แต่ทุนมนุษย์ที่เด็กได้รับในแต่ละครอบครัวนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะความเป็นอยู่ของพ่อแม่ส่งผลต่อการลงทุนมนุษย์ลูกโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่แต่งงงานอยู่ด้วยกัน หย่าร้าง พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ระดับความเก่งของพ่อแม่ และพ่อมีภรรยาหลายคน
การลงทุนมนุษย์ในลูกของพ่อแม่
รศ.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณบดีคณะเศรษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลวิจัยเรื่อง “ครอบครัวกับการพัฒนามนุษย์” ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ และการประชุมวิชาการระดับบัณฑิตศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ครั้งที่ 17 ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการทราบว่าพ่อแม่ลงทุนในทุนมนุษย์ของลูกมากแค่ไหน
งานวิจัยที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบข้อเรียนรู้ว่าการลงทุนมนุษย์ในลูกของพ่อแม่ สามารถส่งผลได้ 2 แบบ คือ
1.แบบธรรมชาติที่เกิดจากพันธุกรรม ครอบครัวที่พ่อแม่ฉลาด จะทำให้ลูกฉลาดตามด้วย
2.แบบการลงทุนกับลูกด้วยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ได้แก่
- เลี้ยงดูลูกอย่างดี และให้ความอบอุ่น
- ให้การศึกษาที่ดีกับลูก หรือช่วยสอนลูก
- พ่อแม่เป็นแบบอย่างให้กับลูก ด้วยการส่งต่อความเชื่อหรือความชอบ เช่น ถ้าพ่อแม่ชอบออกกำลังกาย ลูกจะมีแนวโน้มออกกำลังกายตาม
แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ การลงทุนมนุษย์ของพ่อแม่จะส่งผลกระทบต่อลูกใน 3 ทาง คือ
1.ความชอบของพ่อแม่ เช่น หากพ่อแม่เรียนเก่ง ก็อาจมีแนวโน้มจะลงทุนกับลูกมากขึ้น หรือหากพ่อแม่อยากให้ลูกมีความสุข ก็อาจจะลงทุนกับลูกน้อย
2.ส่งผลต่อฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ของลูก พ่อแม่ที่มีการศึกษาสูงจะมีแนวโน้มทำให้ลูกเก่งขึ้น เพราะรู้วิธีสอนให้ลูกเก่ง
3.พ่อแม่ที่เก่งจะมีทุนทรัพย์สูง สามารถส่งเสียให้ลูกได้รับการศึกษาดีขึ้นได้ เช่น ส่งให้ลูกไปเรียนพิเศษได้ หรือซื้ออุปกรณ์การเรียนที่เพียงพอให้กับลูก
การศึกษาแทบทุกชิ้นในโลกเจอว่า ความรวยของพ่อแม่จะช่วยลูกด้วย พ่อแม่รวยทุนมนุษย์สูงโดยเฉลี่ยแน่นอน
ขณะเดียวกัน การลงทุนมนุษย์ของพ่อแม่จะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะลูกต้องไปโรงเรียนและพบเจอเพื่อนมากขึ้น ซึ่งจะเกิดการสะสมทุนมนุษย์ด้วยตนเอง ดังนั้นพ่อแม่จะช่วยลูกได้แค่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อแม่ลงทุนมนุษย์กับลูกคุ้มค่ามากที่สุด
คณบดีคณะเศรษศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า ในบริบทของประเทศไทย ได้ไปทำการศึกษาเรื่องแนวคิดกับคำว่าครอบครัว พบว่าในเชิงเศรษฐศาสตร์แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1.พ่อแม่ที่มีความคิดเหมือนกันทุกประการ จะใช้ทรัพยากรทั้งหมดร่วมกัน
2.พ่อแม่ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จะเกิดกระบวนการต่อรองหรือตกลงกัน ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนมนุษย์กับลูก โดยหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงทุนมนุษย์กับลูก อีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่ลงทุนร่วมด้วย เช่น เมื่อพ่อลงทุนนุษย์กับลูก แม่ก็จะไม่ต้องลงทุน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าพอมีนิยามแบบนี้ จะมีข้อสมมติที่ซ้อนไปอยู่ข้างไหน อาจจะมองไม่เห็นจากในแนวคิดนี้ โดยมี 2 ข้อสมมติ ได้แก่
1.ในครัวเรือน พ่อแม่จะเป็นอันหนึ่งเดียวกันเสมอ ถ้าแต่งงานกันก็จะแต่งงานกันไปตลอด แต่ในความจริงนั้นพ่อแม่สามารถหย่าร้าง และแยกกันอยู่ได้ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่ได้วิเคราะห์เชิงลึกในสถานะแบบนี้
2.ผัวเดียว-เมียเดียว โดยผัวต้องเป็นเพศชายและเมียต้องเป็นเพศหญิง
แต่สังคมไทยในปัจจุบัน พ่อแม่ที่อยู่ด้วยกัน และมีบทบบาทในการลงทุนมนุษย์กับลูก อาจจะไม่ได้เป็นในลักษณะดังกล่าวอีกต่อไป
สถานะครอบครัวส่งผลต่อทุนมนุษย์เด็ก
หากสถานะครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลง จะเกิดผลอะไรกับทุนมนุษย์ของเด็ก ซึ่งจากการศึกษาในประเทศเซเนกัล ทวีปแอฟริกาตะวันตก พบว่า
การหย่าร้าง ทำให้เด็กได้เรียนหนังสือน้อยลง คือ เมื่อสามีภรรยาอยู่ด้วยกันจะมีทรัพยากรมากพอที่จะส่งลูกไปเรียนต่อได้ แต่เมื่อสามีภรรยาหย่าร้างกันจะส่งผลต่อทุนมนุษย์ทำให้ลูกไม่สามารถไปเรียนต่อได้ ยกเว้นกรณีเดียวที่จะทำให้ลูกกลับเข้าระบบการศึกษา คือ ภรรยาไปมีสามีคนใหม่เท่านั้น
จากการเก็บข้อมูลดังกล่าวในไทยจากตัวอย่างจำนวน 300 คน พบว่า มีผลศึกษาที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ซึ่งนอกจากการหย่าร้างแล้ว การแยกกันอยู่ก็ส่งผลทำให้ลูกได้รับการศึกษาลดลงประมาณ 2-3 ปี ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการงานในอนาคตของลูก เพราะเมื่อได้รับการศึกษาน้อย ก็จะมีรายได้ที่น้อยลง
ถ้าพ่อมีเมียน้อย ในทฤษฎีด้านมานุษยวิทยา (Anthropology) เชื่อว่า ภรรยาจะพยายามแข่งกันมีลูก เพื่อให้ได้มรดกจากสามี ส่วนในทฤษฎีด้านประชากรศาสตร์ (Demography) เชื่อว่า ภรรยาจะมีลูกน้อยลง เพราะสามีจะมีโอกาสเจอภรรยาแต่ละคนน้อยลง เนื่องจากสามีต้องแบ่งเวลาไปเจอภรรยาทุกคน
นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกา ยังพบว่า ภรรยาน้อยมีแนวโน้มอายุมากกว่าภรรยาหลวง ทำให้โอกาสมีลูกได้น้อยลง เพราะสังคมในประเทศดังกล่าวภรรยาจะแต่งงานตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งจะหาสามีใหม่ได้ก็ต่อเมื่อสามีคนแรกเสียชีวิตแล้วเท่านั้น เมื่อสามีคนแรกเสียชีวิตจึงต้องกลายมาเป็นภรรยาน้อยของผู้ชายอีกคน
ขณะที่ในทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ (Economic) มีผลวิจัยเพียงชิ้นเดียว และยังไม่ชัดเจนว่าการที่สามีมีภรรยาอีกคนจะส่งผลอย่างไรต่อการตัดสินใจมีลูกของผู้หญิง เพราะในทางเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงจะตัดสินใจมีลูกก็ต่อเมื่อมีความมั่นคงในชีวิตก่อนเท่านั้น เพราะต้องใช้ทรัพยากรในการดูแลลูก หากสามีมีภรรยาน้อย สามีก็ต้องแบ่งทรัพยากรไปให้ภรรยาอีกคนด้วย ดังนั้นผู้หญิงก็ต้องตัดสินใจว่าจะสามารถรับความเสี่ยงดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหน
นำไปสู่การศึกษาต่อมา โดยเก็บข้อมูลใน 8 ประเทศ ได้แก่ เอลซัลวาดอร์ กายอานา ปานามา เนปาล สปป.ลาว เวียดนาม และไทย มีผู้ตอบแบบสอบถาม 66,525 คน เป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและไม่แต่งงาน ช่วงอายุระหว่าง 15-49 ปี เมื่อถามว่า ถ้ารู้ว่ามีสามีมีภรรยาอีกคนจะส่งผลต่อการมีลูกมากแค่ไหน และส่งผลต่อขนาดของลูกมากแค่ไหน พิจารณาจากพฤติการณ์ในช่วง 2 ปีสุดท้าย ปรากฏว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 3.2% รู้ว่าสามีมีภรรยาอีกคน ส่วน 27.1% ยินดีที่มีจะลูก และ 88.6% บอกว่าลูกมีขนาดที่ปกติดี
ผลศึกษาพบว่าการที่สามีมีภรรยาน้อย มีโอกาส 19.5% ที่ผู้หญิงจะมีลูกเยอะขึ้น ในขณะเดียวกันลูกจะมีขนาดเล็กลง โอกาสอยู่ที่ 31.2% เพราะมีทรัพยากรดูแลลูกในช่วงตั้งครรภ์ลดลง ดังนั้นเมื่อไหร่ที่ผู้ชายมีภรรยาอีกคน จะทำให้ประชากรในประเทศเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพต่ำลง
ตีเด็กกระทบเศรษฐกิจประเทศ
การเลี้ยงดูลูกส่งผลต่อทุนมนุษย์อย่างไร จากการเก็บข้อมูลในไทย เมื่อมีการตีลูกจะส่งผลกระทบระยาวต่อลูกอย่างไร พบว่า พ่อแม่ที่ใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดูลูก (รวมถึงดุด่า) ตั้งแต่อายุ 1-14 ปี มีถึง 59-68% ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจประเทศคิดเป็นมูลค่า 2-8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และคิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจประเทศอยู่ที่ 716,207 บาทต่อคน หากตีลูกในระยะเวลา 5 ปี เพราะการตีเด็กจะเกิดผลเสียในระยะสั้น ไปจนถึงระยะยาวในตอนที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อการสะสมทุนมนุษย์ ทั้งสุขภาพ การเข้าร่วมตลาดแรงงาน การเข้าร่วมสังคม และการพัฒนาทักษะ
นัยยะอันนี้ที่ทำ ถามว่าที่ทำเป็นบุคคล เพราะอยากจะทำให้ดูว่า ถ้ารัฐบาลจะมีนโยบายใด ๆ ก็ตามแต่ และนโยบายนั้นลงทุนต่ำกว่า 7 แสนบาทต่อหัว นโยบายนั้นก็ต้องถือว่าคุ้มค่าคุ้มทุนแล้ว
พ่อแม่ส่งผ่านความรู้ให้กับลูกมากแค่ไหน โดยดูว่าถ้าพ่อแม่มีการศึกษาสูง จะมีแนวโน้มทำให้ลูกมีการศึกษาสูงด้วยหรือไม่ พบว่า การศึกษาในไทยนั้นเหมือนกับการศึกษาในต่างประเทศ หากพ่อแม่มีการศึกษาสูง ลูกก็จะมีการศึกษาสูงตามไปด้วย แต่การศึกษาของแม่จะมีผลมากกว่าการศึกษาของพ่อ นอกจากนี้ยังพบว่าการศึกษามีผลต่อการหาคู่ครอง เช่น หากสามีมีการศึกษาสูง ก็อยากจะได้ภรรยาที่มีการศึกษาสูงด้วย
นโยบายช่วยเหลือเด็กควรพิจารณามิติครอบครัว
รศ.นพพล กล่าวว่า ที่ผ่านมานัยยะเชิงนโยบายการพัฒนาทุนมนุษย์มักเกี่ยวข้องการขยายโอกาสทางการศึกษาในเด็ก ซึ่งมุ่งเน้นช่วยเหลือในกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มยากจน ผู้หญิงตั้งครรภ์ และเด็กปฐมวัย แต่จากผลการศึกษาบ่งชี้ว่าหากจะช่วยเหลือเด็ก 1 คน อาจต้องพิจารณาด้วยว่าเด็กมาจากครอบครัวที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวหย่าร้าง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากพ่อ-แม่เลี่ยงเดี่ยวสะสมทุนมนุษย์ได้น้อยลง
ขณะเดียวกันยังพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง จะมีการงานที่ดี และดูแลตนเองได้ หากสามีมีภรรยาอีกคน ก็จะสามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง รวมถึงช่วยชดเชยให้ลูกมีการศึกษาที่ดีได้
สำหรับการเลี้ยงดูลูกในไทย พ่อแม่ควรเปลี่ยนพฤติกรรมในเลี้ยงลูก เพราะจากผลศึกษาพบว่าพ่อแม่ใช้ความรุนแรงกับลูกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ โดย รศ.นพพล กล่าวว่า ตนอยากทำเรื่องการสอนพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งมีต้นแบบในหลายประเทศทั่วโลก อาจจะเริ่มจากครอบครัวในชนบท โดยฝึกให้รู้ว่าการตีลูกไม่ใช่ทางออกของการสร้างวินัยของเด็กเสมอไป
อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่ยังไม่เคยมีการศึกษาในไทย คือ การมีพี่น้อง โดยในต่างประเทศที่กำลังพัฒนาพบว่า พ่อแม่ที่มีฐานะยากจนจะมีแนวโน้มลงทุนมนุษย์ในลูกที่ฉลาดเท่านั้น ส่วนลูกที่เรียนไม่เก่งจะไม่ได้รับการศึกษา เพราะต้องเลือกว่าลูกคนไหนจะสามารถพาครอบครัวให้อยู่รอดได้
นอกจากนี้ไทยก็ยังไม่มีการศึกษาด้วยว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกเอง กับจ้างคนอื่นเลี้ยงดูลูก จะส่งผลอย่างไร ซึ่งในสหรัฐอเมริกาพบว่า การจ้างคนอื่นเลี้ยงดูจะทำให้ลูกเรียนเก่งน้อยลง ดังนั้นรัฐบาลควรจะต้องสร้างโอกาสให้ผู้หญิงสามารถทำงานและเลี้ยงดูลูกได้พร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ทุนมนุษย์ในไทยดีขึ้น