระยะแรกยังมีแนวโน้มผันผวนได้มากกว่ารถสันดาปตามราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงต่อเนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี
2. มาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ไม่ตรงจุด อาจยังไม่เอื้อต่อการสร้างฐานการผลิต EV ในประเทศ
- แม้ภาครัฐจะให้แรงจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างฐานการผลิต EV ในประเทศ แต่มาตรการที่มีอยู่ไม่อาจจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมที่เป็นรถสันดาป (โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถญี่ปุ่น) หันมาลงทุนสายการผลิต EV ภายในประเทศไทยได้ เนื่องจากต้องลงทุนสูง และยังไม่มีตลาดในประเทศรองรับเพียงพอ
- นอกจากนี้ การคงภาษีนำเข้าแบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ EV ยังเป็นอุปสรรคต่อการเกิดอุตสาหกรรม EV ในประเทศ
3. สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ
- ในปี 2563 ไทยมีจำนวนหัวจ่ายไฟฟ้าสาธารณะทั่วประเทศรวม 1,964 หัวจ่าย หรือคิดเป็นเพียง 56 หัวจ่ายต่อประชากรในเมือง 1 ล้านคน
- เป็นปัจจัยลำดับต้นที่ทำให้ผู้ต้องการซื้อรถยังไม่กล้าตัดสินใจซื้อ EV เนื่องจากมองว่าไม่เหมาะต่อการเดินทางระยะทางไกลข้ามจังหวัด
4. แนวโน้มการใช้ชีวิตในเมืองที่พึ่งพารถยนต์ส่วนตัวน้อยลงและหันไปใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแทน
- รูปแบบการอยู่อาศัยของคนเมืองที่นิยมอยู่อาศัยในอาคารสูงที่มักมีที่จอดรถจำกัด ประกอบกับระบบขนส่งมวลชนที่กำลังแผ่ขยายไปในเขตชานเมือง รวมถึงการเรียกรถผ่านระบบออนไลน์ (ride-hailing services)
แนวโน้มยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย พบว่าข้อมูลจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ จำแนกตามชนิดเชื้อเพลิง โดยกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มยอดจดทะเบียนรถ EV ในไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยสถิติการจดทะเบียนรถ EV เริ่มต้นเก็บข้อมูลในปี 2553 พบว่าในปีแรก มียอดจดทะเบียนสูงถึง 595 คัน แต่แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 594 คัน หลังจากนั้นยอดจดทะเบียนมีแนวโน้มลดลง และส่วนใหญ่เป็นยอดของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า
จากนั้นในปี 2558 เป็นปีแรกที่มีการจดทะเบียนรถโดยสารไฟฟ้า และปี 2564 เป็นปีแรกที่มีการจดทะเบียนรถบรรทุกไฟฟ้า
ยอดจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อสิ้นปี 2562 โดยมียอดสะสมทั้งปีอยู่ที่ 1,572 คัน เมื่อเทียบกับยอดจากปี 2561 ที่ 325 คัน (เพิ่มขึ้นมา 1,247 คัน คิดเป็น 384%) และแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั้งจากนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล และจากปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น
ล่าสุดในปี 2566 มียอดจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 – 31 ต.ค. 2566 สะสมอยู่ที่ 77,741 คัน ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ 20,817 คัน (เพิ่มขึ้นมา 56,924 คัน คิดเป็น 253%)
หลังจากนี้ เป็นที่น่าติดตามว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จากปัจจัยที่กล่าวไว้ข้างต้นจะเป็นอย่างไร จะมีแนวโน้มเปลี่ยนไปหรือไม่ ไม่ว่าจะทั้งปัจจัยที่สนับสนุนหรือปัจจัยที่ชะลอกระแสผู้บริโภคในตลาด EV โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐในด้านสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนการใช้รถ EV เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการเติบโตของตลาดรถ EV โดยตรง