บทความนี้ชวนเปิดมุมมองใหม่ต่อเทศบาล ซึ่งมิใช่เพียงหน่วยงานที่ดูแลถนนหนทางหรือเก็บขยะ แต่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในท้องถิ่น โดยการสังเคราะห์ข้อค้นพบจากวิทยานิพนธ์ 7 เล่มที่ศึกษาในหลากหลายมิติ ทั้งการศึกษา สุขภาวะ สิ่งแวดล้อม บริการสาธารณะ และการจัดการในภาวะวิกฤต เพื่อชี้ให้เห็นว่า เทศบาลมีศักยภาพและบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวันของประชาชน
“การเลือกตั้งเทศบาล” ก็คือการตัดสินใจเลือกรูปแบบของคุณภาพชีวิตที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นของเราเอง
เทศบาลคืออะไร ทำหน้าที่อะไร
เทศบาล เป็นรูปแบบหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามหลักการกระจายอำนาจ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิและอิสระในการปกครองตนเองภายในกรอบที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันเทศบาลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- เทศบาลตำบล: จัดตั้งในพื้นที่ที่มีความเจริญพอสมควร
- เทศบาลเมือง: จัดตั้งในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด หรือในชุมชนที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานไม่น้อยกว่า 10,000 คน
- เทศบาลนคร: จัดตั้งในชุมชนที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันประเทศไทยมีเทศบาลรวมทั้งสิ้น 2,469 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 30 แห่ง, เทศบาลเมือง 192 แห่ง และ เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง[1]
ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 14 พ.ศ. 2562) เทศบาลมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นอย่างครอบคลุม ทั้งในมิติสุขภาพ ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
โดยหน้าที่หลักของเทศบาลครอบคลุมตั้งแต่การรักษาความสะอาด การจัดการขยะมูลฝอย การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ การจัดการศึกษา ศาสนา และการฝึกอบรม การดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรี เยาวชน และผู้พิการ การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตชุมชน การส่งเสริมการประกอบอาชีพ การดูแลสุสาน ระบบประปา ไฟฟ้า สถานพยาบาล ทางระบายน้ำ และสวนสาธารณะ
ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการบริหารจัดการด้านการจราจร จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของเทศบาลมีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับชีวิตประจำวันของประชาชนในทุกมิติ สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของเทศบาลในฐานะกลไกหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
เทศบาลกับการจัดบริการสาธารณะ
หนึ่งในหน้าที่สำคัญของเทศบาล คือ การจัดให้มีบริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำเสีย การขนส่งมวลชน การจัดการขยะ พื้นที่สาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ความสามารถของเทศบาลในการออกแบบ ปรับใช้ หรือแม้กระทั่งริเริ่มนวัตกรรมในบริการเหล่านี้ ทำให้เทศบาลกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตในท้องถิ่น
ในวิทยานิพนธ์เรื่อง การจัดทำบริการสาธารณะโดยวิสาหกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิทยานิพนธ์ของสรัล มารู (2565) เรื่อง “การจัดทำบริการสาธารณะโดยวิสาหกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ได้เสนอว่า เทศบาลในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการดำเนินบริการสาธารณะผ่านรูปแบบวิสาหกิจ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อบริบทเฉพาะของท้องถิ่นได้ดีกว่าระบบราชการแบบเดิม
กรณีศึกษาการร่วมกันจัดตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด ของเทศบาลห้าแห่งในจังหวัดขอนแก่น เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมทางกฎหมายและการบริหารที่แสดงให้เห็นว่าเทศบาลสามารถเป็นผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมทั้งในด้านนโยบายและกฎหมาย[2]
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างที่ยืดหยุ่นจะไร้ผลหากปราศจากกลไกการบังคับใช้นโยบายและกฎหมายอย่างจริงจัง วิทยานิพนธ์ของพัชรพรรณ พิมพ์บรรจง (2557) เรื่อง “มาตรการทางกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการน้ำเสียเมือง เขตเทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี” ชี้ให้เห็นว่าอุปสรรคในการจัดการน้ำเสียไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านเทคนิคหรือวิศวกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความไม่ชัดเจนของกฎหมาย การซ้อนทับบทบาทของหน่วยงาน และการออกแบบโครงสร้างองค์กรที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยนี้เสนอให้ใช้มาตรการทางกฎหมาย ผังเมือง และภาษี เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อน พร้อมทั้งปรับปรุงองค์กรเทศบาลให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ
บทเรียนจากงานทั้งสองชิ้นนี้สะท้อนชัดว่า ศักยภาพของเทศบาลในการจัดบริการสาธารณะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “อำนาจตามกฎหมาย” เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความสามารถในการแปลงอำนาจนั้นให้เป็น “กลไกที่มีชีวิต” ผ่านนวัตกรรมด้านองค์กร เช่น วิสาหกิจท้องถิ่น หรือผ่านการจัดการแบบบูรณาการในเชิงพื้นที่[3]
เทศบาลกับการสร้างพื้นที่แห่งคุณภาพชีวิต
บริการสาธารณะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเก็บขยะหรือซ่อมถนน แต่รวมถึงการสร้าง “พื้นที่แห่งคุณภาพชีวิต” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พักผ่อน ออกกำลังกาย พบปะทางสังคม และฟื้นฟูสุขภาวะทั้งทางกายและใจ
วิทยานิพนธ์ของณัชพล คุ้มสวัสดิ์(2565) เรื่อง “แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ: กรณีศึกษาเทศบาลเมืองบางศรีเมือง จังหวัดนนทบุรี” พบว่าพื้นที่เทศบาลนี้มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก และยังขาดพื้นที่สาธารณะที่ตอบสนองต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ หรือเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้อจำกัดในการเข้าถึง เช่น ทางเดินเท้าที่ชำรุด ขาดร่มเงา และระบบขนส่งที่ไม่ครอบคลุม
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรม เช่น การปรับภูมิทัศน์ เส้นทางเดินเท้า และการส่งเสริมกิจกรรมร่วมกับชุมชน ซึ่งตอกย้ำว่าเทศบาลในฐานะหน่วยงานใกล้ชิดประชาชน มีบทบาทสำคัญในการออกแบบพื้นที่ให้รองรับการเป็น “เมืองสุขภาวะ” อย่างยั่งยืน[4]
ในทำนองเดียวกัน วิทยานิพนธ์พชร มาอินทร์ (2564) เรื่อง “ปัจจัยสำหรับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา” มุ่งเน้นศึกษาบทบาทของเทศบาลในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพื่อความยั่งยืน ผ่านการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่และการวิเคราะห์เชิงระบบในการระบุพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา
งานชิ้นนี้ไม่เพียงจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังบูรณาการมิติกายภาพ สังคม นโยบาย และสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของเมือง การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ภาครัฐ และเครือข่ายท้องถิ่น ถูกเน้นเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดอนาคตของพื้นที่สาธารณะสีเขียว
อย่างไรก็ตาม หาดใหญ่มีพื้นที่สีเขียวเพียงร้อยละ 20.7 ของพื้นที่ทั้งหมด และส่วนใหญ่ยังเป็นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะอย่างเต็มที่ โดยเผชิญข้อจำกัดจากราคาที่ดินสูงและการขาดนิยามหรือเกณฑ์ที่ชัดเจน
งานวิจัยจึงเสนอให้เทศบาลมีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ในการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลแบบบูรณาการ และระบุว่าพื้นที่คลองเตยในเขตเทศบาลมีศักยภาพสูงในการพัฒนา
บทสรุปสำคัญจากงานวิจัยสองชิ้นนี้ คือ เทศบาลสามารถทำหน้าที่เป็น “นักวางผังเมืองเชิงสุขภาวะ” ได้อย่างแท้จริง หากมีข้อมูลที่ดี มีการมีส่วนร่วมจากประชาชน และมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามเชิงภูมิทัศน์เท่านั้น[5]
เทศบาลกับโอกาสของผู้คน
ศักยภาพของเทศบาลไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการ “เปิดพื้นที่แห่งโอกาส” ให้กับกลุ่มเปราะบาง และการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ดุษฎีนิพนธ์ของวศิน โกมุท (2558) เรื่อง “การจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการเพิ่มโอกาสการศึกษาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส” ชี้ให้เห็นว่า “เทศบาล” ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส
โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งโรงเรียนในสังกัดเทศบาลได้กำหนดนโยบายและมาตรการที่ตอบโจทย์นักเรียนจากครอบครัวยากจนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดกิจกรรมเสริมความรู้และการสนับสนุนทุนการศึกษา ส่งผลให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน และช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนกลุ่มนี้ให้ไม่แตกต่างจากนักเรียนทั่วไป
แม้ว่าผลสอบ O-NET โดยเฉลี่ยของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลจะยังต่ำกว่าหน่วยงานอื่น แต่ก็สะท้อนแนวโน้มว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาเรื่องคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาได้มากขึ้น หากได้รับการสนับสนุนด้านนโยบาย งบประมาณ และอำนาจการบริหารที่ชัดเจน[6]
อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ วิทยานิพนธ์ของเซียนทิพย์ รัตนทอง (2558) เรื่อง “รูปแบบการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: กรณีศึกษาเทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา” ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของเทศบาลนครยะลาในการสร้างสันติสุขและสมานฉันท์ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เทศบาลนครยะลาใช้แนวทางที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ และการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกลไก “9 สร้าง” เช่น การสร้างอาวุธทางปัญญา การสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างศาสนาและชาติพันธุ์
นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความปลอดภัย ให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น เป้าหมายคือการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมืองยะลาให้กลายเป็น “เมืองแห่งสันติสุข” ที่ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว
งานวิจัยสองชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า เทศบาลไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้บริการสาธารณะ แต่ยังสามารถทำหน้าที่เป็น “ผู้สร้างความเป็นธรรม” และ “ผู้จุดประกายความหวัง” ให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม[7]
เทศบาลกับการจัดการภาวะวิกฤต
เทศบาลในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้มีหน้าที่เพียงดูแลความเป็นปกติในชีวิตประจำวันของประชาชนเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการ “ภาวะวิกฤต” ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ น้ำท่วม โรคระบาด หรือเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นบททดสอบสำคัญของศักยภาพรัฐระดับใกล้ตัวที่สุด วิทยานิพนธ์ของศุภการ กอผจญ (2565) เรื่อง “ศักยภาพของภาครัฐในการจัดการปัญหาน้ำท่วม: กรณีศึกษาเทศบาลนครอุบลราชธานี ปี 2562” ชี้ให้เห็นว่า เทศบาลนครอุบลราชธานีมีบทบาทอย่างโดดเด่นในการรับมือกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2562 โดยสามารถดำเนินการด้านการวางแผน การจัดตั้งศูนย์บัญชาการ และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม เทศบาลยังเผชิญข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในด้านทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ความล่าช้าในการตอบสนองต่อสถานการณ์ และความไม่ต่อเนื่องในการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก
นอกจากนี้ ปัจจัยทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติก็มีอิทธิพลต่อขอบเขตการปฏิบัติงานของเทศบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้เทศบาลจะมีศักยภาพเบื้องต้นในการจัดการภัยพิบัติ แต่หากขาดการเสริมสร้างขีดความสามารถ ก็ไม่อาจทำหน้าที่เป็นด่านหน้าคุ้มครองประชาชนได้อย่างแท้จริง ต่อให้มี “แผน” และ “บุคลากร” แต่หากปราศจากทรัพยากรที่เพียงพอ ความเป็นอิสระในการดำเนินงาน หรือความไว้วางใจจากประชาชน ก็ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการวิกฤตการณ์ [8]
เลือกตั้งเทศบาล: เลือกอนาคตใกล้ตัว
จากงานวิจัยทั้ง 7 ชิ้นที่นำเสนอข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนว่า “เทศบาล” ไม่ใช่แค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลถนนหรือจัดเก็บขยะเท่านั้น แต่คือกลไกสำคัญที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การดูแลผู้สูงอายุ การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส การรับมือกับน้ำท่วม ไปจนถึงการประสานความเข้าใจในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย
การเลือกตั้งเทศบาลจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่คือการตัดสินใจร่วมกันว่าเราอยากให้ชุมชนและท้องถิ่นของเราเป็นแบบไหน การเลือกตั้งเทศบาลจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กหรือห่างไกล แต่คือโอกาสของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของชุมชนและท้องถิ่นผ่านคูหาเลือกตั้ง ซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
[1] https://www.dla.go.th/work/abt/index.jsp
[2] https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:306254
[3] https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:138863
[4] https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:306614
[5] https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:274968
[6] https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:91608
[7] https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:139979
[8] https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:306739