การทำโครงการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกนั้น จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานรับรองตามระเบียบ หรือเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อขึ้นทะเบียนโครงการ และได้รับคาร์บอนเครดิต โดยในประเทศไทยมีการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ชื่อ Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ที่เป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนโครงการและให้การรับรองคาร์บอนเครดิต
โครงการคาร์บอนเครดิตทำอย่างไร
สำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถไปขึ้นทะเบียนโครงการใน T-VER เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะครอบคลุมการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ CO2 CH4 และ N2O แต่ต้องเข้าข่าย 7 ประเภทโครงการตามหลักที่ อบก. กำหนด ประกอบด้วย
- Renewable Energy
- Factory
- Transport
- Waste
- Energy Efficiency
- Land Use
- Carbon Capture Utilization and Storage
การพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต
1. ในขั้นตอนแรกก่อนเริ่มพัฒนาโครงการ ผู้พัฒนาโครงการจำเป็นต้องมีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ เพื่อทราบประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยสามารถวัดได้ในรูปแบบของคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร (CFO) หรือ คาร์บอนฟุตพรินท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) เพื่อประเมินหากิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก หรือ Emission Hotspots
คาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร (CFO) เป็นการวัดปริมารณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งจำได้ 3 ขอบเขต
- ขอบเขตที่ 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กร เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง ก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต เป็นต้น
- ขอบเขตที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่มาจากกระบวนการผลิต เช่น การใช้ไฟฟ้า ความร้อนที่ซื้อจากนอกองค์กร เป็นต้น
- ขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในการควบคุมขององค์กร เช่น การจัดวัตถุดิบ การขนส่งของบริษัทภายนอก เป็นต้น
คาร์บอนฟุตพรินท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) คือ การวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่
- ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของวัตถุดิบ
- กระบวนการผลิต/การประกอบ
- การขนส่ง
- การใช้งาน
- การจัดการหลักหมดอายุใช้งาน
2. จากนั้นจะได้หาแนวทาง เพื่อลดหรือหลักเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมนั้น ๆ ผ่านการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตได้ผ่าน อบก.ตามระเบียบ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องที่ อบก.กำหนด
3. ไปขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER เพื่อให้ได้การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเมื่อดำเนินโครงการสำเร็จจึงสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก.
สิ่งที่ผู้พัฒนาโครงการต้องพิจารณาในการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต ได้แก่
- ต้นทุนการดำเนินโครงการ เช่น ต้นทุนค่าธรรมเนียมโครงการ T-VER แก่ อบก. ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนโครงการ 5,000 บาทต่อโครงการ และค่าธรรมเนียมขอรับรองคาร์บอนเครดิต 5,000 บาทต่อคำขอ รวมถึงต้นทุนค่าดำเนินงานอื่น ๆ เช่น เงินลงทุนการเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น
- ต้นทุนแก่ผู้ประเมินในการประเมินภายนอก ได้แก่ ต้นทุนตรวจสอบโครงการ และปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขึ้นอยู่กับความซับซ้อน และแตกต่างไปตามประเภทของโครงการ อาจอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 65,000 บาทต่อโครงการ
- ข้อจำกัด เช่น โครงการประเภทป่าไม้จะมีข้อกำหนดขนาดแปลงขั้นต่ำ 10 ไร่ การถือครองเอกสารสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน ข้อกำหนดรอบตัดฟันไม้ในพื้นที่โครงการระยะเวลา 10 ปี หรือโครงการประเภทอื่น ๆ ต้องเป็นกิจกรรมที่เพิ่มเติมจากการดำเนินการในรูปแบบปกติ จึงจะสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้
วิธีซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
เมื่อต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต หากการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตยังไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ โดยผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ สามารถเปิดบัญชี T-VER Credit ในระบบลงทะเบียนของ อบก. เพื่อใช้เก็บบันทึกคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองมาแล้ว และตัดออกจากบัญชีเมื่อมีการใช้งานคาร์บอนเครดิต
โดยช่องทางการซื้อขายสามารถดำเนินการผ่านการติดต่อกับผู้ขยายโดยตรง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ FTIX ในประเทศไทย หรือสามารถเปิดบัญชีกับ Platform Trading Carbon Credit ของต่างประเทศ เช่น CBL Xpansiv, Air Carbon Exchange, Carbon Trade Exchange เป็นต้น เพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมได้
ประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ณ เม.ย. 2567 มีจำนวน 3,258,033 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท คิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาท
ทั้งนี้ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ปริมาณการซื้อขายยังคงอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด ซึ่งอาจยังห่างไกลจากเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยในปี พ.ศ. 2593
จากข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปี ณ เม.ย. 67 พบว่า ประเภทโครงการที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด เป็นโครงการประเภทชีวมวล คิดเป็น 41% ของปริมาณการซื้อขายรวม เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ง่าย แต่ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าโครงการอื่นที่ 36 บาทต่อตัน
ในขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตในโครงการประเภทป่าไม้มีราคาเฉลี่ยสูง 290 บาทต่อตัน และเฉลี่ย 510 บาทต่อตันในปี 2567 ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็น 23% ของเครดิตทั้งหมดในปี 2567 ทำให้การเลือกประเภทโครงการคาร์บอนเครดิตเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพราะราคาที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อกระแสเงินสดที่จะได้รับจากโครงการ
ประเด็นต้นทุนการดำเนินการ ต้นทุนค่าประเมิน และรับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงข้อจำกัดในการทำโครงการต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่ยังคงเหนี่ยวรั้งการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะจากผู้พัฒนาโครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน แต่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะภาคป่าไม้ที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาปิดช่องว่างเหล่านี้ได้ ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยน่าจะก้าวทันโลก และมีส่วนช่วยให้ปลอดคาร์บอนในปี พ.ศ. 2608
คาร์บอนเครดิตทำกำไรได้หรือไม่?
