จากรายงานผลการพิจารณาศึกษาของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ” ที่ใช้เวลาเพียง 150 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2566 – 24 มีนาคม 2567 ยังไม่ได้เป็นการศึกษาที่อย่างละเอียด การศึกษาผลกระทบบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศต่างๆ ที่ปรากฎในรายงานเป็นเพียงการบอกเล่าประเทศที่กาสิโนถูกกฎหมาย การดำเนินงานของรัฐในการควบคุมดูแล และรายได้ที่เข้ามาเท่านั้น เป็นเพียงข้อมูลขั้นพื้นฐานทั่วไปมากกว่าจะศึกษาวิจัยลงรายละเอียดผลกระทบในมิติต่างๆอย่างเป็นรูปธรรมของการมีกาสิโน ผลการศึกษาของ กมธ. จึงเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมในการผลักดันโครงการนี้มากกว่า
ขณะเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง (สศค.) ที่ได้สำรวจความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ผ่านเวปไซต์ เป็นระยะเวลา 17 วัน ระหว่าง 2-18 สิงหาคม พ.ศ. 2567 มีจำนวนผู้แสดงความคิดเห็น 71,283 คน ซึ่งมากกว่า 80% เห็นด้วยกับร่างนี้ ยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับร่างกฎหมายนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้โครงการนี้สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ แม้ว่ายังศึกษาไม่ละเอียดถี่ถ้วน หรือหากมีการศึกษาอย่างละเอียดแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างโปร่งใส
ในการศึกษา รัฐบาลอ้างถึงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพิ่ม Man-made Tourist Destination ในประเทศ โดยมีสิงคโปร์ มาเก๊า เป็นโมเดลในการสร้าง Entertainment Complex ทั้งๆที่ปริมาณและความจำเป็นในการสร้าง Man-made Tourist Destination ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ต่างกัน ขณะที่ไทยมีพื้นที่และประวัติศาสตร์มายาวนาน ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์, กิจกรรมเชิงประเพณี ที่เป็น Man-made Tourist Destination เช่นกันและมีจำนวนมากกว่า เพียงแต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐอย่างดีพอในหลายมิติ ความจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้าง Man-made Tourist Destination ให้เหมือนอย่างมารีนาเบย์ของสิงคโปร์ จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นและถึงกับเป็นวาระเร่งด่วน
หากรัฐบาลเปิดเผยงานศึกษาอย่างละเอียดไม่เพียงจะลดแรงเสียดทานความข้องใจของประชาชน ยังเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นในการบริหาร พัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว มากไปกว่านั้นยังเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิงครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนัน ที่ถูกซุกไว้ใต้ดินมายาวนาน
กาสิโนเป็นเพียง 10% ของ entertainment complex
ท่ามกลางกระแสต่อต้าน “บ่อนเสรี” รัฐบาลได้ออกมาชี้แจงว่า “สถานบันเทิง” ในร่างพ.ร.บ. นี้มีทั้ง Non-gaming Area และ Gaming Area กินความหมายทั้ง ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา โรงแรม ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ ร้านอาหาร สวนน้ำสวนสนุก ไนต์คลับ ผับบาร์ พื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า Concert Hall และ Stadium สถานที่เล่มเกมส์ รวมทั้งบ่อนกาสิโน ซึ่งรัฐบาลย้ำหลายครั้งว่า ได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของบ่อนกาสิโน ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร
ตาม ร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ที่ระบุสัดส่วนบ่อนกาสิโน 10% ของพื้นที่สถานบันเทิงครบวงจร อันเป็นประเด็นสำคัญที่สุดและดูเหมือนเป็นหัวใจหลักของนโยบาย ดังนี้
“มาตรา 49 ให้คณะกรรมการนโยบายออกประกาศเพื่อกำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโน ซึ่งจะต้องไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร แล้วแต่กรณีใดจะน้อยกว่ากัน”
ขณะเดียวกัน
“มาตรา 50 ในการขอรับใบอนุญาต ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอต่อสำนักงานพร้อมเอกสารประกอบการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(1) รูปแบบ แผนผัง แผนและกรอบระยะเวลาการลงทุนในการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้อย่างน้อยสี่ประเภท ร่วมกับกาสิโนและจะต้องประกอบด้วยพื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า บริการ และศิลปวัฒนธรรมไทยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของพื้นที่ทั้งหมด”
ท้าย พ.ร.บ. ได้กำหนดประเภทธุรกิจต่างๆ ในสถานบันเทิงได้แก่
(1) ห้างสรรพสินค้า (2) โรงแรม (3) สถานบริการ (4) สนามกีฬา (5) ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ (6) สถานที่เล่นเกม (7) สระว่ายน้ำและสวนน้ำ (8) สวนสนุก (9) กิจการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
9 รายการ จาก 12 รายการที่เคยศึกษาโดย กมธ. ทำให้ ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่ (MICE) ศูนย์สุขภาพครบวงจร และพื้นที่ส่งเสริมสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จะหายไปจากรายชื่อประเภทธุรกิจ ไม่เหมือนที่ระบุไว้ก่อนหน้านั้น
สำหรับ “กิจการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด” เท่ากับว่ากิจการใดๆที่จะเกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยของคณะกรรมการฯ เกินกว่าที่ประชาชนจะสามารถคาดเดา หรือสส. ในสภาจะสามารถพิจารณาได้
ผลกระทบต่อความมั่นคง อาชีพสงวนคนไทย
สิ่งที่น่าจับตามองและน่ากังวลใจยิ่งกว่า อยู่ที่ มาตรา 54 ที่ว่า
“มาตรา 54 ให้ผู้รับใบอนุญาตได้รับยกเว้นจากกฎหมาย ดังต่อไปนี้
(1) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว”
นำไปสู่ความน่ากังวลว่า การตั้งกาสิโนภายใต้ชื่อ “สถานบันเทิงครบวงจร” “entertainment complex” “Man-made Tourist Destination” หรือ fun economy จะเป็นช่องทางพิเศษ เอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนนักธุรกิจต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจที่เคยสงวนไว้เฉพาะสัญชาติไทย เช่น ค้าขายทอดตลาดโบราณวัตถุของไทย ค้าที่ดิน สกัดสมุนไพรไทย จับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย แปรรูปไม้จากไม้ธรรมชาติ ตาม “พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542”
รวมทั้งธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติประกอบกิจการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของรัฐ เช่น การผลิต จำหน่าย ซ่อมบำรุงวัตถุระเบิด อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์สงคราม ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การค้าของเก่า การค้าศิลปกรรมหัตถกรรมของไทย หรือกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตน้ำตาลจากอ้อย การทำเหมือง ระเบิดหรือย่อยหิน ไปจนถึงธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคนต่างด้าว เช่น การบริการทางกฎหมาย สถาปัตยกรรม วิศวกรรม
ทั้งนี้ “พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542” กำหนดไว้ก็เพื่อป้องกันชาวต่างชาติบ่อนเซาะทำลายความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความสงบเรียบร้อย ศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีอย่างรุนแรง ไปจนถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
สถานบันเทิงครบวงจร ไร้ความชัดเจนรับมือผลกระทบ
ไทยฮับกาสิโนโลก: ทางสองแพร่ง เศรษฐกิจหรือฟอกเงิน?
แก้กฎหมายการท่าเรือฯ เปิดทางตั้งบริษัท-ทำอสังหาฯ