การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 ก.ค. 68 มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2568 – 2570 และระยะ 5 ปีต่อไป หรือเรียกว่า “แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2″ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
ที่มาแผนปฏิบัติการฉบับที่ 2
กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2567 หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการตามแผน จึงได้ดำเนินการถอดบทเรียนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง
การจัดทำแผน ได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่าง ๆ ใน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองฉบับที่ 2 รวมทั้งได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ (ทส.) เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อ 8 ก.พ. 68 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละออง ฉบับที่ 2
สำหรับ แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2 ให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด โดยใช้เครื่องมือและกลไกต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และการจัดการมลพิษข้ามแดน
เป้าหมายลด PM2.5 ระดับปลอดภัยตลอดวัน
วิสัยทัศน์: คุณภาพอากาศดี ด้วยการร่วมมือของทุกภาคส่วน
เป้าหมาย:
- ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ตลอด 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- พื้นที่เผาไหม้ (Burnt scar) ลดลง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
กรอบแนวคิด:
การบริหารจัดการคุณภาพอากาศมีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องสุขภาพของประชาชนและรักษาคุณภาพอากาศของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และหมอกควันข้ามแดนโดยการบูรณาการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
รอบเกือบ 10 ปี ค่าเฉลี่ย PM2.5 เกินมาตรฐาน
พื้นที่ทั่วประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยรายปีฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2561 – 2567 อยู่ในช่วง 20 – 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในเวลา 24 ชั่วโมง อยู่ในช่วง 133.3 – 585.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป
ตามบทบัญญัติระบุว่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
สาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองมาจากแหล่งกำเนิด
- ในพื้นที่เมืองมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในยานพาหนะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น การสะสมของฝุ่นละอองในบริเวณตึกสูงเนื่องจากมีการระบายอากาศที่ต่ำ
- ในพื้นที่ป่าเกิดจากการเผาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนที่มักจะเกิดเหตุการณ์ไฟป่าเนื่องจากประชาชนเผาป่าเพื่อการหาของป่า ล่าสัตว์ และขยายพื้นที่ทำกิน ฯลฯ
- ในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก เช่น บริเวณภาคกลางที่สามารถเพาะปลูกข้าวได้หลายครั้งต่อปีทำให้เกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการปลูกข้าวรอบใหม่โดยเร็ว การเผาจึงเป็นวิธีที่ใช้เวลาน้อยและไม่ต้องลงทุน
- หมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากลมฤดูแล้งพัดพาหมอกควันและฝุ่นละอองข้ามแดน
การแก้ปัญหาเพื่อลด PM2.5 แยกตามแหล่งกำเนิดหลักที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองด้วยการพัฒนาเครื่องมือ กลไก เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบมาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วย 5 มาตรการ
มาตรการในพื้นที่เมือง
1.ภาคคมนาคม
- เร่งรัดการจัดหารถโดยสารมลพิษต่ำหรือรถโดยสารไฟฟ้ามาทดแทนรถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปให้เป็นไปตามเป้าหมายและครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในเขตเมืองโดยเร็ว
- กำหนดให้มีพื้นที่ควบคุมพิเศษ (Low Emission Zone) เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรและลดการสะสมของมลพิษทางอากาศในพื้นที่ อาจพิจารณาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้มีความแตกต่างตามขนาดและประเภทของยานพาหนะตามความเหมาะสม โดยมีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อระหว่างขนส่งมวลชนหลักและขนส่งมวลชนรอง (Feeder System) ที่เพียงพอ
- บังคับใช้มาตรการและกฎหมายควบคุมควันดำอย่างเข้มงวด ดังนี้
1) รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกจะต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากตรวจสภาพรถไม่ผ่านมีค่าควันดำเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะไม่สามารถต่อภาษีประจำปี ไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี และไม่สามารถนำรถมาใช้งานบนถนนได้
2) รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ที่ปล่อยควันดำเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และถูกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามใช้” ณ ด่านตรวจวัดควันดำริมถนนจะไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียนได้ จนกว่าเจ้าของรถ หรือผู้ประกอบการจะดำเนินการเสียค่าปรับและแก้ไขปรับปรุงรถให้ผ่านการตรวจสภาพ ปล่อยค่าควันดำไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อลบเครื่องหมาย “ห้ามใช้”
3) หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย หากตรวจพบยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน เจ้าของรถจะต้องแก้ไขปรับปรุงยานพาหนะมิให้ก่อให้เกิดมลพิษเกินมาตรฐาน และหากล่วงพ้นระยะเวลาที่กำหนด ให้สั่งระงับการใช้รถจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4) ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานและไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จะระงับการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีจนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ให้ปล่อยควันดำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
2.ภาคอุตสาหกรรม
- นำข้อมูลจากระบบการรายงานการระบายมลพิษอากาศผ่านระบบ Online ของโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้เพื่อการบริหารจัดการปัญหามลพิษอากาศ และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ
- กำหนดการบริหารจัดการการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการระบายมลพิษทางอากาศสูง (เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานผลิตน้ำตาลทราย เป็นต้น) ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต อาทิ การเหลื่อมเวลาการผลิตการลดกำลังการผลิต หรือลดจำนวนชั่วโมงการเดินระบบ หรือหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อลดปัญหาในช่วงวิกฤติฝุ่น
3.ภาคเมือง
- ส่งเสริมสนับสนุนให้นำพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานสะอาดมาใช้กับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง
- ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างประเภทต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างอาคาร การก่อสร้างถนนและทางพิเศษ และการก่อสร้างรถไฟฟ้า
มาตรการในพื้นที่ป่า
มุ่งเน้นการบริหารจัดการปัญหาการเผาในพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชน โดยจัดให้มีระบบเฝ้าระวังป้องกันการเกิดไฟ การจัดทำแนวกันไฟ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง กำหนดกฎ ระเบียบ กติกา การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า และสร้างความร่วมมือในการป้องกันรักษาป่า เช่น
(1) จัดทำข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการปัญหาการเผาทั้งพื้นที่เสี่ยง ต่อการเกิดไฟ พื้นที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการเชื้อเพลิง พื้นที่ที่จะจัดสรรสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลชุมชนที่อยู่ในเขต พื้นที่ป่า พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่เก็บหาของป่า สถิติข้อมูลพื้นที่ไฟไหม้ พื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก สาเหตุการเกิดไฟไหม้จำนวนจุดความร้อน ความพร้อมของจำนวนเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์
(2) จัดทำแผนจัดการป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชนเพื่ออากาศสะอาด ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ ชุมชน และภาคเอกชนในการรักษาฟื้นฟูระบบนิเวศป่า
(3) ประกาศปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ทุกกรณี (ยกเว้นเจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ผู้ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ และผู้ได้รับผ่อนผันให้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ป่า) ในช่วงเวลา ที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเผาในพื้นที่ป่า
(4) บริหารจัดการพื้นที่ป่าไฟไหม้ซ้ำซาก โดยจัดให้มีระบบเฝ้าระวังไฟป่า ที่มีเทคโนโลยีเหมาะสมและทันสมัย และครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบไฟป่าและตรวจจับผู้ก่อให้เกิดไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบตอบโต้สถานการณ์ที่มีประสิทธิภาพ มีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ งบประมาณ รวมถึงกำลังพลสำหรับกับไฟในป่าอย่างเพียงพอ
(5) ประกาศเชิญชวนและพิจารณาโครงการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนในการป้องกันปัญหาไฟป่าตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(6) กรณีฝ่าฝืนโดยบุกรุก/เผาป่า ให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามบทลงโทษสูงสุดและเปิดเผยข้อมูลการกระทำความผิดและโทษที่ได้รับ แก่สาธารณชน โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความตระหนักและป้องปรามการกระทำผิด
มาตรการในพื้นที่เกษตรกรรม
มุ่งเน้นการบริหารจัดการปัญหาการเผาและแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมโดยต้องมีฐานข้อมูลในระดับพื้นที่ การป้องกันและแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การกำหนด พื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสม การปรับโครงสร้างการผลิต การจัดการแปลงและการเก็บเกี่ยวโดยไม่มีการเผา การจัดการวัสดุทางการเกษตร การพัฒนามาตรฐาน และการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรที่ปลอดจากการเผา เช่น
(1) จัดทำแผนและดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตพืชที่เสี่ยงต่อการเผาโดยครอบคลุมอย่างน้อยสำหรับการเพาะปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย เพื่อให้มีการเพาะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม มีระบบจัดการแปลงการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวโดยไม่มีการเผา โดยมีแนวทางดำเนินการดังต่อไปนี้
- กำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชที่เสี่ยงต่อการเผา (Zoning) โดยใช้มาตรการเขตเกษตรเศรษฐกิจตามกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจการเกษตร
- จัดทำระบบและดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ปลอดจากการเผา
- จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตทางการเกษตร (Traceability) สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร
- ตลาดให้เช่า เช่าซื้อ หรือให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อการจัดการแปลงการเก็บเกี่ยวการจัดการเศษวัสดุการเกษตร
- จัดทำระบบการจัดการวัสดุการเกษตรที่ปลอดการเผา และการนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกร
- ส่งเสริมระบบตลาดสินค้าเกษตรที่ปลอดจากการเผา
- กำหนดแนวทาง รูปแบบการสนับสนุนของภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาระบบการเกษตรที่ปลอดการเผา
(2) ขึ้นทะเบียนรายชื่อเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟ อาทิ พื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่สูงในช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ที่ต้องการกำจัดศัตรูพืช การจัดการวัสดุทางการเกษตรก่อนการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าว พื้นที่ปลูกข้าวโพด และพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อนำไปวางแผนการบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด
(3) สร้างธุรกิจการจัดการเศษวัสดุการเกษตร โดยจัดให้มีระบบรวบรวมขนส่งและจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพและมีการรับซื้อด้วยราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมธุรกิจตลาดให้เช่า เช่าซื้อ หรือภาครัฐจัดบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร และสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จากการลงทุนเพื่อกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในโรงไฟฟ้าชีวมวล
(4) จัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การเผาในพื้นที่เกษตรและนำมาใช้ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ
(5) สนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรแบบไม่เผาหรือที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) เช่น สนับสนุนเครื่องจักรองค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่เพาะปลูกช่องทางการตลาด
มาตรการภาคมลพิษข้ามแดน
มุ่งเน้นการใช้มาตรการการประสานความร่วมมือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเจรจาระหว่างประเทศการพิจารณาควบคุมการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์และสินค้า และกำหนดความรับผิดของผู้ก่อซึ่งก่อให้เกิดหรือร่วมก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศข้ามแดน เช่น
(1) จัดทำข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศภายนอกราชอาณาจักรที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนภายในราชอาณาจักร และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศภายในราชอาณาจักร และนำไปสู่การบริหาร จัดการปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดน
(2) เสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในกรอบทวิภาคีอนุภูมิภาคอาเซียน และพหุภาคี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน
(3) จัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควันข้ามแดนและการกำหนดมาตรการ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขง
(4) จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการปฏิบัติการควบคุมและติดตามไฟป่าเพื่อพัฒนาทักษะ ด้านการใช้เทคโนโลยี
(5) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานอย่างรอบด้าน ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อสร้างหลักประกันว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรมทางการเกษตร และสินค้าอื่นใดในห่วงโซ่อุปทานของตนเองปราศจากการก่อให้เกิดหรือร่วมก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศข้ามแดน
มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
เป็นมาตรการเสริมเพื่อให้การดำเนินการป้องกัน ลด ควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากแหล่งกำเนิดภาคต่าง ๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีการสื่อสารและระบบแจ้งเตือน คุณภาพอากาศที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายทันต่อสถานการณ์ เพื่อการเฝ้าระวังภาวะมลพิษทางอากาศและผลกระทบจากมลพิษทางการอากาศต่อสุขภาพในช่วงวิกฤตรวมถึงการจัดให้มีระบบการปกป้องสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ จะดำเนินมาตรการทั้งในระยะแรก (พ.ศ. 2568 – 2570) และระยะ 5 ปีต่อไป
(1) พัฒนาศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบริหารจัดการคุณภาพอากาศที่มีการเฝ้าระวัง ติดตามและรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศแหล่งกำเนิด ข้อมูลอัตราป่วยกลุ่มโรค ที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 และมาตรการการดำเนินงาน
(2) บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนภาคสื่อมวลชนในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ด้วยการสื่อสาร ที่ทันต่อสถานการณ์แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการให้ข้อมูลจากผู้มีอำนาจให้ข่าวและให้บริการข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหรือหน่วยงาน โดยมีกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชนอย่างครอบคลุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความตื่นตระหนกที่เกิดจากการรับรู้และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
(3) เพิ่มบทบาทของเครือข่ายอาสาสมัครและจิตอาสาภาคประชาชน รวมถึงภาคเอกชน ในการช่วยประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนเหตุไฟไหม้ ในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร ตลอดจนร่วมมือกับท้องถิ่นในการดับไฟป่าและ ไฟในพื้นที่เกษตรโดยมุ่งสร้างเครือข่ายจิตอาสาที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุน การจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน
(4) จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงยารักษาโรค ทีม/หน่วยปฏิบัติการดูแลประชาชน ยกระดับการจัดบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมคลินิกมลพิษ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนให้สาธารณชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง
(5) พัฒนางานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการฝุ่นละออง PM2.5 และป้องกันสุขภาพของประชาชน อาทิ
- การศึกษาตรวจวัดการปล่อยมลพิษอากาศแบบ Real-time
- การพัฒนาฐานข้อมูลการระบายมลพิษ (Emission Inventory) จากข้อมูลตรวจวัดจริง
- การทำฝนเทียมในพื้นที่ป่าที่เกิดไฟไหม้จากธรรมชาติ
- การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในบริเวณชุมชนหรือพื้นที่ไหม้ซ้ำซาก
- การพัฒนาฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานร่วมกันในแต่ละประเทศ
- การจัดทำดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่เชื่อมโยงมิติทางด้านสุขภาพ (Air Quality Health Index : AQHI) สำหรับทั่วประเทศหรือเฉพาะเมืองใหญ่
- ระบบการตรวจติดตามให้ครบวงจรสามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ (PDCA)
- การผลิตวัสดุอุปกรณ์สำหรับจัดทำห้องปลอดฝุ่น
- งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับทัศนคติหรือแนวทางการปฏิบัติในเรื่องของ Work From Home
- การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อระหว่างขนส่งมวลชนหลักและขนส่งมวลชนรอง (Feeder System)
- การจัดทำเกณฑ์การประกาศเขตภัยพิบัติด้านฝุ่นละออง
กลไกและแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง
มติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมด้วยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำมาตรการและแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองฉบับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้กลไก 3 ระดับ ได้แก่
1) กลไกระดับชาติ : คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการ มอบหมาย ควบคุม กำกับ และติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2) กลไกระดับกลุ่มจังหวัด/แบบข้ามเขต : วิธีการบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีลักษณะเฉพาะของสภาพปัญหาความเฉพาะของระบบนิเวศ หรือกลุ่มเฉพาะด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องข้ามพื้นที่หรือข้ามจังหวัด
3) กลไกระดับพื้นที่ : ระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ อำนวยการสั่งการ และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
กทม.ติดอันดับ 42 โลก เมืองคุณภาพอากาศแย่
กรุงเทพฯ ฝุ่นพุ่ง ป่วยมาก ! แต่มาตรการพื้นที่ยังมุ่งจัดการแหล่งกำเนิดแบบ ‘ขอความร่วมมือ’