ThaiPBS Logo

เทียบร่างกฎหมายอากาศสะอาด 7 ฉบับ

12 มี.ค. 256716:40 น.
เทียบร่างกฎหมายอากาศสะอาด 7 ฉบับ
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือกำลังวิกฤตในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ติดอันดับ 2 ของเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก จนหลายฝ่ายต้องระดมสรรพกำลังออกมาเร่งแก้ปัญหา ในวันที่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างประสิทธิภาพ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กมธ. 

แต่ทว่า ในขั้นตอนการพิจารณาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักกับการหาข้อสรุปร่วมกัน จากร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับที่ แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ แต่ก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในหลายประเด็น ซึ่งต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้วร่างกฎหมายที่จะตกผลึกร่วมกันจะมีหน้าตาอย่างไร

โดยเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 39 คน ทำให้ความคืบหน้าในปัจจุบันของการร่างกฎหมายอากาศสะอาดอยู่ในวาระที่ 2 ขั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณารายละเอียดรายมาตรา และจะหลอมรวมร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ โดยมีฉบับร่างของรัฐบาล (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) เป็นร่างหลัก เพื่อรวมเป็นกฎหมายอากาศสะอาดฉบับเดียว

 

จาก 7 ร่างกฎหมาย หลอมรวมเป็นหนึ่ง

ร่างกฎหมายอากาศสะอาด 7 ฉบับ ประกอบด้วย

  1. ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) – ฉบับรัฐบาล (ใช้ร่างนี้เป็นหลัก)
  2. ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. (ตรีนุช เทียนทอง กับคณะ เป็นผู้เสนอ) – ฉบับพลังประชารัฐ
  3. ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. (อนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นผู้เสนอ) – ฉบับภูมิใจไทย
  4. ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. (จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) – ฉบับเพื่อไทย 
  5. ร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. …. (ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) – ฉบับก้าวไกล
  6. ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. (คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 22,251 คนเป็นผู้เสนอ) – ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด 
  7. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. (ร่มธรรม ขำนุรักษ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) – ฉบับประชาธิปัตย์

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเนื้อหารายละเอียดในร่างกฎหมายแต่ละฉบับมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การกำหนดคำนิยาม การเรียงลำดับมาตรา การแบ่งหมวดหมู่ แต่อาจแตกต่างในรายละเอียดเชิงลึก โดยอาจแบ่งได้ตามนี้

  • ฉบับรัฐบาลฉบับพลังประชารัฐ คล้ายกัน
  • ฉบับภูมิใจไทยฉบับเพื่อไทย คล้ายกัน
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาดฉบับประชาธิปัตย์ คล้ายกัน
  • ฉบับก้าวไกล ไม่คล้ายกับฉบับใดเลย

 

Policy Watch ได้ทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของแต่ละฉบับในส่วนที่สำคัญ ๆ ทั้งเรื่องการนิยาม สิทธิ-หน้าที่ คณะกรรมการ เครื่องมือ-มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ กองทุน และบทลงโทษ

 

นิยามคำว่า “อากาศสะอาด”

แม้กฎหมายทั้ง 7 ฉบับจะมีชื่อเล่นเรียกรวมว่า กฎหมายอากาศสะอาด แต่มีการกำหนดคำนิยามของอากาศสะอาดไว้ในกฎหมาย 5 ฉบับเท่านั้น (ทุกฉบับ ยกเว้นฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย) ดังนี้

  • ฉบับรัฐบาล หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ตามประกาศคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
  • ฉบับพลังประชารัฐ หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดประกาศกำหนด
  • ฉบับก้าวไกล หมายความว่า อากาศที่ไม่มีฝุ่นพิษ หรือไม่มีมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ตามค่าความปลอดภัยของคุณภาพอากาศที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด หรือตามที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือไม่มีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติ อันเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับสากล หรือตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม เป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่าง ๆ
  • ฉบับประชาธิปัตย์ หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือไม่มีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่าง ๆ อันเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับสากล หรือตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม

จะเห็นได้ว่า การให้ความหมายของคำว่า “อากาศสะอาด” ทั้ง 5 ฉบับ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ อากาศที่ไม่มีมลพิษเจือปนในปริมาณที่สูงเกินเกณฑ์ ซึ่งเกณฑ์อาจกำหนดโดยคณะกรรมการ องค์กรระหว่างประเทศ หรือการยอมรับทางวิชาการ ตามแต่ละฉบับ โดยในฉบับเครือเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ มีการพูดถึงเรื่องของกรอบเวลาว่า “นานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่าง ๆ” เพิ่มเติม

 

สิทธิ-หน้าที่ของบุคคล

เป็นหนึ่งในสาระสำคัญเพราะกำหนดถึงสิทธิที่ประชาชนจะได้รับ รวมไปถึงวิธีการให้ได้มาซึ่งสิทธินั้น ๆ ด้วย

  • สิทธิที่จะได้รับหรือหายใจอากาศสะอาด ระบุในทั้ง 7 ฉบับ
  • สิทธิในการเข้าถึงและรับทราบข้อมูลข่าวสาร ระบุในทั้ง 7 ฉบับ
  • สิทธิในการมีส่วนร่วมจัดทำแผนการและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง ระบุในทั้ง 7 ฉบับ
  • สิทธิทางศาลหรือการได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ระบุในทั้ง 7 ฉบับ แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันดังนี้
    • ฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ ให้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดี โดยบุคคลหรือหน่วยงานรัฐสามารถฟ้องร้องผู้ก่อมลพิษได้
    • ฉบับภูมิใจไทย ให้สิทธิทางศาล โดยสามารถฟ้องร้องบุคคลผู้ก่อมลพิษได้
    • ฉบับเพื่อไทย ให้สิทธิทางศาล โดยสามารถฟ้องร้องบุคคลหรือหน่วยงานรัฐผู้ก่อมลพิษได้ และรัฐให้คำแนะนำผู้ร้องเรียนในการดำเนินคดี และมีอำนาจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในฐานะเป็นผู้เสียหายได้
    • ฉบับก้าวไกล ให้สิทธิทางศาล โดยสามารถฟ้องร้องบุคคลผู้ก่อมลพิษหรือหน่วยงานรัฐที่เพิกเฉยได้
    • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ ให้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดี โดยบุคคลหรือรัฐบาลไทยสามารถฟ้องร้องผู้ก่อมลพิษได้
  • สิทธิในการตรวจสุขภาพหรือเข้ารับการรักษา ระบุใน 3 ฉบับ และมีรายละเอียดแตกต่างกันดังนี้
    • ฉบับก้าวไกล ให้สิทธิในการเข้าถึงระบบสุขภาพเพื่อประเมินผลกระทบจากการรับฝุ่นพิษ รวมถึงให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียม
    • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ ให้สิทธิกลุ่มเปราะบางได้รับการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลรัฐหรือสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าโรงพยาบาล ซึ่งรัฐจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

นอกจากบัญญัติสิทธิแล้ว กฎหมายบางฉบับยังมีการบัญญัติหน้าที่ของบุคคลเพิ่มเติมด้วย ได้แก่

  • หน้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่สร้างผลกระทบเกินสมควรต่อบุคคลอื่น ระบุใน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
  • หน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมดำเนินการต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ระบุใน 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับภูมิใจไทย ฉบับเพื่อไทย และฉบับก้าวไกล

โดยฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีการระบุหน้าที่ของบุคคลไว้

 

คณะกรรมการทั้งหมด

สามารถแบ่งคณะกรรมการออกได้เป็น 7 กลุ่ม ดังนี้

  • คณะกรรมการนโยบาย มีในทั้ง 7 ฉบับ แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน (กล่าวถึงในหัวข้อถัดไป)
  • คณะกรรมการบริหาร-กำกับ มีในทั้ง 7 ฉบับ แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน
  • คณะกรรมการระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีในทั้ง 7 ฉบับ
  • คณะกรรมการระดับอำเภอ (เพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นหน้าที่และอำนาจของจังหวัด) มีใน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย
  • คณะกรรมการพื้นที่เฉพาะ (พื้นที่เฉพาะคือ ขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ) มีใน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์
  • เจ้าพนักงานอากาศสะอาด มีใน 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย
  • คณะกรรมการอื่น ๆ เช่น
    • คณะกรรมการด้านวิชาการแหล่งมลพิษทางอากาศ มีใน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย
    • คณะกรรมการกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ในฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด
    • คณะกรรมการบริหารเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ในฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด

 

คณะกรรมการนโยบาย

แม้คณะกรรมการนโยบายจะมีในกฎหมายอากาศสะอาดทุกฉบับ ได้ก็มีชื่อคณะกรรมการ ที่มา สัดส่วน และอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน ดังนี้

ชื่อคณะกรรมการ

  • ฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ ชื่อคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด
  • ฉบับภูมิใจไทย ชื่อคณะกรรมการอากาศสะอาด
  • ฉบับเพื่อไทย ชื่อคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
  • ฉบับก้าวไกล ชื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535)
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ ชื่อคณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

 

อำนาจหน้าที่

  • กำหนดนโยบายและแผนแม่บท (บางฉบับมีการพูดถึงการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี) มีในทั้ง 7 ฉบับ
  • เสนอแนะแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับอากาศสะอาด ต่อครม. มีในทั้ง 7 ฉบับ
  • กำหนดกรอบแนวทาง แผนปฏิบัติการ หรือมาตรการ มีในทั้ง 7 ฉบับ แบ่งเป็น
    • กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ในฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
    • พิจารณา-เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศของจังหวัด กลุ่มจังหวัด ท้องถิ่น ในฉบับภูมิใจไทย ฉบับเพื่อไทย และฉบับก้าวไกล
    • กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองรักษาความสมดุล-ยั่งยืน ในฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์
  • กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด มีใน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับภูมิใจไทย ฉบับเพื่อไทย และฉบับก้าวไกล
  • กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา-มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด มีใน 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับภูมิใจไทย ฉบับเพื่อไทย ฉบับก้าวไกล ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์
  • เสนอมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ต่อ ครม. มีใน 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับภูมิใจไทย ฉบับเพื่อไทย และฉบับก้าวไกล
  • กำหนดหรือเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณ มีใน 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย
  • เสนอรายงานสถานการณ์หรือผลการทำงาน ต่อครม. มีใน 4 ฉบับ แบ่งเป็น
    • เสนออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ และฉบับภูมิใจไทย
    • เสนออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในฉบับเพื่อไทย
  • เสริมสร้างความร่วมมือหรือความตระหนักรู้ มีในทั้ง 7 ฉบับ
  • หน้าที่อื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่
    • กำหนดนโยบายแก้ปัญหามลพิษอากาศข้ามแดน ในฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
    • กำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษ ในฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย
    • ประกาศหลักเกณฑ์การกำหนดเขตควบคุมมลพิษ ในฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย
    • ประกาศรายนามผู้เป็นสาเหตุของฝุ่นพิษ เข้าถึงได้สะดวก-ตลอดเวลา ในฉบับก้าวไกล
    • จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ในฉบับก้าวไกล
    • ให้โรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ต้องทำรายงานสิ่งแวดล้อม ในฉบับก้าวไกล
    • ติดตามและประเมินผลการดำเนินการกฎหมาย และรายงานครม. ทุก 1 ปี ในฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์

 

จำนวนสัดส่วนจากภาคเอกชน-ประชาสังคม แตกต่างกันในแต่ละฉบับ บางฉบับมีการแยกสัดส่วนของภาคเอกชนออกจากภาคประชาสังคมอย่างชัดเจน ในขณะที่บางฉบับเรียกรวมเป็นภาคเอกชน-ประชาสังคม โดยแต่ละฉบับมีสัดส่วนดังนี้

  • ฉบับรัฐบาล รัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 4 คน เป็นผู้มีประสบการณ์หรือผลงานเป็นที่ประจักษ์
  • ฉบับพลังประชารัฐ ไม่เกิน 4 คน เป็นผู้มีประสบการณ์หรือผลงานเป็นที่ประจักษ์
  • ฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย รวมอยู่ในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 8 คน โดยต้องเป็นตัวแทนภาคเอกชนหรือภาคประชาชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
  • ฉบับก้าวไกล ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมอยู่ในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 8 คน โดยต้องเป็นตัวแทนภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด รวม 7 คน แบ่งเป็น เลือกตัวแทน 2 คน เป็นรองประธานกรรมการ และเลือกตั้ง 5 คน ที่มีประสบการณ์หรือผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยใน 7 คนนี้ อย่างน้อย 4 คนจะต้องไม่มีส่วนในการเกิดหมอกควันพิษ
  • ฉบับประชาธิปัตย์ เลือกตั้งรวม 9 คน ที่มีประสบการณ์หรือผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยต้องเป็นนักวิชาการ 4 คน และตัวแทนภาคเอกชน 2 คน และใน 9 คนนี้จะได้รับเลือกเป็นรองประธานกรรมการจำนวน 2 คน

 

กลไกการแก้ปัญหา

ระบบเฝ้าระวัง-ฐานข้อมูล-พยากรณ์ ถูกพูดถึงในทั้ง 7 ฉบับ แต่มีการลงรายละเอียดใน 5 ฉบับ ได้แก่

  • ระบบเฝ้าระวัง ในฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
  • ระบบแจ้งเตือน-พยากรณ์ ในฉบับก้าวไกล (เข้าถึงได้ทุกที่-ตลอดเวลา)
  • ฐานข้อมูล ในฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับภูมิใจไทย (รายงานผลทันที-ตลอดเวลา) ฉบับเพื่อไทย (รายงานผลทันที-ตลอดเวลา) และฉบับก้าวไกล (รายงานผลทันที-ตลอดเวลา)
  • แผนที่ข้อมูลสารสนเทศในระดับจังหวัด-อำเภอ ในฉบับพลังประชารัฐ (มีเพิ่มในระดับประเทศ) ฉบับภูมิใจไทย ฉบับเพื่อไทย และฉบับก้าวไกล (เข้าถึงได้สะดวก-ตลอดเวลา)

 

ประกาศเขตเฝ้าระวัง / เขตมลพิษ มีอยู่ใน 5 ฉบับ ได้แก่

  • ฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ โดยคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ประกาศเขตเฝ้าระวัง และกรมควบคุมมลพิษเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เพื่อพิจารณาประกาศเขตประสบมลพิษทางอากาศ
  • ฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย โดยคณะกรรมการมลพิษทางอากาศ ประกาศเขตมลพิษทางอากาศ
  • ฉบับก้าวไกล โดยคณะกรรมการประจำจังหวัด ประกาศพื้นที่ฝุ่นพิษอันตราย

 

การแก้ปัญหามลพิษข้ามแดน ถูกพูดถึงใน 5 ฉบับ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของผู้ประสานงาน โทษ มาตรการอื่น ๆ ดังนี้

  • ฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
    • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (และกระทรวงการต่างประเทศ เฉพาะในฉบับพลังประชารัฐ) ประสานความร่วมมือ
    • มีการจัดทำรายงานการปฏิบัติงาน
    • โทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1,000,000 บาท (ปรับรวมไม่เกิน 50,000,000 บาท เฉพาะในฉบับพลังประชารัฐ)
    • กระทรวงพาณิชย์กำหนดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเผาก่อมลพิษข้ามแดน เป็นสินค้าห้ามนำเข้า-ส่งออก
  • ฉบับก้าวไกล
    • กระทรวงการต่างประเทศ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกลาง ประสานความร่วมมือ
    • มีการใช้มาตรการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรณีร้ายแรง และจัดทำรายงานสถานการณ์ ผลกระทบ มาตรการแก้ปัญหาเสนอปีละครั้ง
    • โทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท ปรับรายวันไม่เกินวันละ 200,000 บาท รวมไม่เกิน 50,000,000 บาท
    • สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเผาก่อมลพิษข้ามแดน เป็นสินค้าห้ามนำเข้า-ส่งออก
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด
    • ผู้อำนวยการองค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ (อ.อ.ส.ส.) แจ้งหรือประกาศผู้ก่อมลพิษข้ามแดนให้ป้องกันไม่ให้มลพิษแพร่เข้ามาในประเทศ
    • โทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท ปรับรายวันไม่เกินวันละ 1,000,000 บาท รวมไม่เกิน 50,000,000 บาท
  • ฉบับประชาธิปัตย์
    • ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งหรือประกาศผู้ก่อมลพิษข้ามแดนให้ป้องกันไม่ให้มลพิษแพร่เข้ามาในประเทศ
    • โทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท ปรับรายวันไม่เกินวันละ 1,000,000 บาท รวมไม่เกิน 50,000,000 บาท

 

เจ้าพนักงานอากาศสะอาด มีใน 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย มีหน้าที่คล้ายกัน ได้แก่

  • ออกคำสั่งให้ผู้ครอบครองแหล่งมลพิษ หรือหน่วยงานรัฐที่เก็บข้อมูลการปล่อยมลพิษ ส่งข้อมูลให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • เรียกตัวบุคคลเพื่อแจ้งข้อเท็จจริง ทำหนังสือชี้แจง หรือส่งเอกสาร
  • เข้าไปในอาคารสถานที่ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือช่วงเวลาทำการของอาคารนั้น ๆ เพื่อตรวจสอบ ควบคุม ยุติการก่อมลพิษทางอากาศ
  • อำนาจสั่งให้หยุดก่อมลพิษอากาศทันที (มีเฉพาะในฉบับเพื่อไทย)

 

เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์

เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ คือมาตรการที่สร้าง เพิ่ม หรือลดแรงจูงใจ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาสหรือส่งเสริมการมีอากาศสะอาด เช่น ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

ถึงแม้ทั้ง 7 ฉบับจะมีการพูดถึงมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ แต่มี 4 ฉบับที่มีการระบุมาตรการอย่างละเอียด ได้แก่ ฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์

และมีมาตรการส่วนใหญ่เหมือนกัน (ยกเว้นฉบับประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้ระบุมาตรการใดไว้โดยเฉพาะ) ได้แก่

  • ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด
  • ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ
  • การกำหนดและโอนสิทธิในการปล่อยมลพิษ
  • การประกันความเสี่ยง
  • มาตรการอุดหนุน
  • เครื่องมืออื่น ๆ ที่คกก.นโยบายกำหนด
  • เงินบำรุงกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ (มีเฉพาะในฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด)
  • ระบบฝากไว้ได้คืน (การเรียกเก็บเงินเพิ่ม และการได้รับคืนเงินเมื่อนำสินค้ามาคืนหรือกำจัดตามเงื่อนไข) (มีเฉพาะในฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด)

นอกจากนี้คณะกรรมการที่เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการใช้ก็แตกต่างกันตามแต่ฉบับ

  • ฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ เป็นคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ เป็นคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ (เป็นคณะกรรมการประเภทเดียวกันแต่ชื่อต่างกัน)
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด เป็นคณะกรรมการบริหารเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ที่แต่งตั้งขึ้นมาเพิ่มในกฎหมายฉบับนี้

 

กองทุน

กองทุนเป็นอีกประเด็นำสำคัญในร่างกฎหมายอากาศสะอาด แต่มีเพียงร่างกฎหมาย 4 ฉบับเท่านั้นที่มีการพูดถึงกองทุน ได้แก่ ฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ ฉบับก้าวไกล และฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด

อย่างไรก็ตาม ร่างของฉบับรัฐบาล ฉบับพลังประชารัฐ และฉบับก้าวไกล ระบุไว้ว่าเป็นกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการกำหนดคณะกรรมการกองทุน วัตถุประสงค์ และที่มาของรายได้กองทุนไว้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อยู่แล้ว และมีระบุเพิ่มในกฎหมายนี้ เช่น

  • ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ที่ได้ตามกฎหมายฉบับนี้จะเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม
  • เพิ่มวัตถุประสงค์ในการอุดหนุนแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษทางอากาศ (เฉพาะในฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ)
  • เพิ่มวัตถุประสงค์ในการเยียวยาผลกระทบ สนับสนุนการศึกษาวิจัย สร้างความเข้มแข็ง และดำเนินคดี (เฉพาะในฉบับก้าวไกล)

ในขณะที่ ร่างของฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด มีการจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแยกขึ้นมาใหม่ ดูแลโดยคณะกรรมการกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และบริหารจัดการโดยองค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ (อ.อ.ส.ส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการช่วยเหลือ ฟื้นฟู จัดการปัญหาเกี่ยวกับหมอกควันพิษและสุขภาพแบบบูรณาการ ตลอดจนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ. นี้ เช่น ชดเชย-เยียวยาความเสียหาย สนับสนุนการศึกษาวิจัย สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม ดำเนินคดีแและกระบวนการพิจารณา สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ ฯลฯ

 

บทลงโทษ

เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามที่ต้องการ ร่างกฎหมายอากาศสะอาดแต่ละฉบับได้กำหนดบางลงโทษในแต่ละความผิดแตกต่างกันไปในแต่ละฉบับ โดยอาจจับกลุ่มตามความคล้ายคลึงได้ดังนี้

ก่อมลพิษทางอากาศทั้งในและนอกประเทศ มีใน 5 ฉบับ (ยกเว้นฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย) ซึ่งมีการกำหนดโทษแตกต่างกันดังนี้

  • ฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
    • ก่อมลพิษทางอากาศในประเทศ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท
    • ก่อมลพิษทางอากาศนอกประเทศ แล้วแพร่เข้ามาในประเทศ โทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1,000,000 บาท (ปรับรวมไม่เกิน 50,000,000 บาท เฉพาะในฉบับพลังประชารัฐ)
    • หากก่อมลพิษทางอากาศต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย
  • ฉบับก้าวไกล
    • ก่อมลพิษทางอากาศทั้งในประเทศและนอกประเทศ แล้วแพร่เข้ามาในประเทศ โทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท ปรับรายวันไม่เกินวันละ 200,000 บาท รวมไม่เกิน 50,000,000 บาท
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์
    • ก่อมลพิษทางอากาศในประเทศ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    • ก่อมลพิษทางอากาศนอกประเทศ แล้วแพร่เข้ามาในประเทศ โทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท ปรับรายวันไม่เกินวันละ 1,000,000 บาท รวมไม่เกิน 50,000,000 บาท

ฝ่าฝืนคำสั่ง มีทั้งใน 7 ฉบับ แต่กำหนดการฝ่าฝืนไว้แตกต่างกัน ดังนี้

  • ฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ ระบุความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และเจ้าพนักงานอากาศสะอาด โดย
    • ฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด-กรุงเทพฯ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000-200,000 บาท
    • ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานอากาศสะอาด ปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000 – 50,000 บาท
  • ฉบับภูมิใจไทย และฉบับเพื่อไทย ระบุความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าพนักงานอากาศสะอาด โดย
    • ฉบับภูมิใจไทย จำคุกไม่เกิน 3-6 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    • ฉบับเพื่อไทย ปรับไม่เกิน 100,000-500,000 บาท ปรับในอัตราก้าวหน้าครั้งละร้อยละ 200 กรณีผิดซ้ำใน 1 ปี
  • ฉบับก้าวไกล ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ ระบุความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งนายกฯ เพื่อป้องกันความเสียหายคุณภาพอากาศ โดย
    • ฉบับก้าวไกล ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
    • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่จ่ายค่าธรรมเนียม หรือเงินบำรุงกองทุน ใน 3 ฉบับ ได้แก่

  • ฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ไม่ส่งเงินบำรุงกองทุนหรือส่งเงินไม่ครบ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5-20 เท่าของเงินที่ต้องส่ง

ไม่มาชี้แจง ให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสาร ใน 3 ฉบับ ได้แก่

  • ฉบับก้าวไกล โดยไม่มีเหตุอันควร ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

เจ้าหน้าที่ที่ไม่ดำเนินการ ละเว้น หรือฝ่าฝืน ใน 3 ฉบับ ได้แก่

  • ฉบับก้าวไกลจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และฉบับประชาธิปัตย์ ให้ถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมาย

โทษฐานอื่น ๆ

  • แพร่ข่าวไม่จริง เจตนาทำลายชื่อเสียง ต่อกิจการชอบด้วยกฎหมาย จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
  • ฝ่าฝืนกฎหมายอื่น ๆ (เช่น ปล่อยอากาศเสีย เผาในที่โล่งโดยไม่ได้รับอนุญาต) มีการปรับเป็นพินัย ตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท ในฉบับรัฐบาล และฉบับพลังประชารัฐ
  • ไม่ทำรายงานแสดงแหล่งที่มาการผลิต จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในฉบับก้าวไกล
  • ประกาศรายชื่อผู้ก่อฝุ่นพิษ ในฉบับก้าวไกล

 

อ้างอิง 

 

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

รัฐบาลผลักดันร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.....เพื่อบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไฟป่า ที่กระทบต่อสุขภาพคนไทย โดยมีการเสนอถึง 7 ร่างให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

แก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

รัฐบาลประกาศนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และไฟป่า โดยเฉพาะมาตรการลดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการควบคุมการเผาป่า เผาวัสดุทางการเกษตร นำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของภาคการเกษตรและการจัดการพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน และการสร้างมาตรการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: