ภาษี คือ เงินที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนเพื่อนําไปพัฒนาประเทศ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทคือ 1. ภาษีทางตรง เป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพและภาษีที่ได้จากการประกอบกิจการ ทางการค้า บริการ และอุตสาหกรรม และ 2. ภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนเมื่อซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประชาชนทุกคนจําเป็นที่จะต้องเสียภาษี เพราะการเสียภาษีจะกลับมาเป็นผลตอบแทนประชาชนใน 2 ลักษณะคือ
- นําไปจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการเพื่อให้บริการประชาชนและใช้จ่ายเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ของสถานที่ราชการต่าง ๆ
- นํามาใช้ในการพัฒนาประเทศ เช่น สร้างถนน สร้างโรงเรียน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดาทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกําหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กําหนด ซึ่งเจ้าของกิจการที่มีตัวเองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว จะเข้าข่ายอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีประเภทนี้ โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนําไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กําหนดภายในเดือนม.ค.-มี.ค.ของปีถัดไป
สําหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกําหนดให้ยื่นแบบฯเสียภาษีตอนครึ่งปีสําหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชําระ และเงินได้บางกรณีกฎหมายกําหนดให้ผู้จ่ายทําหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชําระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย
ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด คือ
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วน
- สามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยยังมีข้อจำกัดด้านความครอบคลุมและครบถ้วน เนื่องจากแรงงานไทยมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52.3 เป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้การตรวจสอบรายได้มีข้อจำกัด และกลายเป็นช่องโหว่ให้ผู้มีเงินได้จำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องยื่น
เมื่อปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่ามีแรงงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบฯ กว่า 19 ล้านคน แต่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ เพียง 10.7 ล้านคน และเหลือผู้ที่มีรายได้สุทธิที่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีเพียง 4.2 ล้านคน อย่างไรก็ตามไม่ใช่คนทั้งหมดที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ แต่อาจมีสาเหตุจากปัจจัยอื่น เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ การไม่ทราบหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่าง ๆ
ทั้งนี้ผลการศึกษายังพบว่า ความรู้และความเข้าใจในการเสียภาษี การได้รับข้อมูลและข่าวสาร รวมถึงปัจจัยด้านทัศนคติ ทั้งความมั่นใจในการนำภาษีไปใช้ในการพัฒนาประเทศของรัฐ และความเห็นเกี่ยวกับความเสมอภาคในการจัดเก็บภาษี มีอิทธิพลต่อความสมัครใจในการเสียภาษีเงินได้ฯ
สศช.ร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (SAB) สำรวจและศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษี ในกลุ่มประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไปจำนวน 3,846 คน ใน 14 จังหวัด ทุกภูมิภาค
คนไทยไม่ยื่นภาษี 64.3% กลุ่ม Gen X มากสุด
เมื่อปี 2565 คนไทยยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ เพียงร้อยละ 35.7 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และส่วนที่เหลือร้อยละ 64.3 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ แบ่งเป็นคนที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นฯ ร้อยละ 50.5 และไม่เข้าเกณฑ์ต้องยื่นฯร้อยละ 13.8 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือเป็นผู้ว่างาน หรืออยู่ระหว่างเรียนซึ่งไม่มีเงินได้
กลุ่มที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ ในปี 2565 ร้อยละ 60 เป็นกลุ่ม Gen Y และมากกว่าครึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป อีกทั้งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ โดยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนมากที่สุด รองลงมาเป็นอาชีพที่อยู่ในองค์กรของภาครัฐ ซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยที่ 27,827 บาทต่อคนต่อเดือน และกว่าร้อยละ 80.8 มีสถานะทางการเงินที่มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย
ขณะที่กลุ่มที่เข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ แต่ไม่ยื่น พบว่ากระจายตัวในกลุ่ม Gen X, Gen Y และ Baby Boomer ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มแรก อยู่ที่ 12,115 บาทต่อคนต่อเดือน อีกทั้งยังมีสถานะการเงินที่ไม่มั่นคง กล่าวคือ ร้อยละ 55.5 มีรายได้เท่ากับรายจ่าย และร้อยละ 31.3 มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้
ความรู้เกี่ยวกับภาษีอยู่ในระดับต่ำ
เมื่อพิจารณาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ภาพรวมคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับต่ำ โดยมีผู้ที่มีความรู้ระดับต่ำและไม่รู้ข้อมูลเลยมีสัดส่วนรวมกันมากถึงร้อยละ 57.9 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen X ร้อยละ 34.3 และ Baby Boomer ร้อยละ 32.6 และเกือบร้อยละ 70 เป็นแรงงานนอกระบบ อีกทั้งประมาณร้อยละ 80 ของกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ แต่มีการรับรู้ข้อมูลน้อยมาก
นอกจากนี้กลุ่มที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯในปี 2565 กลับมีความรู้เกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯในระดับปานกลางเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ แต่ไม่ได้ยื่นนั้น มีมากถึงร้อยละ 74.9 ซึ่งมีระดับความรู้ต่ำหรือไม่รู้เลย
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ คนไทยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย จากผลสำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 16.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ทราบ และร้อยละ 65.6 ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี ซึ่งสัดส่วนผู้ไม่ทราบจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยหรือมีสถานะทางการเงินที่ไม่ดี อีกทั้งกว่าร้อยละ 53.6 ไม่ทราบว่า หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี
เมื่อสอบถามถึงประเภทเงินได้ที่ต้องยื่นภาษี พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารายได้ประเภทใดบ้างที่ต้องนำมายื่น โดยรายได้จากเงินเดือน/ค่าตอบแทนจากงานประจำ เป็นรายได้ประเภทเดียวที่คนไทยเกินครึ่งหนึ่งรับรู้ว่าต้องนำมาใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.2 และรองลงมา คือ รายได้จากการรับจ้าง/จากการประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ที่ร้อยละ 39.1
เมื่อพิจารณาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ และจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการประเมินตนเองของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า มีความสอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ และเสียภาษีฯ ข้างต้น
ในภาพรวมคนไทยประเมินว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีในระดับน้อยในทุกเรื่อง ทั้งการกรอกและยื่นแบบฯ สิทธิประโยชน์ รายการลดหย่อนต่าง ๆ รวมทั้งประโยชน์ของภาษี และการดำเนินนโยบายทางการคลังของประเทศ ซึ่งเมื่อจำแนกตามการประสบการณ์การยื่นแบบฯ พบว่ากลุ่มที่ยื่นแบบฯ มีความรู้ความเข้าใจมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ยังอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่กลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ได้ยื่นมีความรู้ที่ระดับน้อย และกลุ่มที่ไม่เคยยื่นแบบฯ มีระดับความรู้น้อยที่สุด สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนเป็นจำนวนมากที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คนไทยบางส่วนไม่มีส่วนร่วมในระบบภาษี
ปชช.มองระบบจัดเก็บภาษีมีความไม่เป็นธรรม
คนไทยส่วนใหญ่มองว่า ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำโดยร้อยละ 51.7 เห็นว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรมในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 24.1 เห็นว่ามีความเป็นธรรมในระดับน้อย และมีเพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ที่มองว่าเป็นธรรมมากถึงมากที่สุด
อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์เพิ่มเติมในกลุ่มที่มองว่าไม่เป็นธรรมนั้น มีสาเหตุมาจากระบบการตรวจสอบยังไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ไม่ต้องยื่นแบบฯ และเสียภาษี ขณะที่ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มมีการหลบเลี่ยงภาษี โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อให้มีภาระในการจ่ายภาษีน้อยลง รวมถึงบางส่วนเห็นว่าเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
นอกจากนี้ เมื่อเชื่อมโยงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจ่ายภาษี กับความรู้ความเข้าใจในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า กลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาในระดับต่ำหรือไม่รู้เลย ส่วนใหญ่มองว่าการจัดเก็บภาษีในปัจจุบันมีความเป็นธรรมน้อย และน้อยที่สุด โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 72.8 และ 89.4 ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ทราบ รายละเอียดที่แท้จริงหรือรับรู้ข้อมูลที่ผิดพลาด โดยกลุ่มที่มองว่าไม่เป็นธรรม ร้อยละ 80.4 ไม่ทราบว่า อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแบบอัตราก้าวหน้า และร้อยละ 79.4 ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้ หมายความว่าผู้ยื่นจะต้องเสียภาษี
สวัสดิการรัฐไม่คุ้มกับเงินภาษีที่จ่าย
ผลสำรวจ พบว่า คนไทยร้อยละ 70.9 เต็มใจที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯฯ หากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นหรือมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 6 .1 เต็มใจที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ และเสียภาษีหากมีรายได้ถึงเกณฑ์
หากพิจารณาตามประสบการณ์การยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ พบว่า กลุ่มที่ยื่นแบบฯ มีสัดส่วนผู้ที่เต็มใจสูงกว่ากลุ่มอื่นในทุกเรื่อง ขณะที่กลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ได้ยื่น ให้ความสำคัญกับการได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นหรือมากขึ้นมากที่สุด โดยร้อยละ 65.9 ของคนกลุ่มนี้มีความเต็มใจยื่นแบบฯ หากได้สวัสดิการสูงขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากร้อยละ 57.5 ของคนกลุ่มนี้มองว่า สวัสดิการที่รัฐจัดให้ในปัจจุบันยังไม่คุ้มค่ากับภาษีที่ต้องจ่าย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเต็มใจยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ และเสียภาษี แต่กว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะกลุ่มนี้ยังมีระดับรายได้ไม่สูงนัก โดยร้อยละ 46.1 มีรายได้เฉลี่ย ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน และส่วนใหญ่ทำงานที่มีรายได้ไม่แน่นอน
หากพิจารณาความเต็มใจในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ และเสียภาษี กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา พบว่า กลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฯ มีแนวโน้มยินดีที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ และเสียภาษีฯ สูงกว่ากลุ่มที่ไม่รู้ข้อมูล โดยมากกว่า 4 ใน 5 ของกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจในระดับสูง มีความเต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นหรือมากขึ้น
ขณะที่ในกลุ่มที่มีความรู้ระดับต่ำ หรือไม่มีความรู้เลย มีสัดส่วนของผู้ที่เต็มใจเหลือเพียง 2 ใน 5 เท่านั้น ในทำนองเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบความเต็มใจ กับความเป็นธรรมของภาษี พบว่า กลุ่มที่เห็นว่าการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ มีความเป็นธรรม มีแนวโน้มที่จะเต็มใจ ยื่นแบบฯ และเสียภาษีมากกว่าคนที่คิดว่าภาษีเงินได้ฯ ไม่เป็นธรรม
แรงจูงใจให้คนไทยยื่นแบบฯและยอมเสียภาษี
ปัจจัยที่สามารถจูงใจให้ประชาชนยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ ได้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ยื่นแล้วไม่เสียภาษีเพิ่ม 2.ความสะดวกในการกรอกข้อมูล การไม่ขอข้อมูลเพิ่มเติม และการไม่ถูกตรวจสอบย้อนหลัง และ 3.ได้รับภาษีที่ชำระไว้คืน ขณะที่ปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษี ได้แก่ 1. การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย 2. รัฐจัดหาสวัสดิการได้อย่างทั่วถึง และ 3 อัตราภาษีที่จัดเก็บไม่สูงเกินไป
สำหรับปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่มคิดว่าสามารถจูงใจให้เกิดการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ ประกอบด้วย กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ ระบุปัจจัยที่จูงใจ คือ การไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง รวมถึงไม่ขอเอกสาร/หลักฐานเพิ่มเติม ขณะที่กลุ่มที่เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด และยื่นแบบฯแล้วไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากคนกลุ่มนี้ร้อยละ 66.6 เป็นผู้ประกอบอาชีพประเภทค้าขาย/ บริการรายย่อย และผู้ใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป โดยอาจมีความยุ่งยากในการรวบรวมเอกสารข้อมูลและกรอกลงระบบ มากกว่ากลุ่มที่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ
ด้านปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษี พบว่า ความเพียงพอของรายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการจ่ายภาษีของกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ ซึ่งสอดคล้องกับระดับรายได้เฉลี่ยที่ไม่สูงนัก และสถานะทางการเงิน ที่ไม่ค่อยมั่นคงของคนกลุ่มดังกล่าว ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า เนื่องจากเกือบร้อยละ 70 ของกลุ่มนี้ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำที่ทำให้ถูกตรวจสอบได้ง่าย จำเป็นต้องยื่นแบบฯ และเสียภาษี จึงต้องการให้ภาษีที่เสียไปเกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบข้อท้าทายในการจูงใจกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ กล่าวคือ ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วน ระบุว่า ไม่มีปัจจัยใดเลยที่มีผลจูงใจให้ยื่นแบบฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 42.7 ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการดึงคนกลุ่มนี้อย่างน้อยมากกว่าครึ่งหนึ่งให้กลับเข้าสู่ระบบภาษี
บทเรียนต่างประเทศจูงใจให้คนยอมเสียภาษี
สรุปจากปัจจัยที่มีผลในการจูงใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีข้างต้น สะท้อนว่ามีหลายประเด็นที่สามารถปรับปรุงหรือพัฒนา เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้หากพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ และชำระภาษีของผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ จะพบว่า หลายประเทศ ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ตั้งแต่ในวัยเด็ก รวมถึงมีการสร้างแรงจูงใจให้คนอยากยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ และเสียภาษี ผ่านการให้รางวัลกับผู้เสียภาษีที่ดี ตลอดจนมีการให้สิทธิประโยชน์ที่นอกเหนือจากสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายและ ค่าลดหย่อนทางภาษีต่าง ๆ อีกทั้ง ยังมีการอภัยโทษทางภาษีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลุดออกจากระบบภาษี ได้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการคลังของรัฐ
ดิจิทัลวอลเล็ต ดันหนี้สาธารณะพุ่ง
อุดหนุนพลังงานฉุดรายได้ หนี้สาธารณะแตะ 63.4%
เครดิตไทย “มีเสถียรภาพ” จับตาบริหารหนี้สาธารณะ
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และดวงพร เพชรคง วิทยากรชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานกฎหมาย2 สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา