‘นโยบายส่งเสริมการมีบุตร’ เป็นหนึ่งใน 13 นโยบายสำคัญ ที่อยู่ภายใต้ นโยบายยกระดับบัตร 30 บาทพลัส ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้วิกฤติประชากรวัยแรงงานขาดแคลน เนื่องจากคนไทยมีลูกน้อยลง ทำให้ในปี 2566 นี้ เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเผชิญปัญหา ประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน (อายุ 20-24 ปี) ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน (60-64 ปี) ได้ ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น ทำให้ไทยเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน เกิดภาวะพึ่งพิงต่อวัยทำงานสูงขึ้น ต้องใช้งบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
เด็กเกิดใหม่น้อยกว่าคนเสียชีวิต ปัญหาระดับชาติ
การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ สวนทางกับจำนวนผู้เสียชีวิต
- ข้อมูลช่วงปี 2506 – 2526 มีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000,000 คน
- ในปี 2564 เด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือ 485,085 คน
- ขณะจำนวนการตายปี 2564 มีมากถึง 550,042 คน (มากกว่าจำนวนการเกิด 64,957 คน)
- อัตราเจริญพันธุ์รวม หรือ Total Fertility Rate : TFR ที่ลดต่ำกว่าระดับทดแทน (2.1) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และ ปี พ.ศ.2565 อยู่ที่ 1.16
- เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าระดับทดแทน มีเพียง จ.ยะลา เท่านั้นที่มีค่า TFR เท่ากับ 2.27 ซึ่งสูงกว่าระดับทดแทน
ข้อมูลจาก ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ เผยว่าใน 60 ปีข้างหน้าหรือในปี 2626 จำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน การที่ประชากรลดลงมากโดยเฉพาะคนวัยทำงาน ส่งผลให้ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีข้อมูลคาดการณ์ ดังนี้
- จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15-64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน
- จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0-14 ปี) จะลดลงจาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน
- ส่วนจำนวนคนสูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ
ประชากรลดลงมากขนาดนี้และคนวัยทำงานลดลงมาก ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ
ทำอย่างไร ให้คนไทยอยากมีลูก
สาเหตุที่ทำให้คนไทยไม่อยากมีลูกเกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก ขณะที่อีกประมาณร้อยละ 10 มาจากปัญหาด้านสุขภาพ
กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีสาระสำคัญที่พิจารณา คือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ในประเด็นดังต่อไปนี้
- สร้างความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว
- การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร
- การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก
- แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีบุตร ให้มีโอกาสมีลูกได้
- ส่งเสริมการให้คนแต่งงาน มีคู่ครอง
โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ สำคัญคือ กรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ 2 เรื่องหลักที่ต้องการให้สำเร็จภายใน 100 วันคือ 1.ผลักดันประเด็นส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ และ 2. การมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้นในอายุที่น้อยลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร คาดว่าจะสามารถให้บริการประชาชนได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้
ข้อเสนอ ที่กำลังหาแนวทางความเป็นไปได้เพื่อส่งเสริมการมีลูก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มิติที่น่ากังวลที่สุดคือ ‘เศรษฐกิจและสังคม’ จึงมีความเห็นว่า ต้องพิจารณาเพื่อสนับสนุนให้มั่นใจว่ามีลูกได้อยู่ในสังคมที่ดี เช่น
- รัฐบาลช่วยดูแลบุตรคนที่ 2-3 ดูแลจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่?
- การดูแลเด็กแรกเกิดทุกคนช่วยเหลือหรือไม่?
- ทุกวันนี้เด็กแรกเกิดถึง 6 ปีได้คนละ 600 บาทต่อเดือน ควรจะช่วยคนละ 3,000 บาทหรือไม่?
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
- แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2580) โดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง การส่งเสริมให้สังคมมีการเกิดดี อยู่ดี แก่ดี และตายดี
- ระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ.2562
- โครงการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
แหล่งอ้างอิง