นอกจากนี้คาร์บอนเครดิตแม้จะเป็นส่วนช่วยสร้างรายได้ แต่อาจสร้างผลกำไรได้ยาก ณ ตอนนี้ เนื่องจากต้นทุนการประเมิน ตรวจสอบ และรับรอง มีต้นทุนสูง แต่ผลประโยชน์จะอยู่ในรูปของผลพลอยได้ที่เกิดจากการพัฒนาโครงการ จากการประหยัดในการใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่ใช้พลังงานน้อยลง ควบคู่ไปกับรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการดำเนินโครงการ
ทั้งนี้คาร์บอนเครดิตบางประเภทอาจสร้างมูลค่าได้มากกว่าโครงการประเภทอื่น เช่น คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ซึ่งถูกมองว่าช่วยลดประมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่เดิมในบรรยากาศได้โดยตรง ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม
อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมอื่น ๆ ซึ่งมีการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน จึงอาจมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจ ซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวในรูปแบบกึ่ง CSR และให้ราคาที่สูงจนอาจสร้างกำไรได้มากกว่าปกติ เช่น โครงการประเภทเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต คือ
- ต้นทุนค่าดำเนินการตรวจประเมินก่อนดำเนินโครงการ และต้นทุนทวนสอบความใช้ได้ และการวัดผลในทุกครั้งที่ต้องการขอรับรองคาร์บอนเครดิตแก่ผู้ประเมินภายนอก ที่นอกเหนือจากต้นทุนการดำเนินการ และค่าบำรุงรักษา ทำให้ประเด็นด้านการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ดำเนินโครงการต้องพิจารณา
- ราคาคาร์บอนเครดิตไม่มีราคาตายตัว แตกต่างกันไปตามประเภทของโครงการและอุปทาน โดยแม้ว่าในช่วงเวลาที่ได้รับคาร์บอนเครดิตมา จะมีคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทอื่นออกสู่ตลาดจำนวนมาก หรือตลาดยังมีอุปทานจากโครงการเดิมสะสมอยู่ อาจไม่ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตถูกลง หากประเภทของโครงการคาร์บอนเครดิตสร้างมูลค่าเพิ่มด้านอื่นที่นอกเหนือจากการลดหรือเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจจะได้รับราคาสูงขึ้นได้
- เทคโนโลยีการผลิตที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะได้รับ เนื่องจากคาร์บอนเครดิตจะได้รับก็ต่อเมื่อดำเนินโครงการที่สะอาด ซึ่งในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป สิ่งที่เคยถูกมองว่าสะอาดในอดีต อาจเป็นสิ่งปกติในอนาคต หากไปดำเนินการในอนาคตอาจได้คาร์บอนเครดิตไม่เท่าเดิม
นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ในการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างค่าเสียโอกาสจากกระแสเงินสดที่อาจได้มาอย่างต่อเนื่องหากนำพื้นที่หรือเงินทุนไปดำเนินโครงการอื่น กับดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งอาจจะได้กระแสเงินสดกลับมาเป็นรอบๆ รวมถึงผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน จากการทำโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทนี้ ซึ่งหากพิจารณาประเด็นทั้งหมดแล้ว พบว่ามีความคุ้มค่าและตอบโจทย์ธุรกิจได้ ภาคธุรกิจคงต้องเร่งดำเนินการ
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย