ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก และในปัจจุบันแนวโน้มความต้องการยานยนต์ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและราคาต่ำลง รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society)
คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) จึงได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ที่ได้บรรจุแผนการพัฒนา EV ไว้ในหมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
โดยมีการตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งเป็นที่มาขอชื่อนโยบาย ‘30@30’ นอกจากนี้ยังมีการการส่งเสริมการใช้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ (EV Hub) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคและของโลก
นโยบายมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 (ปี 2564 – 2565) สร้างความต้องการการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ
- ระยะที่ 2 (ปี 2566 – 2568) พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ และถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตในระดับ Economy of Scale
- ระยะที่ 3 (ปี 2569 – 2573) ผลิตเพื่อส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30@30
มาตรการจากบอร์ด EV
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 บอร์ดอีวีเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (หรือ EV 3.5) ในช่วงปี 2567 – 2570 โดยรัฐจะมีการให้เงินอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดแบตเตอรี่ ดังนี้
- รถยนต์ไฟฟ้า
- ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และแบตเตอรี่น้อยกว่า 50 kWh จะได้เงินอุดหนุน 20,000 – 50,000 บาท/คัน
- ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้เงินอุดหนุน 50,000 – 100,000 บาท/คัน
- ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ไม่เกิน 40% ในช่วงปี 2567 – 2568
- ราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 2% (จากเดิม 8%)
- รถกระบะไฟฟ้า
- ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้เงินอุดหนุน 50,000 – 100,000 บาท/คัน
- รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
- ราคาไม่เกิน 150,000 บาท และแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh ขึ้นไป จะได้เงินอุดหนุน 5,000 – 10,000 บาท/คัน
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ได้มีการตั้งเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ดังนี้
- ผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้า ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 2 คัน) ภายในปี 2569 และเพิ่มเป็นอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 3 คัน) ภายในปี 2570
- แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้าและที่ผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)