ประเทศไทยใน พ.ศ. 2568 เจอปัญหาโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ภาวะ “เกิดน้อย ตายมาก” ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ด้านตัวเลข แต่คือภาพสะท้อนของระบบสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ต้องปฏิรูปใหม่ตั้งแต่รากฐาน
ในสถานการณ์ที่เด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือไม่ถึง 500,000 คนต่อปี ความเปราะบางของสุขภาพแม่และเด็กกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนทางนโยบาย ที่หลายหน่วยงานรัฐจึงต้องปรับแผนรับมือใหม่ โดยเฉพาะ การปรับนโยบายเพื่อทำให้เด็กเกิดใหม่มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ให้เป็นเกิดน้อยด้อยคุณภาพ
การปรับนโยบายเพื่อสร้างสุขภาพอนามัยของแม่และเด็กจึงมีความจำเป็นตั้งแต่ “มาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์” การตั้งเป้าลดอัตรา “การคลอดก่อนกำหนด” และการประกาศใช้ “ระบบฝากครรภ์ดิจิทัล” (MOPH Digital ANC) ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางโครงสร้างข้อมูลประชากรใหม่แบบครบวงจร
Thai PBS Policy Watch สำรวจนโยบายระบบสุขภาพของแม่และเด็กแรกเกิด ที่ต้องการประคับประคองคุณภาพชีวิต “เด็กที่ยังไม่ทันเกิด” ให้อยู่รอด ปลอดภัย และเติบโตอย่างมีคุณภาพในขณะที่ประชากรไทยลดลงต่อเนื่อง
“น้ำหนักในครรภ์” มาตรฐานใหม่เด็กไทย
การเพิ่มน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ คือหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้พัฒนาการของทารกในครรภ์ งานวิจัยทั่วโลกพบว่า หากแม่มีน้ำหนักเพิ่มน้อยเกินไป จะเสี่ยงทำให้ลูกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ (ต่ำกว่า 2,500 กรัม) ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตหลังคลอด ภาวะทุพโภชนาการ และพัฒนาการช้าระยะยาว
ในทางกลับกัน หากน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป ก็สัมพันธ์กับการคลอดยาก ความเสี่ยงเบาหวาน ความดัน และภาวะเด็กแรกเกิดน้ำหนักเกิน (macrosomia) ที่เชื่อมโยงกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เมื่อโตขึ้น
การเพิ่มน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ จึงมีความสำคัญต่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 กรมอนามัยได้ประกาศใช้ มาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) หรือที่เรียกว่า Vallop Curve 2 ซึ่งปรับให้เหมาะกับหญิงไทยในปัจจุบัน แบ่งเป็น 4 กลุ่มตามภาวะโภชนาการก่อนตั้งครรภ์ ได้แก่ ผอม ปกติ น้ำหนักเกิน และอ้วน ใช้เกณฑ์ Body Mass Index (BMI) เป็นฐานข้อมูล
เพื่อให้การใช้มาตรฐานนี้มีประสิทธิภาพ กรมอนามัยยังเตรียมนำ Vallop Curve 2 ไปบรรจุไว้ใน “สมุดสุขภาพแม่และเด็ก” ฉบับใหม่ และเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ ฝากครรภ์ดิจิทัล เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพเช่น น้ำหนัก ความดัน หรือผลตรวจเลือดต่าง ๆ สามารถติดตามได้ตลอดเวลาโดยไม่มีข้อมูลขาดตอน
“ฝากครรภ์ดิจิทัล” จากสมุดสีชมพู สู่ สมาร์ตโฟน
“สมุดสุขภาพแม่และเด็ก” ฉบับใหม่ ภายใต้ โครงการ “MOPH Digital ANC” คือการเปลี่ยนจาก “สมุดฝากครรภ์” แบบกระดาษ ไปสู่ระบบดิจิทัลที่บันทึกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” แล้วจัดเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์กลางของกระทรวงสาธารณสุข ฟังก์ชันสำคัญ ได้แก่
- บันทึกประวัติสุขภาพแม่แบบต่อเนื่อง
- แจ้งเตือนนัดหมาย อัลตราซาวด์ และวัคซีน
- เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยบริการทั่วประเทศ
- เปิดช่องให้แพทย์ให้คำปรึกษาผ่านเทเลเมดิซีน
ระบบนี้ช่วยลดข้อจำกัดเดิมของสมุดฝากครรภ์ เช่น เอกสารหาย ข้อมูลไม่ต่อเนื่อง การย้ายโรงพยาบาล และภาระงานเอกสารซ้ำซ้อนของบุคลากร โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ต้องรับภาระมากกว่าหน่วยบริการขนาดใหญ่
ที่สำคัญ ระบบนี้ยังเป็น “รากฐานของข้อมูลชีวิต” ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบอื่นในอนาคต เช่น สมุดสุขภาพเด็กอิเล็กทรอนิกส์, ระบบวัคซีน, พัฒนาการเด็ก, หรือแม้แต่ บัตรทองดิจิทัล โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนอีกต่อไป
คลอดก่อนกำหนด ศัตรูเงียบของสุขภาพทารก
การคลอดก่อนกำหนด (ก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของอายุครรภ์) เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของทารกไทย และยังนำมาซึ่งความพิการ พัฒนาการล่าช้า และค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาว
เรื่องนี้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ กทม. มีการตั้งเป้าลดอัตราคลอดก่อนกำหนดให้ต่ำกว่า 8% ภายในปี 2570 ผ่าน โครงการลดภาวะคลอดก่อนกำหนดเชิงรุก ครอบคลุม 6 ระบบ ได้แก่
- คัดกรองหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยง
- ยกระดับการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ
- การบริหารยาอย่างเหมาะสม
- ระบบส่งต่อกรณีเร่งด่วน
- ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- การติดตามพัฒนาการทารก
โครงการนี้ยังเน้นการทำงานเชิงพื้นที่ โดยอาศัยกลไกของอำเภอ อสม. รพ.สต. และแกนนำชุมชน ค้นหากลุ่มเปราะบาง เช่น แม่วัยรุ่น หญิงยากจน หรือผู้ไม่มีสัญชาติ เพื่อให้สามารถรับการดูแลก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทันเวลา
เชื่อมโยง 3 นโยบายสาธารณสุข ในยุคเกิดน้อย
แม้ 3 นโยบาย ประกอบด้วย การเพิ่มน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ Vallop Curve 2, ฝากครรภ์ดิจิทัล และ โครงการลดคลอดก่อนกำหนด — ดูเหมือนเป็นโครงการแยกกัน แต่วิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังเหมือนกัน คือ
“การลงทุนตั้งแต่ครรภ์มารดา คือการวางอนาคตของชาติในระยะยาว” แต่ละนโยบายทำหน้าที่เสริมกัน ดังนี้
- มาตรฐานน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ สร้างกรอบป้องกันความเสี่ยงเชิงชีวภาพ
- ฝากครรภ์ดิจิทัล เป็นโครงสร้างข้อมูลที่ช่วยให้ติดตามและป้องกันได้ทันท่วงที
- โครงการลดคลอดก่อนกำหนด เป็นกลยุทธ์ระดับชุมชนที่แปลงข้อมูลและมาตรการทางวิชาการให้เกิดผลจริงในชีวิตผู้คน
เมื่อทั้งสามเชื่อมโยงกัน จะก่อรูปเป็น ระบบสุขภาพแม่และเด็กแบบองค์รวม ที่สามารถวางรากฐานได้ตั้งแต่ “ก่อนการปฏิสนธิ” จนถึง “หลังคลอด” อย่างไม่ขาดตอน
“เงินเด็กถ้วนหน้า” จุดเปลี่ยนสวัสดิการปฐมวัย
แต่นโยบายสาธารณสุขด้านเดียวคงไม่พอที่จะแก้ปัญหาในยุคที่เด็กเกิดน้อย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด” ได้กลายเป็นหนึ่งในสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐพยายามใช้เพื่อพยุงคุณภาพชีวิตเด็กในครอบครัวยากจน
ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินโครงการนี้ร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยให้เงินอุดหนุนรายเดือน เดือนละ 600 บาท แก่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
แม้จะเป็นสวัสดิการสำคัญ แต่ระบบนี้ยังมีข้อจำกัดเชิงเงื่อนไข โดยเฉพาะการจำกัดสิทธิ์เฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ทำให้เด็กบางส่วนที่อาจไม่ได้อยู่ในครอบครัวยากจนตามนิยามทางเศรษฐกิจ แต่ยังขาดการดูแลหรือเสี่ยงต่อพัฒนาการที่ล่าช้า ต้องถูกกันออกจากสิทธิ ทั้งที่ช่วงปฐมวัยเป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่สำคัญที่สุดของชีวิตเด็ก นอกจากนี้ การลงทะเบียนขอรับสิทธิยังซับซ้อน ต้องตรวจสอบรายได้ ยืนยันสถานะผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” และ “ThaiD”
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2567 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติ “เห็นชอบในหลักการ” ให้ขยายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบ “ถ้วนหน้า” โดยไม่ต้องตรวจสอบรายได้อีกต่อไป พร้อมขยายสิทธิไปถึง หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือน เพื่อเริ่มต้นการดูแลตั้งแต่ครรภ์จนครบ 6 ปี ตามแนวคิด “เกิดน้อยแต่ต้องเกิดดี”
ข้อเสนอนี้ถูกผลักดันจากหลายเครือข่าย เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิเด็ก เยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง และได้รับเสียงสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบ ANC ดิจิทัลได้
แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงการ “แจกเงิน” แต่เป็นความพยายามสร้าง “ระบบติดตามและลงทุนต้นทุนชีวิต” ให้แก่เด็กไทยทุกคน โดยเฉพาะในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต ซึ่งพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเป็นช่วงที่พัฒนาการสมอง การเรียนรู้ และภูมิต้านทานจะพัฒนาได้สูงสุด หากได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม รัฐจึงควรลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เด็กตกหล่นหรือเสียโอกาสทางพัฒนาการไปตั้งแต่ต้น
ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2568 โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้จ่ายเงินล่วงหน้ารอบใหม่ให้แก่เด็กกว่า 2.2 ล้านคน รวมเป็นวงเงินกว่า 1,400 ล้านบาท โดยรัฐบาลเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มกลางให้สามารถติดตามสิทธิได้ง่ายขึ้น มีระบบแจ้งเตือนผ่านแอป และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลจากหน่วยบริการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของ Big Data ด้านเด็กและครอบครัวในอนาคต
โดยฐานข้อมูลสุขภาพของเด็กแรกเกิด จะทำให้รัฐสามารถติดตามสุขภาวะเด็กอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ภาวะโภชนาการ พัฒนาการ วัคซีน ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดภาระงบประมาณเชิงแก้ไขในระยะยาว
“ลาคลอด 120 วัน” พ่อมีสิทธิลาเลี้ยงลูก
ในช่วงเวลาเดียวกัน ความคืบหน้านโยบายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตเด็กแรกเกิดที่สำคัญคือ การที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ.…. ซึ่งมีสาระสำคัญในการขยายสิทธิลาคลอดของแม่จากเดิม 98 วัน เป็น 120 วัน พร้อมกำหนดให้พ่อสามารถใช้สิทธิ ลาช่วยดูแลบุตรได้สูงสุด 15 วัน โดยยังได้รับค่าจ้างตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกำลังส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไป
นี่ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของระบบแรงงานไทย ที่สะท้อนความเข้าใจเรื่อง “การลงทุนในครอบครัว” และการแบ่งภาระเลี้ยงดูลูกอย่างเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ซึ่งในหลายประเทศพัฒนาแล้วถือเป็นหลักการพื้นฐาน
ร่างกฎหมายนี้ยังเปิดช่องให้แรงงานหญิงที่คลอดบุตรสามารถแบ่งการลาในช่วงก่อนและหลังคลอดได้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น เลือกลาหลังคลอดได้นานขึ้นเพื่อเลี้ยงลูกในช่วงเวลาสำคัญ โดยไม่กระทบค่าจ้าง
ขณะเดียวกันสิทธิการลาของพ่อ แม้จะไม่ยาวเท่าแม่ แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกในการส่งเสริมบทบาทของพ่อในช่วง “100 วันแรก” ของชีวิตลูก ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อเสนอนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งภาคแรงงาน กลุ่มสิทธิสตรี และเครือข่ายพัฒนาการเด็ก เนื่องจากสอดรับกับข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ว่า ช่วงปีแรกของชีวิตเด็กคือช่วงเวลาทองที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ หากรัฐสามารถวางระบบแรงงานให้เอื้อต่อครอบครัวมากขึ้น ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในเด็กปฐมวัย ทั้งด้านสุขภาพจิต ความเครียดในครัวเรือน และการละเลยทางอารมณ์ซึ่งมักถูกมองข้าม
หากพิจารณาโดยรวมจะพบว่า สิ่งที่รัฐไทยกำลังทำไม่ใช่เพียงการดูแลหญิงตั้งครรภ์ แต่คือการวาง “โครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ” และสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่จะรองรับประชากรเกิดใหม่น้อยลงแต่มีคุณภาพมากขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: