ปัจจุบัน สวัสดิการสังคมหลายอย่างที่ภาครัฐให้เป็น “สิทธิพื้นฐาน” จะมีความครอบคลุมในหลายเรื่อง ทั้งการรักษาพยาบาล เงินบำนาญถ้วนหน้า หรือสิทธิลดหย่อนต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ แต่ “ความเพียงพอ” ของสิทธิเหล่านั้นยังคงเป็นความไม่แน่นอนของใครหลายคนที่ยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณ
ความไม่พร้อมดังกล่าวจึงทำให้การเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิต 20 ปี หลังจากหยุดทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องอาศัยทั้งความสม่ำเสมอของแต่ละคน มาตรการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิตของใครคนนึง
ดังนั้นการเตรียมการเพื่อชีวิตหลังการทำงานของใครสักคนจึงไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถวางแผนได้ในเวลาไม่กี่ปี แต่กลับเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในองค์ความรู้ทางการเงิน ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่าง “เงินเฟ้อ” และ “ดอกเบี้ย” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการเก็บออมระยะยาว ไปจนถึงช่องทางการลงทุนที่แตกต่างเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากเพียงพอต่อการเกษียณอายุ นอกจากนั้นเรื่องของทัศนคติทางการเงินยังเป็นอีกเรื่องที่ต้องมีการปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก เพื่อสร้างทัศนคติที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต
ตัวเลขในระดับประเทศ กำลังบอกอะไรเรา?
ย้อนกลับมาพิจารณาตัวเลขในระดับมหภาคที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการรายงานต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อสิงหาคม 2567 ที่ชี้ให้เห็นว่าคนไทยเพียง 2.7% เท่านั้นที่ออมเพื่อเกษียณด้วยการลงทุนจริง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นช่องว่างการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณในสังคมไทย ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจในการขับเคลื่อนมาตรการในการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินของคนในสังคมอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน นับตั้งแต่ในวัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณ ผ่านมาตรการที่เข้าใจความแตกต่างของความต้องการและปัญหาในแต่ละช่วงวัยแต่ยังคงมีทิศทางและความสอดคล้องระหว่างมาตรการเพื่อง่ายต่อการรับรู้และเข้าถึงมาตรการของชาวบ้านทั่วไป
ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (2565) ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มวัยรุ่น (< 22 ปี) มากถึง 54% ยังไม่เริ่มคิดหรือวางแผนเกษียณ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล ทั้งการที่เรื่องการเกษียณยังคงเป็นเรื่องที่ไกลตัวหรือบางกลุ่มยังคงมีแนวคิด “ใช้ชีวิตเพื่อวันนี้” ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้การออมยังไม่ใช่ตัวเลือกแรกสำหรับการจัดสรรเงินในแต่ละเดือน รวมถึงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ออม ลงทุนในช่วงแรกที่ยังคงจำกัดจากการที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานและรับเงินเดือนในลักษณะเดียวกันกับคนที่เริ่มทำงานแล้ว ในขณะที่วัยทำงาน (23-60 ปี) มีถึง 93% ของกลุ่ม 23-35 ปี และ 86% ของกลุ่ม 36-60 ปี ที่ยังไม่มีแผนเกษียณ โดยที่ 86% และ 76% ของทั้งสองกลุ่มมีเงินสำรองฉุกเฉินไม่เกิน 6 เดือน อันเกิดจากการมีรายได้ไม่เพียงพอและความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเงิน
ความท้าทายดังกล่าวยังคงสะท้อนในผลกลุ่มผู้สูงอายุ โดยการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2564) พบว่า 59% ของผู้สูงวัยมีเงินเก็บต่ำกว่า 25,000 บาท 46% ยังต้องทำงานหรือชำระหนี้ 42% มีรายได้ไม่พอใช้ และมีเพียง 1% เท่านั้นที่เงินออมเป็นแหล่งรายได้หลัก จึงเสี่ยงขาดแคลนรายได้ระยะยาวและต้องพึ่งพาครอบครัวหรือทำงานต่อแม้ล่วงวัยเกษียณแล้ว ซึ่งตัวอย่างข้อมูลเบื้องต้นของทั้งสามช่วงวัยสะท้อนให้เห็นช่องว่างการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณในสังคมไทยอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงเรื่องของช่วงวัยเท่านั้น “ประสบการณ์” หรือ “เรื่องราว” ของคนแต่ละคน ยังส่งผลต่อการเตรียมการเกษียณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มาและเรื่องราวของคนที่หลากหลาย ที่ควรพิจารณาในการทำนโยบายการออม
จากการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม ประชากรในช่วงวัยทำงานภายใต้ชุดงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการออมและการมีส่วนร่วมในตลาดทุนเพื่อการเกษียณในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การพูดคุยกับกลุ่มคนที่หลากหลายได้สะท้อนลักษณะบุคคลจำลองหรือ Persona ที่แตกต่างออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยในที่นี้ ขอยกตัวอย่าง 3 กลุ่ม Persona ที่มีความโดดเด่นและสะท้อนให้เห็นถึง “ข้อจำกัด” หรือ “ความต้องการ” ที่แตกต่างกัน
“คนจน” คือหนึ่งในกลุ่มบุคคลจำลองที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดที่เริ่มจากทุนชีวิตต่ำและต้องหาเช้ากินค่ำ รายได้ไม่พอใช้จนเงินหมดก่อนสิ้นเดือน ขาดเงินฉุกเฉินและมีภาระเลี้ยงดูสูง งานที่ทำก็ไม่มั่นคง จึงเสี่ยงตกอยู่ในหนี้นอกระบบและถูกดอกเบี้ยกินแรง หนี้เดิมพอกหัวจนติดเครดิตบูโร ทำให้ความฝันต้องพักไว้และชีวิตวนเวียนอยู่กับการชำระหนี้โดยไม่มีโอกาสสร้างหลักประกันทางการเงินของตนเอง
“YOLO” เป็นกลุ่มบุคคลจำลอง (ที่มีอยู่ในทุกช่วงวัย ไม่จำกัดเฉพาะเด็กรุ่นใหม่) โดยบุคคลจำลองในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความ “ความสุขในปัจจุบัน” บางส่วนให้ความสำคัญกับประสบการณ์ก่อนสะสมทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งในบางกลุ่มให้ความสำคัญกับการถือเงินสดมากกว่าสร้างพอร์ตลงทุน จากการมองแค่ผลตอบแทนระยะสั้น บางส่วนของบุคคลจำลองกลุ่มนี้ยังมีการใช้จ่ายขยายตามไลฟ์สไตล์ (lifestyle-inflation) ซึ่งส่งผลให้การออมหรือสินทรัพย์เติบโตช้าจากปริมาณเงินออมและวิธีการลงทุนที่จำกัด ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้พลาดโอกาสสร้างความมั่นคงในอนาคต.
