วนเวียนกลับมาอีกครั้งกับนโยบายแจกแท็บเล็ต หลังจากนโยบายปรากฏสู่สายตาประชาชนชาวไทยครั้งแรกเมื่อปี 2555 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย เป็นเวลาสิบกว่าปีที่ไม่ได้มีการแจกแท็บเล็ตต่อ (แม้จะมีการพูดถึงบ้าง เช่น ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประสบสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และมีความคิดที่จะแจกแท็บเล็ต แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด)
ก่อนที่นโยบายแจกแท็บเล็ตจะกลับมาอีกครั้งในสมัย รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกัน เป็นการกลับมาในรอบสิบปี โดยถูกพูดถึงตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคือ
- นโยบาย “Free tablet for all” โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต
- โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านออนไลน์เช่นเดียวกัน
แม้จะเป็นนโยบายเพื่อส่งเสริมด้านการศึกษาและเน้นไปที่การแจกแท็บเล็ตเหมือนกัน แต่เมื่อกาลเวลาและรัฐบาลเปลี่ยนไป นโยบายก็เปลี่ยนแปลง ภาพรวมของทั้งสองโครงการกลับมีวัตถุประสงค์ รายละเอียดโครงการ การดำเนินการ และข้อจำกัดที่แตกต่างกันพอสมควร Policy Watch ขอเชิญชวนเพื่อดูว่า ระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านไป นโยบายแจกแท็บเล็ตของสองรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
เทียบนโยบายแจกแท็บเล็ต รัฐบาล ยิ่งลักษณ์-เศรษฐา
วัตถุประสงค์เดิมแต่เป้าหมายเปลี่ยน
เริ่มต้นที่ชื่อโครงการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีชื่อโครงการว่า “โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย” หรือ “One Tablet PC per Child (OTPC)” ในขณะที่ในรัฐบาลเศรษฐามีชื่อว่า “โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)” อย่างที่ทราบแล้วว่าทั้งสองโครงการมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือการแจกอุปกรณ์การศึกษา (ซึ่งในที่นี้คือแท็บเล็ต) ให้แก่นักเรียนและครูเพื่อใช้ในการเรียนการสอน โดยมีวัตถุประสงค์เหมือนกันคือ เชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และเข้าถึงข้อมูลเพื่อเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัดสถานที่และเวลา
แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ กลุ่มเป้าหมายของทั้งสองโครงการ โดยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแจกให้นักเรียนชั้น ป.1 และชั้น ม.1 และครูผู้สอน จึงเป็นการเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 สามารถอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น รวมไปถึงการสร้างนิสัยให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ ในขณะที่รัฐบาลเศรษฐาจะแจกให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ชั้น ม.4 – ม.6) และครูผู้สอน เพื่อเน้นที่การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระและประกอบอาชีพได้
จำนวนเครื่องลดลง แต่ราคาต่อเครื่องสูงขึ้น
ระยะเวลาการดำเนินการของโครงการสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น (ปี 2555 – 2556) โดยมีงบประมาณรวม 6,611 ล้านบาท แบ่งเป็น
- งบประมาณปี 2555 แจกแท็บเล็ตประมาณ 858,869 เครื่อง งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาท*
- งบประมาณปี 2556 แจกแท็บเล็ตประมาณ 1,634,314 เครื่อง งบประมาณรวม 4,611 ล้านบาท
โดยตัวเลขงบประมาณปี 2555 มาจากการคาดคะเนจากข่าวที่ปรากฏ นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรปีงบประมาณ 2557 อีกประมาณ 5,800 ล้านบาทเพื่อซื้อแท็บเล็ต แต่โครงการถูกยุติก่อนเริ่มดำเนินการ
รวมแจกอุปกรณ์ทั้งหมดประมาณ 2.49 ล้านเครื่อง ราคาอุปกรณ์ประมาณ 2,674 – 2,920 บาทต่อเครื่อง
อย่างไรก็ตาม โครงการถูกยุติลงในปี 2557 ภายหลังรัฐบาลพลเรือนถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ตามมาด้วยการประชุมพิจารณาโครงการ OTPC ในวันที่ 16 มิ.ย. 2557 ซึ่งมีพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้าคสช. กำกับดูแลฝ่ายสังคมจิตวิทยา โดยมีมติให้ยกเลิกการจัดซื้อแท็บเล็ตที่เหลืออยู่ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสม
ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลเศรษฐา เริ่มดำเนินการในปี 2566 มีงบประมาณจนถึงปัจจุบัน รวมประมาณ 22,585.23 ล้านบาท (คิดเป็น 3.44 เท่าเมื่อเทียบกับงบสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์) แบ่งเป็น
- งบประมาณปี 2567 ยังไม่มีการแจก แต่เป็นการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล งบประมาณรวม 482.26 ล้านบาท
- งบประมาณปี 2568 แจกแท็บเล็ต (หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนอื่น ๆ เช่น โน๊ตบุ๊ค) ประมาณ 607,655 เครื่อง งบประมาณรวม 22,102.97 ล้านบาท โดยจะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572)
รวมแจกอุปกรณ์ทั้งหมดประมาณ 607,655 ล้านเครื่อง (คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 เท่าของจำนวนที่แจกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์) และราคาอุปกรณ์ประมาณ 25,200 – 28,200 บาทต่อเครื่อง (คิดเป็นประมาณ 9.55 เท่าของราคาต่อเครื่องในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์)
จะเห็นได้ว่าในภาพรวมโครงการในรัฐบาลเศรษฐามีการใช้งบประมาณที่มากกว่า ราคาอุปกรณ์แพงกว่า แต่แจกอุปกรณ์น้อยกว่า เมื่อเทียบกับในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
สิ่งที่ต้องดำเนินการพัฒนาไปด้วยกัน
นอกเหนือจากการแจกแท็บเล็ตแล้ว ทั้งสองรัฐบาลมีการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการแจกแท็บเล็ตเพิ่มเติม เนื่องจากแท็บเล็ตเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้เท่านั้น ในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น เนื้อหาที่เรียน
โดยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการดำเนินการอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอน (เนื้อหาชั้น ป.1)
- พัฒนาครู / บุคลากรทางการศึกษา อบรมหลักสูตรการบูรณาการใช้แท็บเล็ต
- ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพเครือข่าย Fiber Optic และ Wi-Net
- พัฒนา Wi-Fi Network
และรัฐบาลเศรษฐามีการดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้
- พัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น
- การเช่าใช้ระบบคลาวด์
- การจ้างที่ปรึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้
- การจัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล
- การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและการบริหารจัดการระบบ
- การจัดทำนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์
- พัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น
- การจัดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
- การสร้างสรรค์สื่อและการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล
- การสร้างเครือข่ายผู้สร้างสื่อเทคโนโลยีและผู้ใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล
อาจสรุปได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์เน้นไปที่การสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ตได้ ในขณะที่รัฐบาลเศรษฐาเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้เป็นหลัก
สำรวจอุปสรรคและข้อจำกัด
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นเสียทีเดียว โครงการแจกแท็บเล็ตต้องเผชิญปัญหาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เช่น การดำเนินการจัดสรรที่ล่าช้าและไม่ครบถ้วน แท็บเล็ตในยุคนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการใช้งานแท็บเล็ต เช่น โครงข่ายอินเตอร์เน็ตของโรงเรียน
ในขณะที่โครงการในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการแจกจึงยังไม่พบข้อจำกัดหรือปัญหามาก อย่างไรก็ตาม โครงการถูกระบุตั้งแต่ต้นว่าเป็นการเช่าอุปกรณ์ ระยะเวลา 60 เดือน และมีการถกเถียงว่าจะมีการเปลี่ยนจากการแจกแท็บเล็ต เป็นโน้ตบุ๊กแทนหรือไม่ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 17 พ.ย. 2566
ย้อนดูผลดี-ผลเสีย นโยบายแจกแท็บเล็ตยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
นโยบายแจกแท็บเล็ตยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงผลดี ผลเสีย และความคุ้มค่าของโครงการ ตั้งแต่เริ่มการแจกครั้งแรกในปี 2555
ปี 2556 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำการสำรวจความพึงพอใจเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลในรัฐบาล (ซึ่งคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการติดตามและประเมินผลโครงการต่อไป โดยทำการสำรวจความคิดเห็นของครูผู้สอนใน 2,854 โรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรแท็บเล็ต โดยมีผลการสำรวจดังนี้
ผลดี (เรียงตามลำดับ)
- มีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย จูงใจให้อยากเรียนรู้ / สนใจการเรียนมากขึ้น (87.5%)
- มีโอกาสเรียนรู้พื้นฐานในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (83.4%)
- ก้าวทันโลกโลกาภิวัตน์ / การเรียนรู้ไม่จํากัดเวลาและสถานที่ (78.9%)
- สร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันทางการศึกษา (73.3%)
- มีโลกทัศน์กว้างขึ้น (69.5%)
- ส่งเสริมการอ่านและการเรียนภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น (68.6%)
- ช่วยกระตุ้นครูในการสอนให้ดีขึ้น (54.0%)
ภาพรวมในผลดี ครูผู้สอนเชื่อว่าโครงการช่วยนักเรียน ป.1 ในด้านการเรียนรู้ได้จริง จูงใจให้อยากเรียนรู้ เรียนรู้ได้ทุกที่ สร้างโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษ รวมถึงช่วยให้ครูสอนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเรียนการสอนโดยตรง เช่น มีพื้นฐานการใช้งานคอมพิวเตอร์ และมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น
ผลเสีย (เรียงตามลำดับ)
- มีปัญหาเรื่องสายตา-สุขภาพ ออกกําลังกายน้อยลง (59.4%)
- กระทบทักษะการใช้มือเขียนของนักเรียน ป.1 (53.2%)
- สร้างภาระให้กับครู / ผู้ปกครองที่ต้องคอยดูแลไม่ให้แท็บเล็ตเสียหาย (50.8%)
- เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กคุ้นเคยกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ (45%)
- ขาดมนุษย์สัมพันธ์ / ลดการเล่นกับเพื่อน ๆ (44.6%)
- ทําให้ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่ม ในขณะที่งบประมาณด้านนี้ก็มีน้อยอยู่แล้ว (37.1%)
- ทําให้เด็กมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว (19.7%)
ภาพรวมในผลเสียคือการใช้แท็บเล็ตกระทบต่อตัวเด็กโดยตรง เช่น สายตาเสีย กระทบการใช้มือเขียน เป็นพื้นฐานให้เด็กคุ้นชินกับการเล่นเกม ขาดมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อน และก้าวร้าว มีกระทบต่อผู้ปกครองและครูในเชิงต้องดูแลเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้อุปกรณ์เสียหาย และภาระค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเพิ่ม
เสียงสะท้อน หลังรัฐบาลเศรษฐาเดินหน้านโยบายแจกแท็บเล็ตอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 นโยบายแจกแท็บเล็ตกลับมาอีกครั้ง ภายใต้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กลายมาเป็นที่พูดถึงในสังคม มีการพูดถึงโครงการดังกล่าวอย่างหลากหลาย บ้างเห็นด้วย บ้างไม่เห็นด้วย รวมถึงมีข้อกังวลหลายประการที่รัฐบาลควรที่จะทำเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนการแจกแท็บเล็ตในรอบก่อน
เสียงหนุนโครงการ
- ช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาจริง
- ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริง
เสียงค้านโครงการ
- อาจไม่คุ้มค่า อาจนำงบประมาณไปทำอย่างอื่นดีกว่า เช่น จ้างครูสอนเพิ่ม
- เป็นการเพิ่มภาระในการดูแลรักษา ไม่มีงบซ่อมแซมถ้าเครื่องมีปัญหา
- ผู้เรียนอาจไม่ใช้แท็บเล็ตตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะส่งผลเสียได้
หากจะแจก ต้องทำเพิ่ม
- บล็อกบางเว็บหรือบางโปรแกรม เช่น เว็บพนันออนไลน์ เกม
- มีอินเตอร์เน็ตให้มากับตัวเครื่อง
- วางโครงสร้างกับระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งประเทศ และฟรีไวไฟ
- มีระบบบริหารจัดการ คิดมาอย่างรอบคอบ ไม่ให้เหมือนการแจกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ทั้งหมดนี้เป็นการย้อนดูสิ่งที่ผ่านมาในอดีต เพื่อพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้นำไปพิจารณาประกอบเพื่อหาทางป้องกันปัญหา หรือพัฒนานโยบายแจกแท็บเล็ตให้ดีขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุดกับเงินงบประมาณที่จะลงทุนต่อไป
อ้างอิง
- รายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีที่หนึ่ง (วันที่ 23 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2555)
- รายงานแสดงผลการดําเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีที่สอง (วันที่ 23 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2556)
- รายงานผล การสำรวจความพึงพอใจเกี่ยวกับนโยบายการแจก Tablet ให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พ.ศ. 2556
- เปิดละเอียด “มหากาพย์” ขั้นตอนประมูลแท็บเล็ต “สพฐ” 4 โซน ฉบับเต็ม!
- แจกแท็บเล็ต Come Back ได้ไม่คุ้มเสีย-ของเก่าพัง
- ครม.อนุมัติโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime)