ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการยังใช้ทักษะในปี 2558 ในการจัดการศึกษา และใน 5 ปีต่อมา ทักษะบางอย่างไม่ได้ติด 10 อันดับแรกที่โลกต้องการอีกแล้ว นอกจากนี้ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยยังไม่ถูกปรับปรุงมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ทำให้สมรรถนะของเด็กไทยที่จบมาก้าวตามไม่ทันโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ นโยบาย ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ จึงถูกผลักดัน เพื่อให้นักเรียน แรงงาน และคนทุกช่วงวัยสามารถมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ เพื่อปรับตัวเองให้ทันต่อโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน
พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 จึงกำหนดการเรียนรู้ 3 รูปแบบที่ภาครัฐจะส่งเสริม ได้แก่ 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3) การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยมุ่งพัฒนาคนไทยให้มีทักษะอาชีพและทักษะชีวิตที่เท่าทันโลก สามารถปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดและโอกาสทางการงาน ผ่านการมีส่วนร่วมของ 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐ เอกชน และท้องถิ่น
พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาใหม่ เพราะมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างไปจากหน่วยงานอื่นในกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ 1) ผู้อยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษา 2) ผู้พ้นวัยที่จะอยู่ในสถานศึกษา และ 3) ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและยังไม่มีหน่วยงานใดไปดำเนินการ ด้วย พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะทำให้ผู้ด้อยโอกาส จะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา นำไปสู่โอกาสเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จุดเด่นของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเดิม จัดตั้งเป็น “ศูนย์การเรียนรู้” ที่จะขยายตัวรองรับทุกพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย-การศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา-อุดมศึกษา โดยมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องมีการปรับตัวให้ตอบสนองความต้องการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง