ปัจจุบัน การดำเนินนโยบายการคลัง (fiscal policy) เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ. 2561 โดยมีการกำหนดรายละเอียดด้านรายจ่าย ตลอดจนเพดานหนี้สาธารณะ ตามคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐ คือ
- หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 60
- ภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ไม่เกินร้อยละ 35
- หนี้สาธารณะที่ออกด้วยสกุลเงินต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 10
- ภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้การส่งออกสินค้าและบริการไม่เกินร้อยละ 5
แต่จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินกว่าล้านล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังจึงได้มีมติเห็นชอบขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจากเดิมที่กำหนดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกินร้อยละ 60 เป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ต่อ GDP เมื่อเดือนก.ย. 2564
การทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุกสามปี
การขยายเพดานหนี้สาธารณะ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง “กรอบความยั่งยืนทางการคลัง” แต่เรื่องความยั่งยืนทางการคลังสามารถพิจารณาได้หลายมุม โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยอื่นมาใช้ในการพิจารณาด้วย เช่น แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีหน้าที่จัดทำ “แผนการคลังระยะปานกลาง” ซึ่งเป็นแผนแม่บทหลักด้านการคลังและงบประมาณ
ทั้งนี้ กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
แผนการคลังระยะปานกลางมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
- เป้าหมายและนโยบายการคลัง
- สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
- สถานะและประมาณการการคลัง ซึ่งรวมถึงประมาณการรายได้ ประมาณการร่ายจ่าย ดุลการคลัง และการจัดการกับดุลการคลัง
- สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาล
- ภาระผูกพันทางการคลังของรัฐบาล