สถานการณ์หนี้ครูไทย
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยสถานการณ์หนี้ครูไทยว่า ครูไทยทั่วประเทศมีจำนวน 9 แสนคน ในจำนวนนี้มีครูเป็นหนี้กว่า 7.2 แสนคน (คิดเป็น 80% ของครูไทยทั้งหมด) โดยมีภาระหนี้รวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งมีเจ้าหนี้ ได้แก่
- สหกรณ์ออมทรัพย์ครู มูลค่าหนี้ 8.9 แสนล้านบาท (คิดเป็น 64% ของยอดหนี้ทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5.64%
- ธนาคารออมสิน มูลค่าหนี้ 3.49 แสนล้านบาท (คิดเป็น 25% ของยอดหนี้ทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 6.9%
- ธนาคารกรุงไทย มูลค่าหนี้ 6.3 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 4% ของยอดหนี้ทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 7.12%
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มูลค่าหนี้ 6.1 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 4% ของยอดหนี้ทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 6.4%
นอกจากนี้ ยังมีหนี้นอกระบบอื่น ๆ ที่ครูไทยยังเป็นหนี้อยู่อีกด้วย
สาเหตุหนี้ครู
ครูเป็นอาชีพที่เงินเดือนน้อย แต่ค่าใช้จ่ายเยอะ ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายเอง เช่น ค่าอุปกรณ์ทำโครงการ ค่าน้ำมันรถที่พานักเรียนไปแข่งขันวิชาการ ค่าใช้จ่ายจากภาระต่าง ๆ ในชีวิต รวมไปถึงการกู้เงินจากสหกรณ์ครูที่กู้ได้ง่าย ทำให้ครูหลายคนตัดสินใจกู้แบบไม่คิดมาก นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาชีวิตครู การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่เปิดให้บุคลากรทางการศึกษา (รวมถึงพนักงานราชการ) สามารถกู้เงินได้ถึงหลักล้านบาท ซึ่งตามมาด้วยหนี้ดอกเบี้ยที่ยากที่จะจ่ายคืนหมด
มาตรการแก้หนี้ครู
วันที่ 25 ต.ค. 2566 คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ได้อนุมัติจัดสรรวงเงินให้กู้ยืมของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู จำนวน 200 ล้านบาท ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กู้ยืมตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนฯ พ.ศ. 2565
โดยเปิดโอกาสให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดำรงตำแหน่งครู / ผอ.รร. / รอง ผอ.รร. / ผอ.สพท. / รอง ผอ.สพท. / ศึกษานิเทศก์ ที่รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ไม่เป็นผู้ที่ถูกฟ้องร้องคดีล้มละลาย หรือมีคำสั่งศาลให้พิทักษ์ทรัพย์ และต้องมีหนี้สินที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เป็นหนี้เงินกู้ที่มีสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคาร หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสถาบันการเงินอื่นตามกฎหมาย หรือเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรสินเชื่อเงินสด หรือเป็นหนี้ในฐานะผู้คำประกันที่มีคำพิพากษา
สามารถกู้ยืมเงินคนละไม่เกิน 500,000 บาท ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผ่อนชำระคืนภายใน 12 ปี (144 งวด) โดยสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ต้นสังกัด ภายในวันที่ 27 พ.ย.2566
สพฐ. ประชุมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
วันที่ 18 ธ.ค. 2566 ในการประชุมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาระหนี้สินครูก้อนใหญ่ที่สุดของกระทรวงศึกษาธิการอยู่ที่ สพฐ. จึงได้มอบหมายให้ สถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ สำรวจสภาพหนี้และจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน ได้แก่
- กลุ่มสีแดง หรือ กลุ่มวิกฤต คือ ผู้ที่เหลือเงินเดือนไม่ถึงร้อยละ 30 หลังจากหักการชำระหนี้ และกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อชะลอการดำเนินการทางกฎหมายและหาแนวทางบริหารจัดการหนี้ต่อไป
- กลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่เหลือเงินเดือนไม่ถึง ร้อยละ 30 มีแนวโน้มจะเป็นหนี้วิกฤต ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคุมยอดหนี้
- กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มครูที่มีหนี้เล็กน้อย ถึงไม่มีหนี้สิน
โดยมีมาตรการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม และให้มีการติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิดทุกเดือน
ผลการหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เสนอแนวทางกำหนดให้ครู มีเงินเหลือ เพื่อดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน และภายในเดือนมกราคม 2567 จะต้องมีการดำเนินการเบื้องต้นที่ชัดเจน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ปรับจำนวนงวดให้ยาวขึ้น ไม่เกินอายุ 75 ปี และใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551
พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอีก 7 คณะ เพื่อให้ปฏิบัติงานครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับแนวทางของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
มติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
วันที่ 20 ธ.ค. 2566 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2566 มีมติเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูฯ ของรัฐบาล ตามที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงในวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่
- โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้รายย่อย จากธนาคารออมสินไปรวมหนี้เป็นหนี้สหกรณ์ โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่สหกรณ์เพื่อเสริมสภาพคล่องและนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษกับลูกหนี้ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 2 ปี
- โครงการสินเชื่อสวัสดิการข้าราชการและบุคลากรภาครัฐอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ของธนาคารออมสิน โดยสามารถขอสินเชื่อสวัสดิการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ อาทิ สินเชื่อเคหะสำหรับซื้อหรือต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สินเชื่อสวัสดิการสำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น และสินเชื่ออเนกประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน
- การช่วยเหลือให้มีรายได้คงเหลือเพียงพอดำรงชีพ การผลักดันให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์การตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของข้าราชการในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือในบัญชีอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ การเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กับหน่วยงานและสถาบันการเงินจำนวน 12 แห่ง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย ในวันที่ 6 ม.ค. 2566 ณ หอประชุมคุรุสภา
โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับประโยชน์จากหน่วยงาน และสถาบันการเงินในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การชะลอการฟ้องบังคับคดี การปรับโครงสร้างหนี้ การให้คำปรึกษาและความรู้ด้านการเงินการออม แต่ MOU ฉบับดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ลงนาม และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 6 มกราคม 2567 จึงเห็นควรให้เตรียมร่าง MOU ฉบับใหม่ ทั้งนี้เนื้อหาอาจมีปรับเปลี่ยนในบางส่วนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อนำเรียน รมว.ศธ. ทราบและลงนามต่อไป