ประเทศไทยมีการเริ่มเก็บภาษีมรดกมาตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ภาษีมรดก) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดจากการถ่ายโอนทรัพย์สินผ่านในมรดก ซึ่งปัจจุบันหากผู้ได้รับมรดกจากเจ้าของมรดกหนึ่งคน มูลค่าทรัพย์มรดกเกิน 100 ล้านบาท ผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 กรณีผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน และร้อยละ 10 กรณีผู้รับเป็นผู้อื่น แต่หากมรดกที่ได้รับมีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ คือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 โดยแก้ไขในหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ในส่วนหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (หลักทรัพย์นอกตลาด)
โดยให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นนั้น โดยไม่ต้องพิจารณามูลค่าทางบัญชี หรือราคาหุ้นของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นซึ่งไปถือหุ้น เนื่องจากการคำนวณมูลค่าหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงดังกล่าวมีความซับซ้อน และก่อให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีและเจ้าพนักงานประเมินในการคำนวณและการตรวจสอบการคำนวณมูลค่า โดยเฉพาะในกรณีที่ไปถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องเปรียบเทียบมูลค่าทางบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นกับมูลค่าทางบัญชี หรือราคาหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นรวมทุกแห่ง ประกอบกับอาจมีความซ้ำซ้อนในกรณีที่มูลค่าทางบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นได้รวมอยู่ในสินทรัพย์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งไปถือหุ้นอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความซับซ้อนให้แก่ผู้ได้รับมรดกที่มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกและเจ้าพนักงานประเมินในการคำนวณและตรวจสอบการคำนวณมูลค่าหุ้น รวมทั้งจะเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักภาษีอากรที่ดี
สำหรับการออกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ไม่ใช่การยกเว้น หรือการลดภาษีอากร แม้ว่าอาจส่งผลในกรณีที่เปรียบเทียบมูลค่าทางบัญชีหรือราคาหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรับหุ้นไปถือหุ้นสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตนได้รับหุ้น
แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนผลการจัดเก็บภาษีการรับมรดกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2565 พบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 0.01 ของผลการจัดเก็บภาษีรวมของกรมสรรพากร การเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกไม่ได้ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีอย่างมีนัยสำคัญ แต่ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีภาระการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลงโดยไม่มีภาระเกินสมควร
- การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย
- เจ้าพนักงานประเมินสามารถตรวจสอบการคำนวณภาษีได้อย่างรวดเร็วขึ้นและอยู่ภายในกำหนดเวลา อันทำให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีทราบอย่างรวดเร็วขึ้นด้วยว่าคำนวณภาษีถูกต้องหรือไม่
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีความสมัครใจในการเสียภาษีเพิ่มขึ้น
ที่มา : ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มี.ค. 2568
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง