การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ (Promoting quality births and child growth for population development) เป็นหนึ่งในข้อเสนอทางนโยบายภายใต้การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ครั้งที่ 16 ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน ที่มีเป้าหมายเพิ่มการเกิดของประชากร หลังพบข้อมูลว่าในอนาคตประเทศไทยจะขาดคนวัยแรงงาน เนื่องจากอัตราการเกิดและการตายสวนทางกัน ซึ่งมามาตรการสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรที่รัฐบาลดำเนินการ เช่น โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พบว่ายังตกหล่น รวมถึงนโยบายที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายบริการสาธารณะอื่น ๆ จึงมีการเสนอกรอบนโยบายและลงมติครั้งนี้
“เกิดน้อย ตายน้อย” สังคมสูงวัยอย่างเป็นทางการ
ประชากรไทยมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายมาตั้งแต่ปี 2564 และเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2566 ทำให้เกิดความท้าทายว่าจำนวนประชากรที่มีคุณภาพจะเพียงต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตหรือไม่
เมื่อจำนวนประชากรลดน้อยลง การพัฒนาคนในเชิงคุณภาพจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการพัฒนาในช่วง 2,500 วันแรก นับตั้งแต่ปฏิสนธิ โดยการพัฒนาคนในช่วงต้นของชีวิต ต้องการการสนับสนุนในทุกมิติ ที่ครอบคลุมการสร้างสุขภาพดี ตั้งแต่การวางแผนครอบครัว การดูแลก่อนและหลังตั้งครรภ์ การได้รับโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอ การดูแล สนองตอบเชิงบวกต่อความต้องการเด็ก โอกาสสำหรับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ การปกป้องคุ้มครองให้อยู่รอด ปลอดภัย รวมถึงต้องสนับสนุนกลุ่มประชากรบางส่วนที่อยากมีแต่ยังไม่สามารถมีบุตรได้ อาทิ กลุ่มผู้มีบุตรยาก กลุ่มผู้ มีความหลากหลายทางเพศ
ต้องสร้างคุณภาพตั้งแต่ก่อนเกิด
ที่ผ่านมารัฐบาลได้การส่งเสริมการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ เช่น การให้ความรู้กับพ่อแม่ผ่านทางโรงเรียนพ่อแม่ทั้งในระยะตั้งครรภ์และระยะหลังคลอด การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกมิติ โดยมีทั้งการออกกฎหมายและแนวทางดำเนินการรองรับในมิติต่าง ๆ มีหลาย หน่วยงานและเครือข่ายที่มีบทบาทรับผิดชอบในการวางแผนและดำเนินการด้านการส่งเสริมการเกิดและการเติบโต ที่มีคุณภาพ
รวมถึงมีหน่วยงานในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นซึ่งมีความเข้าใจบริบทของพื้นที่ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ รวมถึงบูรณาการการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ
นโยบายรัฐบาล เพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิตหรือไม่
รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดทำวาระแห่งชาติ ประเด็นส่งเสริมการมีบุตรและมีการดำเนินงานที่หลากหลาย ดังนี้
- ด้านการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตร
- มาตรการจัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
- การส่งเสริมการลาของสามี การขยายวันลาคลอดของแม่ โดยได้รับค่าจ้าง จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน
- ด้านการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
- ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ
- กําหนดให้สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัย
- กําหนดว่าอายุครรภ์ที่ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
- การออกกฎกระทรวง “เด็กท้องต้องได้เรียน” เพื่อให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ยังมีโอกาสทางการศึกษา
- ด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัวให้ ปลอดภัยและมีความมั่นคง
- การจัดสวัสดิการแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวเปราะบาง
- การให้สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน
- ด้านการเสริมสร้างสุขภาวะและสัมพันธภาพของครอบครัว
- มีการจัดทำระบบเพื่อนครอบครัวที่รวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ตามวงจรชีวิตครอบครัว
- ด้านการบูรณาการภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาสถาบันครอบครัว
- มีการยกระดับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนทั่วประเทศแบบบูรณาการร่วมกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อให้เป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม ตำบล ทำให้เกิดระบบครอบครัวพลังบวกและระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชน ตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชน
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มองว่า แม้ความพยายามของรัฐบาลทำให้บางปัญหาลดลง แต่ด้วยการทำงานที่มีข้อจํากัด รวมถึงยังต้องการมาตรการเชิงรุกในระดับพื้นที่ซึ่งมีปัญหามากน้อยที่ต่างกัน ส่งผลให้ยังต้องยกระดับการดำเนินงานในหลายด้านที่ยังมีความท้าทายอยู่ ทั้งเรื่องคุณภาพการเกิด ที่บางส่วนมาจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มวัยรุ่นที่ยังมีอัตราสูงในบางพื้นที่และยังพบการคลอดซ้ำ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพทารกจากภาวะการมีน้ำหนักน้อย รวมถึงปัญหาต่อพ่อแม่วัยรุ่นทั้งทางสังคมและการเลี้ยงดูบุตร ระบบเกื้อหนุนด้านครอบครัวยังไม่เพียงพอ โดยเด็กจำนวนหนึ่งยังเข้าไม่ถึง ทรัพยากรและสวัสดิการของรัฐ ขาดสถาบันที่จะเข้ามาดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
และเมื่อเด็กเกิดมาแล้วก็ยังพบความท้าทายช่วงของการเติบโตเพื่อให้มีคุณภาพ สะท้อนจากอัตราการตรวจครรภ์ของมารดายังต่ำกว่าเกณฑ์ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ยังห่างจากเป้าหมายโภชนาการโลก เด็กกว่าร้อยละ 30 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน อีกทั้ง เด็ก อายุ 0 – 5 ปี กว่าร้อยละ 25 มีพัฒนาการล่าช้า ขณะที่เด็กบางส่วนก็ถูกเร่งรัดพัฒนาการเกินวัย ทำให้ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ระยะยาว นอกจากนี้เด็กกว่า 2 ล้านคนอยู่ในครัวเรือนไม่พร้อมหน้า และเด็กอายุ 1 – 11 ปี กว่าครึ่ง ยังได้รับการเลี้ยงดูโดยการทำร้ายจิตใจหรือร่างกายจากผู้ปกครอง เนื่องจากพ่อแม่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร เร่งรัดพัฒนาสมองลูกด้วยการให้เรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าอนุบาล เลี้ยงดูอย่างตามใจ หรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการเลี้ยงลูกมากเกินไป
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า มาตการสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรโดยรัฐ ผ่านโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดยังมีปัญหาการตกหล่นในการได้รับสวัสดิการ รวมถึงนโยบายที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย/บริการสาธารณะอื่น ๆ เพื่อการเลี้ยงดูบุตร รวมทั้งยังมีปัญหาการจัดสวัสดิการดูแลบุตรของลูกจ้างในสถานประกอบการและชุมชน ที่กฎระเบียบยังไม่เอื้อต่อการสนับสนุนพ่อแม่ให้มีเวลาได้อยู่กับบุตร ประกอบกับระบบที่จะเข้ามาช่วยในการแบ่งเบา ภาระของพ่อและแม่ยังไม่มีความครอบคลุม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้หญิงหลังมีบุตรด้วย
ข้อเสนอ การพัฒนาประชากรเกิด-เติบโตอย่างมีคุณภาพ ทำได้อย่างไร?
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้เห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย เรื่องนี้ว่าทุกภาคส่วนในสังคมควรมีความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเด็กในการเป็นอนาคตของชาติ และร่วมกันเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อสร้างค่านิยมร่วมในสังคม “สร้างบ้านแปงเมืองด้วยการสร้างเด็กที่มีคุณภาพ” ที่มุ่งเน้นการ พัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ภายใต้แนวคิด “Happy Child – Happy Family – Happy Community” ซึ่งทำได้โดย
- สร้างแรงขับเคลื่อนทางสังคมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (momentum) โดยการสร้างค่านิยมร่วมในสังคม “สร้างบ้านแปงเมืองด้วยการสร้างเด็กที่มีคุณภาพ” เพราะเด็กทุกคนที่เกิดมาจะเป็นทุนมนุษย์สำคัญของสังคม ทุกภาคส่วนจึงต้องมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กโดยเฉพาะ ในช่วง 2,500 วันแรก ผ่านกลยุทธ์การสร้างแรงกระเพื่อมที่ใหญ่และต่อเนื่องในทุกระดับและกลุ่มเป้าหมาย โดยผู้มีบทบาทสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อความคิด (influencers) เช่น ระดับบุคคล ได้แก่ กลุ่มดารา คนที่มีชื่อเสียง ผู้นําใน ภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น เพื่อสื่อสารถึงการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างเหมาะสม ระดับเครือข่าย โดยสร้างกระแสจากความสำเร็จของการร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาเด็กของพื้นที่หรือเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและนําไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ สื่อในทุกแพลตฟอร์ม ที่นําเสนอรูปแบบการเลี้ยงดูบุตรที่เหมาะสมในกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น กลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้สูงอายุในครอบครัวแหว่งกลางที่ต้องเลี้ยงบุตรหลาน กลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น
- เร่งผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว (family – friendly policies) โดยสนับสนุนให้ เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตรและดูแลบุตร ผ่านมาตรการเชิงบังคับร่วมกับการสร้างแรงจูงใจในการให้ สวัสดิการครอบครัวใน 4 มิติ ได้แก่
- มิติด้านเวลา ได้แก่ การส่งเสริมระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นสำหรับพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูก โดยปรับลดจำนวนชั่วโมงหรือจำนวนวันของการทำงาน การอนุญาตให้ทำงานนอกสถานที่ เพื่อให้สามารถมีเวลาเลี้ยงดูบุตรในขณะที่ยังรักษาสภาพการจ้างงานไว้ได้ การเพิ่มสิทธิการลาเพื่อดูแลบุตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยขยายจำนวนวันลาสำหรับหญิงตั้งครรภ์ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ กําหนดวันลาคลอดไว้อย่างน้อย 14 สัปดาห์หรือ 6 เดือนหลังคลอด เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้พนักงานชายสามารถลาเพื่อดูแลครอบครัวได้
- มิติด้านการเงิน ได้แก่ การศึกษาความเป็นไปได้ของการให้เงินอุดหนุนค่าคลอดบุตรและ การจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดรายเดือนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่มือใหม่ โดยนําองค์ประกอบด้าน ดัชนีราคาผู้บริโภคและความยั่งยืนทางการคลังมาประกอบการพิจารณา และการสนับสนุนการศึกษาของบุตร เช่น ลดค่าเรียนให้กับครอบครัวที่มีบุตรหลายคน เป็นต้น
- มิติระบบสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร ได้แก่ การพัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กหรือสถานรับ เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยา ในรูปแบบ Public-Private-People-Participation ร่วมกับองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นในการจัดบริการศูนย์ดูแลเด็กเล็ก 0 – 2 ขวบ ในชุมชน การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุน การเลี้ยงดูบุตร โดยใช้กลไกการสร้างแรงจูงใจด้วยสิทธิทางภาษี อาทิ การรวมกลุ่มของนิคมอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กของพนักงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่และการมีห้องนมแม่ในที่ทำงาน
- มิติด้านกฎหมาย ได้แก่ การผลักดันกฎหมายให้เอื้อต่อการสร้างครอบครัวสำหรับคน ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกฎหมายที่อนุญาตให้ครอบครัว LGBTQ+ สามารถจดทะเบียนสมรสและรับอุปการะบุตรได้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญ และการกําหนดให้การมีบุตรยากเป็นโรคและสามารถใช้สิทธิรักษาได้
- นําแนวคิดชุมชนนํา (community-led approach) ในการสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ปลอดภัยและเอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก โดย
- ใช้กลไกคณะทำงานในชุมชนจากทุกภาคส่วนร่วมกันเรียนรู้ในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก ตามวิถีวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน บนฐานแนวคิดการพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งในด้านกระบวนการพัฒนา ในการสร้างตัวตน (Self) ที่จะทำให้เด็กค้นพบศักยภาพ ความรู้สึกมีตัวตน ความภาคภูมิใจและการเห็นคุณค่าในตนเอง รวมทั้งการพัฒนาทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ (EF: Executive Function) ที่จะนําไปสู่พัฒนาการของเด็กที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย โดยในระดับตำบลใช้กลไกท้องถิ่น/ท้องที่/ท้องทุ่ง/องค์กรชุมชน และในระดับอำเภอใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นผู้เชื่อมประสานการทำงานในชุมชน(community manager) ร่วมกับกลไกของหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับจังหวัดและภาคส่วนอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วย หนุนเสริมทั้งด้านองค์ความรู้ การช่วยเหลือและรับส่งต่อกรณีที่เกินขีดความสามารถของชุมชน โดยชุมชนควรมีการจัดทำระบบข้อมูลกลางของกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัยในครอบครัวรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาและช่วยเหลือเด็ก
- สนับสนุนให้มีการใช้กองทุนท้องถิ่นต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อการดูแลและพัฒนาเด็ก อาทิ โรงเรียนพ่อแม่ การพัฒนาสนามเด็กเล่นตามแนวคิด BBL (Brain Based Learning) ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ทั่วถึง การอุดหนุนทรัพยากรในการเลี้ยงดูบุตรในครัวเรือนเปราะบาง
- พัฒนาระบบสนับสนุนที่เอื้อต่อการวางนโยบาย เช่น
- การกําหนดฉากทัศน์ภาพอนาคตเด็กไทยที่พึงประสงค์ เพื่อนําไปสู่การออกแบบนโยบายและแนวทางการพัฒนาเด็ก ที่สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในแต่ละห้วงเวลาส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกในแต่ละชุมชนบันทึก ข้อมูลในระบบที่มีรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้สามารถนําข้อมูลมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ที่จะนําไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้ตามบริบทของพื้นที่ อาทิ จํานวนเด็กเล็ก เด็กที่ได้รับประสบการณ์ชีวิตที่ไม่พึงประสงค์ กลุ่มครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย กลุ่มเปราะบางในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้มีกลไกส่วนกลางนํามาประมวลผลเป็นภาพรวมของประเทศ
- สนับสนุนให้มีการจัดทำงานวิจัย ทั้งในส่วน 1) งานวิจัยเชิงสํารวจระยะยาว (longitudinal survey study) อาทิ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัยและมีการติดตามผลการวิจัยอย่างต่อเนื่อง 2) งานวิจัยเชิงพฤติกรรมในการเลี้ยงดูเด็กในกลุ่มครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลายเพื่อให้สามารถต่อยอดงานวิจัยไปเป็นแนวทางในการเลี้ยงดูเด็กให้ถูกต้องเหมาะสม อาทิ การเลี้ยงลูกด้วยวิธีทางบวก (positive parenting) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม/ความเชื่อ (nudge) ในการเลี้ยงดูเด็ก 3) งานวิจัยในเชิงการประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของมาตรการหรือสวัสดิการในการเลี้ยงดูเด็กและความคุ้มค่าของการลงทุน เพื่อให้ภาครัฐมีการลงทุนในมาตรการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กและครอบครัวอย่างแท้จริง
แหล่งอ้างอิง : https://www.nationalhealth.or.th/th/node/4779