ในปี 67 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีอัตราเด็กเกิดใหม่จำนวน 4.6 แสน ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี และมีแนวโน้มจำนวนเด็กเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 13 ล้านคน หรือ 20.83% จากประชากรทั้งหมด 65,951,210 คน
ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต้องเผชิญปัญหารุมเร้าทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่งพิง ปัญหาสุขภาพ และรายได้ โดยรายงานข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุพบแนวโน้มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น 8.7 % จาก ปี 57 มาเป็น 12 % ในปี 64 ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานที่สามารถเกื้อหนุนผู้สูงอายุลดลง จากเดิมที่คนวัยทำงาน 1 คนดูแลผู้สูงอายุ 4.62 คน ลดเหลือคนวัยทำงาน 1 คน ดูแลผู้สูงอายุได้ 3.22 คนในปี 66
ผู้สูงอายุ”โดดเดี่ยว”เพิ่มขึ้น
ขณะที่การคาดการณ์ของ กองพยากรณ์สุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ถึงภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า พบภาวะการพึ่งพิงของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 5 % ในทุก 5 ปีไปจนถึงปี 83 ดังนี้
- ผู้สูงอายุติดบ้าน
- เพศชายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 18,000 รายในปี 2564 เป็น 94,000 รายในปี 2583
- เพศหญิงคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 58,000 รายในปี 2564 เป็น 210,000 รายในปี 2583
- ผู้สูงอายุติดเตียง
- เพศชายคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 81,000 รายในปี 2564 เป็น 370,000 รายในปี 2583
- เพศหญิงคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 18,000 ราย เป็น 211,000 รายในปี 2583
ค่าคาดการณ์ภาวะพึ่งพิง ตั้งแต่ปี 2564 – 2583 จะเพิ่มขึ้นเพียง 1 %- 5 %ทุก 5 ปี ทำให้จำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4 ถึง 5 เท่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า https://hfd.anamai.moph.go.th/th/news-anamai-3/229198
ผู้สูงอายุ “เงินออมน้อย – มีหนี้สิน”
ผู้สูงอายุไทยไม่เพียงโดดเดี่ยว แต่ยังเผชิญปัญหารายได้ และ หนี้สิน โดยข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่า ในจำนวนผู้สูงอายุ 13 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานเพียงแค่ประมาณ 5.11 ล้านคน หรือ 37.5 % ของผู้สูงอายุทั้งหมด และอาชีพที่ผู้สูงอายุทำมากที่สุด 57.8 % คืออาชีพด้านการเกษตรและประมง ซึ่งมีชั่วโมงทำางานเฉลี่ย 39 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ แต่ 86.8 % ของผู้สูงอายุที่ทำางาน เป็นแรงงานนอกระบบ และมีปัญหาได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำถึง 52.7 %
ขณะที่ยังพบว่าผู้สูงอายุ 54.3 % มีเงินออม แต่มีผู้สูงอายุ 41.4 % มีเงินออมต่ำกว่า 5 หมื่นบาท มีเพียง 11.9 % มีมูลค่าการออมมากกว่า 4 แสนบาท มีกรมธรรม์จำนวน 46,225 ฉบับ รวมเงินประกัน 18,861 ล้านบาท ขณะที่มีผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านคนมีหนี้สิน
ผู้สูงอายุ ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ
ส่วนในเรื่องสวัสดิการของรัฐ พบว่ามีผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพียงแค่ 5.1 ล้านคน และผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพ จากกรมบัญชีกลางในปี2566 จำนวน 10,961,089 คน
ส่วนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ และ บำนาญข้าราชการ แบ่งเป็นได้รับบำเหน็จ หรือบำนาญตลอดชีพ จากกรมบัญชีกลาง จำนวน 1,845,161 คน ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น จำนวน 36,000 คน ได้รับจากกองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน21,739 คน และได้รับจากการเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบานาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 1,016,231 คน
สถานการณ์ผุ้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ ส่งต่อคุณภาพชีวิต ที่ผู้สูงอายุไทยยังต้องเผชิญปัญหา ทั้งเรื่องของสุขภาพและปัญหาหนี้สิน