ก่อนจะมีการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มที่ถูกเรียกเก็บภาษีค่อนข้างสูง (36%) ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยค่าเงินบาทตั้งแต่ปลายปี 2024 ต่อเนื่องยาวมาถึงต้นปี 2025 มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางแข็งค่าค่อนข้างมาก
ในช่วงที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวอ่อนค่าลง เงินบาทกลับไม่ได้แข็งค่าขึ้นตาม ส่งผลเงินบาทเทียบกับดอลลาร์จะค่อนข้างนิ่ง
ทั้งนี้เงินบาทกลับกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เมื่อพิจารณาค่าเงินบาทเทียบกับหลาย ๆ สกุลเงินในประเทศคู่ค้าถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าการค้า ซึ่งเป็นดัชนีที่สร้างขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดตั้งแต่วิกฤติปี 1997
บทวิเคราะห์ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า การคาดการณ์ค่าเงินเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและมักจะผิดพลาดอยู่เสมอ แต่ก็ยังเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่นักวิเคราะห์ในตลาดเกือบทั้งหมดคาดกันว่าเงินบาทควรจะอ่อนค่าลง แต่กลับแข็งค่าขึ้นมาก
ลักษณะเงินบาทแข็งที่เปลี่ยนไป
ค่าเงินในแต่ละสกุลมีการปรับตัวแข็งค่าและอ่อนค่าเป็นปกติจากหลายปัจจัยเศรษฐกิจ แต่การแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันมีลักษณะที่น่าสนใจและไม่เหมือนการแข็งค่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2015 – 2019 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้จากการท่องเที่ยวสะท้อนผ่านการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งประกอบด้วยดุลการค้าและดุลบริการ (การท่องเที่ยว) ที่มีขนาดใหญ่ต่อเนื่องหลายปี
แต่การแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันมีลักษณะที่ต่างออกไปจากในอดีต คือ
- ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วงก่อนโควิด -19 จากทั้งการค้าที่แย่ลงและนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาเท่าเดิม
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย โดยสหรัฐฯ มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทยมาก (ปกติเหตุการณ์ลักษณะนี้เงินมักจะไหลออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ และเงินบาทจะอ่อนค่า)
- เงินทุนที่ยังคงไหลออกสุทธิในปี 2024 ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร
จากทั้ง 3 ลักษณะนี้ จึงทำให้การแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันอาจดูเหมือนว่าเป็น “การแข็งค่าที่สวนทางกับปัจจัยพื้นฐาน”
เงินบาทอ่อนไหวต่อทองคำ-น้ำมัน
KKP ประเมินว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการตอบสนองของเงินบาทต่อปัจจัยในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วเป็นหลัก แม้ว่าการแข็งค่าเงินบาทบางส่วนมาจากการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างเร็วของนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2024 ส่งผลให้ดุลบริการของไทยปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยวและพฤติกรรมของค่าเงินบาทในอดีต
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยวไม่ใช่ปัจจัยหลักอย่างเดียวที่ทำให้บาทแข็งค่าขึ้น โดยหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในระยะสั้นจะพบว่าปัจจัยพื้นฐานระยะยาวส่งผลค่อนข้างน้อย โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มมีการตอบสนองกับปัจจัยในโลกมากกว่าประเทศอื่น ๆ คือ
1. ราคาทองคำ ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนบาทเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำอย่างชัดเจนโดยราคาทองคำที่สูงขึ้นมักจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นตาม
ทั้งนี้คนไทยมองว่าทองคำแท่งเป็นเครื่องมือในการเก็บรักษามูลค่าทางเลือกและตลาดทองคำในไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่ลำดับต้นๆในภูมิภาค อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองและเงินบาทน่าจะเป็นผลมาจากการคาดการณ์ของตลาดเป็นหลักเนื่องจากไม่เห็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นชัดเจนในข้อมูลการค้าในช่วงที่ราคาทองคำสูงขึ้น
2. ราคาน้ำมัน ประเทศไทยมีปัญหาขาดดุลการค้าด้านพลังงานอย่างมาก (ปี 2567 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเกือบ 90%) ทำให้มีความเปราะบางต่อความผันผวนของตลาดน้ำมันโลกสูงกว่าประเทศอื่น โดยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน 10% จะส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศลดลงได้ประมาณ 0.5% ของ GDP
ราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงปลายปี 2024 ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายเพื่อนำเข้าพลังงานของประเทศไทยจะลดลง ดุลการค้าดีขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทได้รับแรงสนับสนุน
จากความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของดอลลาร์สหรัฐยังเป็นพื้นฐานหลักที่กำหนดทิศทางของค่าเงินในภูมิภาคโดยรวม แต่ความอ่อนไหวของเงินบาทต่อราคาน้ำมันและทองคำที่สูงมาก ซึ่งสามารถชดเชยแรงกดดันนี้ได้ในบางช่วงเวลา และทำให้บางครั้งค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าตามค่าเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคได้
เงินทุนไหลเข้าที่ไม่สามารถติดตามได้
นอกจากนี้การประเมินทิศทางค่าเงินบาทในช่วงนี้มีความคลุมเครือและความไม่แน่นอนสูงขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นมากของ “Error and Omissions หรือค่าคลาดเคลื่อนทางสถิติในดุลการชำระเงินของไทย” ซึ่งมีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่องมาหลายไตรมาส และขนาดใหญ่กว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ชัดเจน ซึ่งอาจหมายถึงการมีเงินไหลเข้าไทยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ถูกสำรวจครอบคลุมในตัวเลขของทางการ เช่น การนำเงินเข้ามาผ่านช่องทางที่ผิดกฎหมาย หรือ การเก็บข้อมูลที่ผิดพลาด เช่น มีการคำนวณรายรับนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
หากปัจจัยที่สำคัญเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป KKP Research ประเมินว่า ประเทศไทยอาจเผชิญกับภาวะที่คล้ายกับ “Dutch disease” ปกติจะหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตจากทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้ค่าเงินแข็งตัว ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตลดลง
ในกรณีของประเทศไทย รายได้จากการท่องเที่ยวที่สูงต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับราคาทองคำ และกระแสเงินทุนที่ไม่สามารถติดตามได้ อาจผลักดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกถดถอย
ในช่วงปี 2015-2019 การแข็งค่าของเงินบาทเกิดขึ้นควบคู่กับการไหลเข้าของรายได้จากการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง แต่การเติบโตของภาคการผลิตและการส่งออกกลับอยู่ในระดับต่ำ และในปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน และอาจมีต้นทุนต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม เพราะการแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้เกิดจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวเหมือนในอดีต
ระยะสั้นเงินบาทควรอ่อนค่าตามปัจจัยพื้นฐาน
แม้ว่าในระยะสั้นจะมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท แต่เมื่อมองไปข้างหน้า KKP Research ยังคงการประเมินว่าค่าเงินบาทมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอ่อนค่ามากกว่าแข็งค่าเหมือนที่คาดไว้ในช่วงต้นปี โดยในตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ มี 3 ปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่ามากขึ้น คือ
1. ฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วไนไตรมาส 1 โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 2 และยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวซ้ำเติม sentiment ของนักท่องเที่ยว
2. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดย KKP ยังเชื่อว่าธปท.ต้องปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 3 ครั้งในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
3. การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯ แม้ KKP จะเชื่อว่าระดับภาษีดังกล่าวน่าจะไม่ได้ถูกใช้งานอย่างถาวร แต่จะมีการขึ้นภาษีไปก่อนในระยะสั้นทำให้ผลกระทบต่อการส่งออกและดุลการค้าจะรุนแรงในช่วงไตรมาส 2
สำหรับในระยะยาว ปัญหาความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ KKP Research มีความกังวลมากที่สุด โดยจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้ลดลง ซึ่งจะหมายถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตาม และเงินบาทที่อ่อนค่านี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Shock Absorber) และช่วยให้การส่งออกไทยบางกลุ่มปรับตัวดีขึ้นแทนเหมือนช่วงหลังวิกฤติปี 1997 ที่เงินบาทอ่อนค่าลงและการส่งออกขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
แต่หากพฤติกรรมของค่าเงินบาทไทยยังคงเหมือนในภาวะปัจจุบันที่แม้การส่งออกและท่องเที่ยวจะแย่ลงมาก แต่เงินบาทกลับยังแข็งค่าตามปัจจัยต่างประเทศ จะยิ่งทำให้น่ากังวลมากขึ้นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยอาจถูกซ้ำเติมให้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยากขึ้นกว่าเดิม
ที่มา : ลัทธกิตติ์ ลาภอุดมการ นักวิเคราะห์ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
อ่านเนื้อหาอื่น ๆ
- สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนระอุ เศรษฐกิจปั่นป่วนอีกนาน
- จับตาเศรษฐกิจไทยป่วน ไม่รีบเจรจา กระทบหนัก 9 แสนล้าน
- คนจีนเที่ยวไทยต่ำรอบ 15 เดือน จับตา Amazing Thailand สะดุด