สำนักข่าวต่างประเทศ เทเลกราฟ รายงานว่า อุตสาหกรรมประมงของประเทศไทยกำลังเสี่ยงถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรปอีกครั้ง จากการที่ฝ่ายนิติบัญญัติของไทยกำลังร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งจะลดความเข้มงวดในการคุ้มครองแรงงานบนเรือประมงขนาดใหญ่
โดยโฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ให้สัมภาษณ์กับเทเลกราฟว่า สินค้าอาหารทะเลของไทยอาจถูกนำออกจากชั้นขายของในซูเปอร์มาร์เก็ตของประเทศตะวันตก หากยังเดินหน้าร่างกฎหมายลดการปกป้องแรงงานเรือประมง โดยใบเหลืองที่ไทยเคยได้รับครั้งแรกเมื่อปี 2558 หรือมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ อาจถูกนำมาใช้กับไทยได้
รายงานของ มูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (EJF) ระบุว่า ในปี 2555 ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับ 3 ของโลก มีมูลค่าราว 2.9 แสนล้านบาทต่อปี ต่อมาในปี 2564 ไทยตกลงมาอยู่ที่อันดับ 13 มีมูลค่าส่งออก 1.96 แสนล้านบาทต่อปี หรือลดลงกว่า 32% จากปี 2555
สาเหตุมาจากประชากรปลาที่ลดลง ผลจากการทำประมงเกินขนาดและผิดกฎหมาย รวมทั้งค่าน้ำมันสูงขึ้น และการกวดขันไม่ให้เรือไทยทำประมงในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น
นอกจากนี้ในรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายยังขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มีการทำประมงประเภททำลายล้าง และไม่ยั่งยืน รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอุตสาหกรรมประมงไทยที่มีภาพลักษณ์ที่ไม่สู้ดีนักในสายตาของประเทศที่นำเข้าอาหารทะเล โดยมองว่าอาหารทะเลของไทยขาดความโปร่งใส และเป็นไปได้สูงที่จะเกี่ยวพันกับปัญหาดังกล่าว
ในปี 2564 ประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลไทย 10 อันดับแรก มีสัดส่วนมูลค่า 75.9% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของไทย แม้ปัจจุบันประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปจะนำเข้าอาหารทะเลจากไทยเพียงสัดส่วน 5.6% แต่มูลค่าการส่งออกนั้นลดลงถึง 55.6% จากในปี 2557 หรือ 1 ปี ก่อนที่คณะกรรมมาธิการยุโรป จะให้ “ใบเหลือง” กับประเทศไทย
ขณะนั้นสหภาพยุโรปนำเข้าอาหารทะเลจากไทยในสัดส่วนกว่า 12.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และราคาส่งออกเฉลี่ยก็ยังสูงกว่าประเทศเทียบเคียง อาทิ จีน ออสเตรเลีย และแคนาดา
คณะกรรมมาธิการยุโรป ได้ปลด “ใบเหลือง” กับประเทศไทย ในปี 2562 หลังจากรัฐบาลไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มีการลงทุนและปฏิรูปที่สำคัญ
ทั้งนี้กฎหมายการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Regulation) ของสหภาพยุโรปกำหนดให้ประเทศที่เคยได้รับใบเหลืองสามารถได้นับใบเหลืองอีกครั้ง หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้ตามสัญญา
ดั้งนั้น EJF จึงมองว่าประเทศไทยควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกันการได้รับใบเหลืองอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ ของประเทศไทยหันมาให้ความสำคัฐกับความโปร่งใสและการสืบทวนย้อนกลับแหล่งที่มาของอาหารทะเลมากขึ้น
ข้อเสนอจากภาคธุรกิจประมงอาจทำให้ประเทศไทยเสี่ยงจะสูญเสียตลาดอาหารทะเลมูลค่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศคู่ค้า 6 ประเทศและสหภาพยุโรป ที่กำลังมีข้อบังคับด้านความโปร่งใส และการสืบทวนย้อนกลับแหล่งที่มาเพิ่มเติม ซึ่งในปี 2564 ไทยส่งออกอาหารไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวในสัดส่วนเกือบ 60%
ยังไม่นับว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจำกัดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานบังคับอย่างเข้มขี้น เช่น คำสั่งกักสินค้าของสำนักงานศุลกากรและป้องกันพรมแดนสหรัฐอเมริกา กฎหมายการใช้แรงงานบังคับของสหภาพยุโรปที่ใกล้ร่างแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม EJF ประเมินว่า อุตสาหกรรมประมงจะได้รับผลกระทบรุนแรง หากประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับการสืบทวนย้อนกลับแหล่งที่มาของอาหารทะเล ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ต่างหันมาสร้างมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น การที่ภาคประมงพาณิชย์เสนอให้ยกเลิกนโยบายฯ เป็นการกระทำที่ขาดวิสัยทัศน์เชิงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมในระยะยาว และจะสร้างประโยชน์ให้กลุ่มคนเพียง 20% ของอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด ชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งจะเสียเปรียบ ความเป็นอยู่ และความมั่นคงทางอาหารของผู้คนหลายพันรายจะตกอยู่ในความเสี่ยง
แถลงการณ์ของโฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป นับเป็นการโต้ตอบอย่างดุเดือดต่อท่าทีของรัฐบาลไทยที่อ้างมาตลอดว่าการแก้ไขกฎหมายประมงจะไม่กระทบกับการค้า หรือถ้าจะกระทบก็เพียงแค่ 6% ของการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมด โดยเพิกเฉยข้อเท็จจริงว่าขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป ซึ่งประมงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของร่าง FTA โดยรัฐบาลคาดว่าจะเจรจาเสร็จภายในปี 2568