“พี่นัน” เป็นชื่อของอีกกลุ่มบุคคลจำลอง ที่สะท้อนภาพของคนทำงานวัยกลางคนที่ขยันเก็บออมสม่ำเสมอ แต่ยังคงฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ผลตอบแทนต่ำ เพราะกังวลความผันผวนของตลาดหุ้น กลัวขาดทุนมากกว่าตื่นเต้นกับโอกาสทำกำไร อ่านงบการเงินไม่ออกและไม่ถนัดเทคโนโลยีการเงินจึงขาดที่ปรึกษาที่ไว้วางใจได้ เมื่อตั้งใจ “เสี่ยงน้อยไว้ก่อน” เงินออมจึงไม่ทันเงินเฟ้อ ต้นทุนโอกาสงอกเงยหายไปทุกปี ยิ่งน่าเสียดายเพราะกลุ่มบุคคลจำลองนี้มีวินัยทางการเงินและทุนตั้งต้นอยู่แล้ว ถ้าได้รับความรู้และการชี้ทางลงทุนที่เหมาะสม ทรัพย์สินของคนกลุ่มนี้อาจเติบโตได้อีกมากแทนที่จะหยุดนิ่งอยู่ในธนาคาร
สามตัวอย่างข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าความต้องการทางการเงินของแต่ละกลุ่มบุคคลจำลองยังคงมีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการที่เข้าไปช่วย “แก้ไข” หรือ “ส่งเสริม” จึงต้องมีความแตกต่างกัน และแน่นอนในสังคม ยังคงมี persona อีกมากที่ส่งผลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของคนในสังคม
เส้นทางการบริหารต้นทุนชีวิตต่อการลงทุนที่ยั่งยืน
เมื่อเรานำเอาข้อจำกัดหรือความต้องการของแต่ละบุคคลมาต่อกันเส้นทาง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับสายพานต่อที่เริ่มจาก “ต้นทุนชีวิต” แล้วแตกออกเป็นสองทางตามสมการรายได้–รายจ่าย โดยหากรายจ่ายมากกว่ารายได้จะตกสู่ช่อง “ไม่มีเงินออม” และอาจไหลต่อไปเป็น “หนี้” ในขณะที่รายจ่ายน้อยกว่ารายได้จะพาเข้าสู่ “มีเงินออม” ซึ่งเปิดโอกาสให้ก้าวสู่การ “ลงทุนถูกที่” เมื่อปลดหนี้หมด ภายในเส้นทางเดียวกันนี้จุดที่แต่ละคนสะดุดจึงต่างกัน เช่น คนจน ติดคอขวดตั้งแต่ด่าน “ไม่มีเงินออม/เป็นหนี้” เพราะรายได้ขาดดุล ส่วน พี่นัน แม้เดินมาไกลจนสร้างเงินออมได้แล้วก็ยังหยุดอยู่ที่กล่อง “ไม่มีการลงทุน” เพราะกังวลความเสี่ยงและขาดข้อมูล จึงสะท้อนว่ามาตรการช่วยเหลือต้องออกแบบเฉพาะจุดตามที่แต่ละกลุ่มติดหล่มอยู่จริง ๆ
ท้ายที่สุด ตลอดเส้นทางรายได้-รายจ่ายของคนไทย ในแต่ละ “ช่วงวัย” หรือ “Persona” ซึ่งไม่ว่าจะเป็น “คนจน” ที่ติดกับดักหนี้ กลุ่ม “YOLO” ที่ใช้จ่ายเพื่อปัจจุบัน หรือ “พี่นัน” ที่ออมเก่งแต่ยังไม่กล้าลงทุน ล้วนแต่เผชิญจุดเปลี่ยนและอุปสรรคต่างกัน สะท้อนความหลากหลายของชีวิตและเงื่อนไขแวดล้อมนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมการเตรียมการเพื่อการเกษียณควรมีการคำนึงถึง
เริ่มตั้งแต่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม ที่เกิดจากจุดเปลี่ยนหรืออุปสรรคในชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น รายได้ไม่พอ หนี้สิน ทัศนคติ หรือข้อจำกัดจากสภาพแวดล้อม
ดังนั้นนโยบายควรออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะบุคคลและสถานการณ์ชีวิต โดยต้องคำนึงถึงความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจเป็นสำคัญ ท้ายที่สุดการออกแบบนโยบายที่เน้น “คนเป็นศูนย์กลาง” ไม่ใช่แค่มองจากตัวเลขหรือผลิตภัณฑ์ จะช่วยผลักดันให้คนก้าวจากการตระหนักรู้ไปสู่การลงมือทำอย่างแท้จริง จากการออมไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืนนั่นเอง