การทำประมงพาณิชย์ในประเทศไทย จะต้องมีใบอนุญาตการทำประมงพาณิชย์จากกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามกฎกระทรวงในเรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตทำประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562
โดยในกฎกระทรวงข้อ 5 กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องแสดง หรือแนบเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ และกฎกระทรวงข้อ 6 (9) ผู้ยื่นขอใบอนุญาตจะต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมง ตามมาตรา 98 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 (สร.3)
แต่ในความเป็นจริง มักจะมีเรือที่ไม่ได้รับอนุญาต จนไม่สามารถออกทำประมงได้ หรือได้รับอนุญาตแต่ไม่สามารถออกทำประมงได้ เนื่องจากสาเหตุบางอย่าง เช่น ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ไม่คุ้มทุนในการออกเรือ
เมื่อไม่มีการออกทำประมง เรือจึงขาดการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่จะได้รับหนังสือ สร.3 ซึ่งเป็นเอกสารรับรองความพร้อมของเรือที่จะต้องนำไปแนบเป็นหลักฐานการขออนุญาตทำประมงพาณิชย์ ทำให้ชาวประมงกลุ่มนี้ขาดกรรมสิทธิเข้าถึงทรัพยากร
จึงเห็นควรให้ตัดกฎกระทรวงข้อ 6 (9) และให้ปรับปรุงกฎหมายกฎกระทรวงการอนุญาตทำประมงพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับบริบทการทำประมงในปัจจุบัน
แก้ กม.ประมง รอบใหม่ เสี่ยงกระทบทรัพยากร-ค้ามนุษย์
แก้ไข พ.ร.ก.การประมง 2558 หวังฟื้นฟูอุตสาหกรรม
ในการประชุมวันที่ 19 มี.ค. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน จากนั้นให้กระทรวงเกษตรฯ รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว คือ
1.การยกเลิกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ.2562
2.กรณีผู้ขออนุญาตได้ยื่นคำขอตามเวลาที่กำหนดและไม่ได้รับใบอนุญาตทำประมง เนื่องจากผู้ขออนุญาต หรือเรือมีลักษณะต้องห้ามทำประมง และเวลาต่อมา เมื่อลักษณะต้องห้ามสิ้นสุดแล้ว ให้พิจารณาออกใบอนุญาตเพิ่มเติมได้ และให้เจ้าหน้าที่สามารถขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมและค่าอาการได้ไม่เกิน 90 วัน (เดิมไม่ได้กำหนดการขยายระยะเวลาการชำระ)
3.สามารถนำเรือประมงลำอื่นมาทดแทนได้ ในกรณีที่เรือลำเดิมที่ได้รับใบอนุญาตนั้น จม ไฟไหม้ จนเป็นเหตุให้เพิกถอนทะเบียนเรือไทย (เดิมกำหนดเฉพาะประมงชำรุดทรุดโทรม)
4.สามารถเพิ่มเครื่องมือทำประมง ภายหลังได้รับใบอนุญาตทำประมง โดยการขอเพิ่มนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด
5.เพิ่มการขอรับโอนใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ สามารถดำเนินการได้ในกรณีผู้รับใบอนุญาตที่เป็นเจ้าของเรือเดิมเสียชีวิต
6.ให้ลดเอกสารบางรายการที่หน่วยงานรัฐสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ระหว่างหน่วยงาม และที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาต เช่น หนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมง (สร.3) เพื่อลดภาระให้ชาวประมง
7.กรณีที่ไม่สามารถทำประมงในพื้นที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำประมง สามารถขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำประมงได้ โดยขนาดเรือและเครื่องมือต้องไม่มีผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่สามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่ผู้ขออนุญาตต้องการจะไปทำประมง และเป็นไปตามอธิบดีประกาศกำหนด