ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) นับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุด มีบทบาทในการยกร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาส ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ
จากการคลุกคลีในเรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน ทำให้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งด้านสถานการณ์และด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็น “ไฟป่าและฝุ่นPM2.5” กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อทั้งผู้นำฝ่ายค้านและนายกรัฐมนตรี เดินทางไปในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเวลาเดียวกัน
เพื่อให้เรา “ก้าวพ้น” ประเด็น “ดราม่าทางการเมือง” อาจารย์ไพสิฐ ได้เขียนบทความสั้น ๆ ชื่อว่า “5 บทเรียน ข้อเรียนรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5” กระตุ้นเตือนให้คนไทยได้เรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนอย่างมาก เกี่ยวพันกับระดับพื้นที่และเป็นเรื่องของโครงสร้างบริหารงานภาครัฐ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การวิ่งไล่จับ hot spot และวิ่งไล่/บินไล่ดับไฟ ในช่วง “เผชิญเหตุ” 3-4 เดือนช่วงฤดูฝุ่นทุกๆ ปี ไม่ใช่วิธีการลดค่า PM 2.5 ที่ได้ผล และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
2. ช่วงเวลาสำคัญ คือ เวลา 8-9 เดือนของ “ช่วงป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง” ซึ่งจะทำให้ระดับความรุนแรงของปัญหาในช่วงฤดูฝุ่นลดลง ไม่ต้องมาวิ่งไล่จับ ไล่ดับไฟแบบที่ทำกันอยู่ และทำให้ลดต้นทุนความเสียหายและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งบางปีมีค่าสูงถึง 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ของประเทศไทย
3. ฤดูฝุ่นที่เกิดขึ้นทุกปี เป็นปรากฎการณ์ของปัญหา เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ สาเหตุรากฐานของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ใต้ภูเขา คือ
- ความล้มเหลวของระบบราชการและการใช้กฎหมายที่มีอยู่
- ความยากจน ความเหลื่อมล้ำของเกษตรกร ของคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกเรียกตามกฎหมายว่า “ป่า”
- การขาดกฎกติกาที่เพียงพอและเข้มแข็งในการกำกับระบบตลาดทุนนิยมเสรี
4. ต้องการ “ชุดเครื่องมือ” เพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นระบบ เป็นเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรม ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสังคม และด้านกฎหมาย
ชุดเครื่องมือที่ต้องใช้เชื่อมโยงกัน 7 เรื่อง ได้แก่
- เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ระบบ BIG Data, ระบบ AI, เครื่องมือ นวัตกรรมตรวจวัดฝุ่น , ดาวเทียม, โดรน ฯลฯ
- เครื่องมือด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น ตลาดคาร์บอน, การจ่ายค่าตอบแทนบริการของระบบนิเวศ , ภาษีมลพิษ, ค่าธรรมเนียมปล่อยมลพิษ ฯลฯ
- เครื่องมือด้านสังคม เช่น เครือข่ายความร่วมมือ , ระบบ Public-Private-People Partnership
- เครื่องมือด้านระบบงบประมาณ ทั้งงบภาครรัฐ , งบภาคเอกชน, งบจากกองทุนต่างๆ , Crowdfounding ฯลฯ
- เครื่องมือด้านการสื่อสารสาธารณะ
- เครื่องมือด้านกฎหมาย
- เครื่องมือด้านวิชาการ ความรู้
5. การจัดการแก้ไขสาเหตุรากฐานของปัญหา PM 2.5 ในแต่ละแหล่งกำเนิด เพื่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในช่วง 8-9 เดือนก่อนเกิดฤดูฝุ่น และเพื่อนำไปออกแบบกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด
ทั้งนี้ เนื้อหาของกฎหมายอากาศสะอาดจะต้องรองรับ ตอบโจทย์ 3 ประเด็นสำคัญของการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือ
- การจัดการแก้ไขสาเหตุรากฐานของปัญหาทั้งสามข้อข้างต้น
- การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่จำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดฝุ่นต่างๆ
- การช่วยสนับสนุนแก้ไขจุดอ่อน ข้อจำกัด อุปสรรคของการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น ระบบงบประมาณ กลไกการทำงานแบบบูรณาการ ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของรัฐ ฯลฯ