“ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย”
ธีมประจำงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ซึ่ง 1 ใน 3 วาระ คือ ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานมีกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ในการที่จะพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิต ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม
ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาทักษะสุขภาพจิตส่วนบุคคล พฤติกรรม วิถีชีวิต การเยียวยารักษา ไปจนถึงการออกแบบและพัฒนานโยบายที่เป็นไปตามหลักสากล ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีสำหรับทุกคนในประเทศไทย พร้อมย้ำว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คือ กระบวนการที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะ และเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้
“HACK ใจ” ค้นหา 8 นวัตกรรม ดูแลใจก่อนป่วย
การสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิต ตามข้อเสนอในเวที Policy Forum ครั้งที่ 2: นโยบายสุขภาพจิต : Mental Health Policy Ecosystem คนทำงานด้านสุขภาพจิตเห็นตรงกันว่า รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพจิตที่กระจายอย่างทั่วถึง และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนให้เกิดเป็นรูปธรรมในการจัดการแก้ปัญหาสุขภาพจิต ทันต่อสถานการณ์ที่ไล่ตามหลังขึ้นทุกขณะ
29 ก.พ. – 2 มี.ค. 67 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ,ไทยพีบีเอส ,สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Future Tales Lab by MQDC) ร่วมจัด ‘HACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน
เป้าหมายเพื่อรวบรวมไอเดียด้านการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทักษะของแต่ละองค์กร นำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต รวมถึงสร้างเครือข่ายการพัฒนาโครงการ เจตจำนง หรือนโยบายด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต ผ่านกระบวนการระดมสมองค้นหาไอเดียในรูปแบบ Hackathon ครั้งแรกในประเทศไทย
โดยโจทย์สำคัญที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงความสุข นำมาสู่อาการเจ็บป่วยทางใจ มีองค์ประกอบอย่างน้อย 8 ด้าน ได้แก่
การออกแบบเมือง (Urban Planning) เวลานี้ประเทศไทยมีประชากรหนาแน่นมากขึ้นกว่า 10 ปี ที่แล้ว และมีการย้ายถิ่นฐานทำงานจำนวนมาก โดยมีความหนาแน่นประชากรเฉลี่ยสูงถึง 118.7 คน/ตร.กม. ในขณะที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวใน กทม. เพียงแค่ 7.49 ตร.ม./คน (ข้อมูลปี 2565) ซึ่งน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดนั่นคือ 9 ตร.ม./คน รวมทั้งมีสัดส่วนของห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างฟินแลนด์และสหรัฐอเมริกาด้วย
องค์กรแห่งความสุข (Happy Work) จากการสำรวจ พนักงาน 44% ที่รู้สึกว่าบริษัทที่ตนทำงานอยู่ไม่สามารถสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้ได้เลย และ 1 ใน 3 ของพนักงานบอกว่ารู้สึกไม่สบายใจในการบอกเล่าปัญหาทางสุขภาพจิตของตนให้กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน
Happy e-Work – พนักงานทั่วโลกรู้สึกเหนื่อยล้ากับการทำงานแบบ Work from home และนำเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปใช้ในการทำงานมากขึ้นแทน และมี 47% ที่บอกว่ารู้สึกเหนื่อยล้ากับการประชุมออนไลน์ที่เลื่อนลอย ไร้เป้าหมาย
การสื่อสาร (Communication) – จากสถิติพบว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาในการดูคอนเทนต์วิดีโอในอินเทอร์เน็ตสูงถึง 7.25 ชั่วโมง/วัน และมี 79.20% ที่ประสบปัญญาการคุกคามจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์และ SMS โดยประชากรสูงวัยในไทย มีทักษะดิจิตอลอยู่ในระดับพื้นฐานเท่านั้น และยังต้องการการพัฒนา
การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcer) – ปี 2566 ไทยมีคดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ สูงถึง 17,848 คดี โดยคดีที่ก่อเหตุสูงสุดคือ การทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่า และข่มชืน โดยมีดัชนีอาชญากรรมของไทยอยู่ในลำดับที่ 7 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระบบยุติธรรม (Justice System) – เด็กและเยาวชนที่ก่อคดีอาญากว่า 12,000 คดี โดยมีคดีที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกายสูงขึ้นถึง 1,296 คดี และเมื่อตุลาคม 2566 มีเหตุการณ์กราดยิงประชาชนทั่วไปในห้างสรรพสินค้าที่มีผู้ก่อเหตุเป็นเด็กครั้งแรกในไทย
นวัตกรรม (Innovation) – พบว่า ไทยมีทรัพยากรที่สนับสนุนระบบสุขภาพจิตน้อย ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยจิตเวชพุ่งทะยานขึ้นทุกปี (ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 12.09% และผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้น 16.60%)
Mental Health Insurance – หรือการประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคจิตเวชที่ยังไม่มีมาก ราคาแพง และคุ้มครองน้อย โดยมีค่าเบี้ยประกันเกือบ 1 แสนบาท/ปี แค่คุ้มครองตลอดชีวิตไม่เกิน 4 แสนบาท
“มิติหลักเหล่านี้เป็นต้นตอของปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนที่ไม่ได้เกิดจากเรื่องใดหรือเป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้นอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของทุกคนและเกิดขึ้นได้จากหลายมิติ”
ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้าน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการระดมทีมผู้เชี่ยวชาญ เก็บข้อมูลด้านสุขภาพจิตยาวนานกว่า 7 เดือน จนได้เป็นสิ่งที่เรียกว่าแรงขับเคลื่อน หรือ driving force จนกระทั่งนำไปสู่การศึกษา future study จากการคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้า (foresight) จนได้เป็น 5 ภาพอนาคตประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงดีที่สุด ที่ไม่ใช่การการดูดวงประเทศ แต่เป็นการศึกษาอนาคต ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าชีวิตเราจะเดินไปในทิศทางไหน แต่มีความเป็นไปได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะแย่ที่สุดหรือดีที่สุด อยู่ที่เรากำหนดชีวิตเราเอง ได้แก่
- การระเบิดของความหวาดกลัว (Terror outburst)
- วิกฤตที่แฝงด้วยโอกาส (Opportunity in adversity)
- มวลชนผู้โดดเดี่ยว (Packs of lone wolves)
- สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน (Decentralized mental well-being)
- จุดหมายแห่งความสุขประเทศไทย (Land of smiling minds)
3 วัน กับ 8 นวัตกรรม ดูแล ปกป้อง ‘สุขภาพจิต’ คนไทย ขับเคลื่อนต่อสู่ระดับนโยบาย
วันสุดท้ายของ ‘HACK ใจ’ ผู้ร่วมกิจกรรมทั้ง 8 ทีม นำเสนอผลงานเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาต้นตอสุขภาพจิตในสังคมไทย ประกอบด้วย
- ใจฟู Community – นวัตกรรมระบบบริการสุขภาพจิตไทย (Innovation)
- ฟังกันก๊อนนน – องค์กรส่งเสริมความสุข และสุขภาวะทางจิต (Happy Work)
- ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งการเปลี่ยนแปลง – นวัตกรรมระบบสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด (Justice system)
- happy Hub – Digital economy สุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต
- อุ่นใจ เตือนภัยมิจจี้ – พลังของเทคโนโลยีการสื่อสารต่อสุขภาพจิตสังคมไทย (Communication)
- Hack Jai Insurance – ระบบประกันสุขภาพจิตที่ครอบคลุมสำหรับคนไทย (Insurance)
- Hero Protector – เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สุขภาพจิตคนไทย (Law Enforcer)
- พื้นที่เมืองแห่งความสุข – Smiling Cities
โดยหลังจบกิจกรรมว่า จะมีการติดตามทั้ง 8 ผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอดให้ใช้งานได้จริง มีผู้ร่วมสนับสนุนด้านนวัตกรรม งบประมาณ และนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาวะทางจิตของคนไทยอย่างยั่งยืน
ด้าน นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า การสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศไทย ซึ่งกิจกรรม Hackathon สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตแบบเร่งด่วนอย่างมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความสนใจในการพัฒนางานด้านส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต และมีศักยภาพสูงที่แตกต่างออกไป จากหน่วยงานด้านสาธารณสุข
โดยจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตในปัจจุบัน และเป็นโอกาสที่จะพัฒนาให้ทุกฝ่ายพร้อมทำงานร่วมกัน เพื่อให้สังคมไทยพัฒนาต่อไป ซึ่ง “HACK ใจ” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมเพื่อสร้างสุขภาพจิตเพื่อสังคม