ไม่ว่าจะในรูปแบบของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคมของแรงงานในและนอกระบบ กองทุนเพื่อการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปจนถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งมีมากหลากหลายรูปแบบ ยังไม่นับรวมกับการออมเงินในระยะยาวรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นบัญชีออมทรัพย์ บัญชีฝากประจำ หรือการเลือกซื้อทองคำหรือหุ้นที่มีอนาคตดี เพื่อให้ผลตอบแทนที่งอกเงยระหว่างเก็บออม
เงินออมที่กระจัดกระจายกับอคติเชิงพฤติกรรมที่ซ้ำเติม
แม้ข้อดีของการมีช่องทางที่หลากหลาย จะทำให้คนไทยมีทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการ และศักยภาพทางการเงินของแต่ละบุคคล แต่ในทางกลับกันช่องทางที่หลากหลายมักสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปได้เช่นเดียวกัน
จากการจัดทำ persona หรือการสร้างบุคคลเสมือนเพื่อสะท้อนพฤติกรรมการออมของคนไทย ชี้ให้เห็นว่าการที่คนไม่ทราบสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองจากช่องทางการออม และการลงทุนที่หลากหลาย (กระจัดกระจาย) ส่งผลต่อการวางแผนทางเงินในระยะยาว และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขาดแรงจูงใจในการออมและการลงทุนระยะยาว รวมถึงส่งผลให้ขาดวินัยในการควบคุมค่าใช้จ่ายของตนเองได้เช่นกันในบางกรณี
ปัญหาการกระจัดกระจายของทางเลือกที่ส่งผลต่อการวางแผนทางการเงินระยะยาว ยังถูกซ้ำเติมจากอคติเชิงพฤติกรรมของคนทั่วไป ซึ่ง 89% ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า คนไทย “กลัวไม่ได้ใช้เงิน” หรือมีลักษณะกลัวความสูญเสีย (Loss Aversion) จากการต้องเก็บออมเงินที่ควรจะใช้ได้ในปัจจุบันไปกับการเก็บเพื่อใช้ในอนาคต จึงเป็นผลให้บุคคลกลุ่มนี้เลือกที่จะใช้จ่ายมากกว่าเก็บออมเพื่ออนาคตนั่นเอง
นอกจากนั้นแล้วกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้กว่า 53% ไม่รู้ถึงความสำคัญของพลังของดอกเบี้ยทบต้น (Exponential Growth Bias) ที่สามารถทวีมูลค่าของเงินฝากได้ในระยะยาว
จากข้อค้นพบทั้งสองแสดงให้เห็นว่าอคติเชิงพฤติกรรมของคนไม่ว่าการกลัวความสูญเสีย และการละเลยพลังของดอกเบี้ยทบต้น ประกอบกับการกระจัดกระจายของช่องทางการออมและการลงทุน เป็นความเสี่ยงที่ส่งผลต่อความสามารถในการออมเพื่อการเกษียณในระยะยาวของคนทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จะดีเพียงใด หากทุกคนจะสามารถเห็นสถานะเงินออมของตัวเองใน “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ได้
หนึ่งในเครื่องมืออย่าง Pension Dashboard ที่เป็นเหมือนกระดานที่แสดงเงินออมเงินลงทุนสามารถตอบโจทย์นี้ได้ ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจถึงสถานะทางการเงินของตนเอง และภาครัฐสามารถสนับสนุนการออม และการลงทุนเพื่อการเกษียณได้ อีกทั้งยังจะทำให้เห็นภาพรวม และสามารถคาดการณ์การลงทุนของประชาชนได้
ข้อมูลเงินออมที่ครบถ้วน ประโยชน์ที่ชัดเจนแก่ทุกฝ่าย
ดังนั้นการจัดทำ Pension Dashboard สำหรับคนไทยทุกคนที่สามารถรวบรวมข้อมูลเงินออม เงินลงทุน หรือสินทรัพย์ทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันจากฐานข้อมูลของภาครัฐทั้งในรูปแบบสวัสดิการ อย่าง กบข. กอช. หรือประกันสังคม รวมถึงฐานข้อมูลของเอกชนทั้งจากบัญชีเงินออม บัญชีกองทุน บัญชีสินทรัพย์ทางการเงินที่มีการลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์แหล่งต่าง ๆ ไปจนถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่แต่ละบุคคลมี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปทราบถึงสถานะทางการเงินของตนเองในปัจจุบัน และวางแผนทางการเงินเพื่อคาดการณ์เงินออมเพื่อการเกษียณในอนาคต เพื่อการเตรียมพร้อมในการเกษียณอย่างมีคุณภาพ
ในมุมมองของภาครัฐ การจัดทำ Pension Dashboard เปรียบเสมือนการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อรองรับการเข้ามาของสังคมสูงอายุในอนาคตที่การเตรียมเบี้ยผู้สูงอายุไม่เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการ
ดังนั้นมาตรการที่ส่งเสริมการเตรียมการเกษียณในระดับบุคคลจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยโครงสร้างพื้นฐานนี้สามารถเป็นได้ในลักษณะของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงิน กองทุนเพื่อการเกษียณต่าง ๆ ผ่านเลขประจำตัวประชาชน และเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบ API (ให้ระบบซอฟต์แวร์เชื่อมต่อกัน) เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่ใกล้ชิดกับประชาชน สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ และแสดงผลสำหรับแต่ละบุคคล (Personalization) บนแอปพลิเคชันทางการเงินที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนั้นแล้ว การจัดทำ Pension Dashboard ยังเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการประมาณการความเพียงพอเงินออมยามเกษียณของแต่ละบุคคล ซึ่งภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลชุดนี้ในการวางแผนและประมาณการณ์ความช่วยเหลือ เงินอุดหนุนต่าง ๆ ของภาครัฐให้ตรงกับความต้องการของบุคคล และเหมาะสมกับภาระทางการคลังของประเทศไทยในระยะยาวได้อีกด้วย
เห็นได้ว่าข้อเสนอการจัดทำ Pension Dashboard ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเป็นประโยชน์ทั้งในมุมมองของประชาชน และภาครัฐในคราวเดียวกัน
ในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกได้พัฒนา Pension Dashboards ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาการกระจัดกระจายของข้อมูลเกี่ยวกับเงินบำนาญ และช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานะทางการเงินเพื่อการเกษียณ
จุดมุ่งหมายหลักของระบบเหล่านี้คือการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลที่รวบรวมจากหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญภาครัฐ เงินบำนาญภาคเอกชน รวมถึงการออมส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง และตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดได้อย่างสะดวกในที่เดียว อีกทั้งยังช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการข้อมูล และส่งเสริมให้เกิดการวางแผนการเกษียณที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จดหมายซองสีส้ม ตัวอย่างมาตรการในต่างประเทศ
การผลักดัน Pension Dashboards ให้เกิดขึ้นในระดับประเทศ พบว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกมีการออกแบบแพลตฟอร์มให้เหมาะสมกับบริบท และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งเงินบำนาญภาครัฐ (Pillar 1) เงินบำนาญภาคเอกชน (Pillar 2) และเงินออมส่วนบุคคล (Pillar 3) เพื่อให้ประชาชนสามารถมองเห็นภาพรวมทางการเงินหลังเกษียณได้อย่างครอบคลุม
โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ระบบ Pensions Dashboard ของสหราชอาณาจักร ซึ่งนอกจากแสดงข้อมูลเงินออมของแต่ละบุคคลแล้ว ยังช่วยค้นหาบัญชีเงินบำนาญที่อาจถูกลืมทิ้งไว้ได้อีกด้วย หรือระบบ PensionsInfo ของเดนมาร์กซึ่งครอบคลุมข้อมูลเงินฝากหรือเงินลงทุนถึง 99% ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเชื่อมโยงข้อมูล
อีกตัวอย่างที่มีความน่าสนใจคือ ระบบจดหมายซองส้ม (The orange envelope) ของสวีเดนในการรายงานข้อมูลเงินลงทุนเพื่อการเกษียณให้กับประชาชนทั่วไป โดยแรกเริ่มนั้นจะเป็นในรูปแบบของซองจดหมายสีส้มที่ส่งให้กับพลเมืองสวีเดน โดยประมาณการณ์ผลตอบแทน และเงินบำนาญเมื่อผู้นั้นเกษียณ และยังระบุด้วยว่า เงินที่มีอยู่จะสามารถมีใช้อย่างเพียงพอไปจนถึงเมื่อไหร่ ในกรณีที่หยุดทำงาน และเริ่มรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ผ่านมา
นอกจากนั้นระบบ minPension ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณรายได้ภายใต้สถานการณ์การออม และการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ ประเทศอย่างออสเตรเลีย และเม็กซิโกยังนำเทคโนโลยีมือถือ และระบบดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการบัญชีเงินบำนาญ โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุน และเพิ่มการเข้าถึงให้กับประชากรทุกกลุ่ม
ระบบจดหมายซองส้มที่มีข้อมูลเงินออมเพื่อการเกษียณของคนทั่วไปในสวีเดน
อาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเร่งผลักดันการจัดตั้งระบบ Pension Dashboard อย่างเป็นรูปธรรม ในวันที่ช่องทางการออมของคนไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “หวยเกษียณ” ซึ่งคาดการณ์ว่านักเสี่ยงโชคที่อาจเป็นผู้ออมหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรมีบทบาทหลักในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการออม และการลงทุนที่กระจัดกระจายทั้งจากหน่วยงานรัฐ และเอกชนให้เป็นระบบเดียวกันอย่างครบถ้วน ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบ API และเลขประจำตัวประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสถานะการเงินของตนเองได้แบบเรียลไทม์
การมีพื้นที่ส่วนกลางเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างวินัยทางการเงิน และการวางแผนเกษียณในระดับบุคคล แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถประเมินความเพียงพอของเงินออมยามเกษียณได้อย่างแม่นยำ วางแผนสวัสดิการได้ตรงจุด และบริหารภาระทางการคลังได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากดำเนินการอย่างจริงจัง จะเป็นรากฐานสำคัญของระบบการเงินสำหรับสังคมสูงวัยในอนาคตอย่างแท้จริง
อ้างอิง
- รายงานการวิจัยและนวัตกรรมฉบับสมบูรณ์ มาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2565)
- จากการสำรวจแบบสอบถามด้วยชุดคำถามในการทดสอบ (experimental design survey) วัดอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้นมากกว่า 1,000 ตัวอย่าง อายุระหว่าง 20 – 40 ปี ครอบคลุมทั้งกลุ่มแรงงานในระบบที่มีนายจ้าง และแรงงานนอกระบบ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน ถึง 28 ธันวาคม พ.ศ. 2565
- https://commonslibrary.parliament.uk/research-briefings/cbp-8407/
- https://www.pensions-expert.com/Law-Regulation/Outlook-2025-Dawn-of-the-Dashboards?ct=true
- www.minpension.se/Media/MinPension/SVI/Dokument/This%20is%20minPension%20-%20in%20eng.pdf
- www.oecd.org/content/dam/oecd/en/publications/reports/2024/12/oecd-pensions-outlook-2024_6ac7d5fd/51510909-en.pdf
- www.sverigesradio.se/artikel/7155189
อ่านเพิ่มเติม