“ทำไมคอร์รัปชันถึงยังมีอยู่ ทำไมคอร์รัปชันถึงแก้ไม่หาย”
คำถามเหล่านี้อาจเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนในสังคมต่างได้ยินและเฝ้าถาม บ้างก็ถามด้วยความสงสัย บ้างก็ถามเพื่อประชดประชัน และยังมีคนจำนวนมากที่ตั้งคำถามเหล่านี้ด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง จนนำไปสู่ วาทกรรมที่ว่า “ปัญหาคอร์รัปชันแก้ไขไม่ได้” ซึ่งอาจฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เรายังพบเห็นกันในสังคมว่า การติดตาม ตรวจสอบ ไปจนถึงการลงโทษผู้กระทำผิดยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มิหนำซ้ำ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ความซับซ้อนของปัญหาคอร์รัปชันก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น
สิ่งนี้ทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมีความยากอยู่เสมอ และหากตั้งคำถามว่า ปัญหาคอร์รัปชันมีสาเหตุมาจากอะไร ทุกคนก็คงมีคำตอบในใจกันไปคนละอย่าง เช่น ความโลภ ความเหลื่อมล้ำ ระบบทุนนิยม ทั้งนี้ ผู้เขียนอยากขอชวนทุกคนมาร่วมสำรวจปัญหาคอร์รัปชันที่มาจากผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางให้เศรษฐกิจและสังคมผ่าน “การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (Policy Corruption)”
การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (Policy Corruption) คืออะไร ?
การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (Policy Corruption) เป็นกระบวนการที่ผู้มีอำนาจในภาครัฐหรือการเมืองแทรกแซงการออกนโยบายหรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมายด้วยเจตนาเพื่อบรรลุผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก อ้างอิงข้อมูลจาก World Bank ที่ประมาณการว่า การคอร์รัปชันในทุกประเภททำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5% ของ GDP ทั่วโลกในแต่ละปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังระบุว่า การคอร์รัปชันเชิงนโยบายทำให้กระบวนการเพื่อจัดสรรทรัพยากรสู่สาธารณะประโยชน์ติดขัด ประชาชนเสียความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐ ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หันกลับมามองที่ประเทศไทย ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างกรณีคดีทุจริตสนามฟุตซอลในปี พ.ศ. 2555 งบประมาณกว่า 4,459,420,000 บาท ที่ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุไว้ว่า “ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มเอกชน มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบายและเป็นตัวการร่วมกันในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามบทบาทตามหน้าที่และอำนาจที่แต่ละคนมี โดยทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี พ.ศ. 2555 (งบแปรญัตติ) รวมถึงมีการวางแผนในการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญาและการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตรงตามวัตถุประสงค์”
จากกรณีดังกล่าวทำให้เห็นว่า การคอร์รัปชันเชิงนโยบายมีความซับซ้อนที่เกิดจากผู้มีอำนาจทางการเมืองตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง อีกทั้ง ยังใช้เวลากว่าทศวรรษในการสืบพยาน รวบรวมหลักฐาน ไปจนถึงการลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพง(มาก)ของประเทศไทย
จากบทเรียนนั้น ประเทศไทยมีความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ?
แม้ว่าภาพลักษณ์ด้านการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยที่สะท้อนออกมาจากดัชนีหรือตัวชี้วัด เช่น Corruption Perceptions Index, Worldwide Governance Indicators, Global Competitiveness Index จะไม่มีท่าทีดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมาโดยตลอด อย่างการเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. หรือการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก่อน ระหว่าง และหลังการดำรงตำแหน่งต่อ ป.ป.ช.
รวมถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 60 ที่มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบาย เพิ่มขีดความสามารถให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ และอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ คือ มาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม อำนวยความสะดวกในการทำงานของภาครัฐ และเสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีสาระสำคัญอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ได้แก่
- การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่อร่างกฎหมายผ่านการทำประชาพิจารณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับพัฒนาร่างกฎหมายให้ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การประเมินผลกระทบของกฎหมาย (Regulation Impact Assessment – RIA) ในหลาย ๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมตั้งแต่วัตถุประสงค์ ปัญหาที่ต้องการแก้ไข ต้นทุนและผลประโยชน์ ทางเลือกใกล้เคียง ความคุ้มค่า ความเสี่ยง และความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย (Regulatory guillotine) เพื่อปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลกระทบไม่ดี หรือไม่ตอบรับกับพลวัตของสังคม
หากมองอย่างผิวเผิน ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐไทยมีความพยายามและความจริงจังในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเชิงนโยบายอยู่เสมอ แต่เราอาจยังไม่เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่มีความซับซ้อน ต้องการความต่อเนื่องในการดำเนินการ และยังมีกรณีพิพาทต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงาน รวมถึงความลักลั่นในการบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เช่น
- กรณีการขอข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา (ไทย-จีน) ในส่วนสัญญาที่ทำกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ได้รับการตอบกลับเป็น “คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ” อ้างถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่อมาจึงเกิดการอุทธรณ์ขอข้อมูลในส่วนนี้ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินงบประมาณและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่ามีความโปร่งใสในการบริหารโครงการ
- กรณีการขอข้อมูลผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และคณะทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อประกอบการจัดทำแพลตฟอร์มฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง (actai.co) ซึ่งดำเนินการขอในเดือนพฤษภาคม 2566 และได้รับการตอบรับจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 เป็นกระดาษปึ๊งใหญ่ และมีค่าใช้จ่ายในการสำเนาข้อมูล กลับกันในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสมาชิกวุฒิสภาได้ตอบกลับเป็นคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทำให้เกิดการอุทธรณ์ขอข้อมูลที่ต่อมาได้รับการวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การดำเนินการใช้เวลานานกว่า 1 ปี เพียงเพื่อวินิจฉัยคำขอให้เปิดเผยข้อมูลที่ควร “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ที่เป็นหลักการสำคัญของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
แม้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยตรง แต่ก็ทำให้เกิดข้อคำถามกับความพยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเชิงนโยบายของรัฐไทยมากมายว่า การดำเนินการทางกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง ทำให้เกิดปัญหาต่อการประเมินกฎหมายที่มีอยู่เดิมของไทยหรือไม่ บางกฎหมายที่ถูกตรามานานกว่า 20 ปีได้มีการพิจารณาประสิทธิภาพการใช้งาน ผลที่เกิดขึ้นจริง และการตอบรับกับพลวัตของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันหรือไม่ การประเมินผลกระทบของกฎหมายครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันหรือไม่ สิ่งนี้ยังคงเป็นคำถามและข้อถกเถียงในสังคมที่รัฐไทยยังไขข้อสงสัยให้แก่ประชาชนไม่ได้
แล้วต่างประเทศเขาทำอย่างไรกันบ้าง ?
หากเราลองสำรวจความพยายามที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในภาพรวมอาจมีหลายส่วนที่คล้ายกัน เช่น การให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ การออกแบบกระบวนการประเมินความเสี่ยงของกฎหมาย รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน แต่ส่วนที่อาจต่างไป คือ เครื่องมือที่นำมาใช้และลักษณะการบังคับใช้ที่น่าสนใจ อย่างในประเทศเกาหลีใต้ที่ทำ Regulatory Guillotine มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2540 จากข้อมูลของ OECD พบว่า เกาหลีใต้ได้ทบทวนและยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นมากกว่า 48% ของกฎระเบียบทั้งหมดในช่วงแรกของการดำเนินงาน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดกฎหมายกว่า 6,000 ข้อ และยังมีการจัดทำการประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันของกฎหมาย (Corruption Risk Assessment – CRA) โดยคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมือง (Anti-corruption & Civil Rights Commission – ACRC) ของเกาหลีใต้ที่ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงจากการคอร์รัปชันในโครงการของภาครัฐกว่า 1,500 โครงการ และมากกว่า 60% ของโครงการที่ได้รับการประเมินมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขเพื่อลดช่องโหว่ของการคอร์รัปชันครอบคลุมตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการออกนโยบายในระดับประเทศ และยังประยุกต์ใช้ไปจนถึงระดับท้องถิ่น
อีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการต่อสู้กับการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย คือประเทศสิงคโปร์ สังเกตได้จากดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index – CPI) ของสิงคโปร์ที่ได้รับคะแนน 83 จาก 100 คะแนนในปี 2566 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตของสิงคโปร์ (Corrupt Practices Investigation Bureau – CPIB) เป็นหน่วยงานสำคัญที่กำกับดูแลการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเข้มงวด โดยในปี 2564 มีรายงานการคอร์รัปชันเพียง 128 รายการ และอย่างที่เรารู้กันว่าสิงคโปร์มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดอย่าง Prevention of Corruption Act (PCA) ที่ให้ CPIB มีอำนาจดำเนินการสอบสวนและฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการคอร์รัปชันโดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นการทุจริตในภาครัฐหรือเอกชน โดยผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดอาจถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี สำหรับการกระทำผิดที่รุนแรงขึ้น อาทิ การให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ บทลงโทษสามารถเพิ่มได้ถึง 10 ปี พร้อมกับค่าปรับสูงสุด 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือมากกว่านั้นในบางกรณี
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประเทศมีความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเชิงโยบายอย่างเข้มแข็ง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้ประชาชนในประเทศเชื่อมั่นกับการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น
ประเทศไทยควรเดินต่ออย่างไรเพื่อให้การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบายยั่งยืน ?
กลับมามองที่ประเทศไทยอีกครั้ง เราไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเชิงนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้งหน่วยงานและกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้มักประสบปัญหาในด้านการขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็งทำให้มาตรการที่วางไว้กลับไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการล่าช้าในกระบวนการสอบสวน และการลงโทษที่ไม่เข้มงวด ทำให้ผู้กระทำผิดไม่รู้สึกถึงผลของการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะในระดับบุคลากรที่ทำงานในภาครัฐ ที่อาจขาดความรู้หรือความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการคอร์รัปชันต่อสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้กระบวนการต่อต้านการคอร์รัปชันยังไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมแก่สังคมได้ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเชิงนโยบายในประเทศไทยมีความยั่งยืนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นจึงมีข้อเสนอดังนี้
- พัฒนาระบบการดำเนินงานที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างกลไกการบังคับใช้กฎหมาย การให้ความรู้และการสร้างความตระหนักรู้ในหมู่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและเรียกร้องความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยให้การต่อต้านการคอร์รัปชันในประเทศไทยสามารถก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น
- เสริมสร้างการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง ผ่านพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อทบทวนและปรับปรุงให้เข้ากับพลวัตของการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยมากขึ้น ให้ ป.ป.ช. ให้มีอิสระและทรัพยากรเพียงพอในการสอบสวนและดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน (Corruption Risk Assessment – CRA) ในการตัดสินใจและออกนโยบาย เพื่อระบุและแก้ไขจุดเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตตั้งแต่เริ่มต้น
- เพิ่มความเข้มแข็งและเข้มงวดในการใช้มาตรการการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย (Regulatory guillotine) เพื่อปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายและกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนหรือล้าสมัย เพื่อป้องกันการเปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในโครงการจัดซื้อจัดจ้างและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
- เพิ่มความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ ผ่านการปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปตามหลัก “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ง่ายขึ้น
- สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกนโยบายและกฎหมาย โดยการจัดการอบรมและการศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและการต่อต้านการทุจริต รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการคอร์รัปชัน
- พัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการตรวจสอบการทุจริต นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการตรวจสอบและติดตามการใช้จ่ายของรัฐ โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและลดโอกาสการทุจริต
นอกจากนี้ การนำ เทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการเปิดเผยข้อมูล และสร้างความโปร่งใสในกระบวนการออกนโยบาย และการใช้ หลักธรรมาภิบาล ในการกำกับดูแลกิจกรรมทางการเมืองจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการกำหนดนโยบาย อีกทั้งควรมีการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการตรวจสอบและเปิดเผยการทุจริตเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ และหวังว่าประเทศไทยจะได้เป็นเสือตัวใหญ่ในภูมิภาคอีกครั้ง
อ้างอิง
- Anti-Corruption and Civil Rights Commission. (2006). Corruption Risk Assessment: A New Approach to Anti-Corruption in Korea. ACRC.
- Constitution of the Kingdom of Thailand B.E. 2560 (2017)
- Corrupt Practices Investigation Bureau. (n.d.). Prevention of Corruption Act.
- Indonesia Corruption Watch. (2020). Anti-corruption reforms in Indonesia: Progress and challenges.
- Koh, H. (2018). The role of public participation in policy-making: The case of South Korea. Public Administration Review, 78(5), 724-731.
- Organization for Economic Co-operation and Development. (2004). Regulatory reform in Korea: Government capacity to assure high quality regulation. OECD Publishing.
- Park, H., & Jung, C. (2013). Fighting Corruption: A Comparative Study of Anti-Corruption Strategies in South Korea and Other Nations. Journal of Comparative Policy Analysis, 15(5), 467-488.
- Rose-Ackerman, S. (1999). Corruption and government: Causes, consequences, and reform. Cambridge University Press.
- Singapore Legal Information Institute. (n.d.). Prevention of Corruption Act.
- Thailand Development Research Institute (TDRI). (2020). ทีดีอาร์ไอ เปรียบกฎหมายเป็นชุดคำสั่งประเทศ แนะเพิ่มประสิทธิภาพ “RIA – Regulatory Guillotine” ลดภาระต้นทุนรัฐและประชาชน. https://tdri.or.th/2020/10/ria-regulatory-guillotine/
- The101.world. (2021). คอร์รัปชันแบบไทยๆ ไม่เหมือนที่ไหนในโลก?.
- Transparency International. (2023). Corruption Perceptions Index 2023. Transparency International.
- Transparency International. (n.d.). What is corruption?
- U.S. Department of State. (2019). 2018 Investment climate statements: Thailand.
- World Bank. (2021). Corruption in the public sector.
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย). (2016). ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest).
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย). (2017). โครงการสังคายนากฎหมาย.
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย). (2021). โกงให้ถูกกฎหมาย คอร์รัปชันเชิงนโยบาย.